"ผมรุ่นแก่มากแล้ว เจอรุ่นเด็กๆนักข่าว รุ่นแก่ๆ สมัยผมไม่เหลือแล้วมั้งครับ สมัยผมเข้าวงการ 51 ปี นักข่าวตอนนั้นก็ 20 กว่า" ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ซึ่งเคยครองอำนาจนายกรัฐมนตรีครบ 4 ปีเต็มเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ทักทายในช่วงปีใหม่ 2564 ผ่านวิดีโอคอลเพื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
เขาออกตัวก่อนให้สัมภาษณ์ว่า "จริงๆ ผมเคยป่วยโควิด และทำมาหากินกับโควิด ก็เอาวิชาการมาคุยกัน ไม่ต้องการจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะผมเป็นประชาชนหวังดีต่อประเทศชาติและห่วงใยประชาชน ถ้าถามอะไรที่เป็นความรู้ ยินดีให้ความรู้เต็มที่"
ในฐานะที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งในปี 2544 และปี 2548 ด้วยวัยย่างเข้าปีที่ 72 เขาวิเคราะห์ถึงการเมืองไทยในขณะนี้ว่า "ฝ่ายการเมืองต้องมีคุณภาพ ถ้าการเมืองดี คุณภาพของคนจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ถ้าการเมืองไม่ดี คนมีคุณภาพก็ถอยไป ไม่อยากเข้ามา การเมืองต้องแข็งแรง มีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ถ้าการเมืองไม่เป็นธรรม คนดีๆ ไม่กล้าเข้ามา คนที่ไม่มีอะไรจะเสีย ก็จะไม่กล้าเข้ามาเสี่ยง"
"สมัยผมเป็นนายกฯ ผมอ่านหนังสือ ผมพยายามพูดอยู่เรื่อย ถ้าใครคิดจะเปลี่ยนแปลง จะต้องเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนเข้าใจแล้วเดินไปด้วยกัน ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้ดีอย่างไร ประชาชนเขาคิดเป็น เขาเห็นด้วยเขาคล้อยตามได้ก็จะเดินด้วย แต่ว่าสั่งไม่ได้ โลกยุคใหม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คแข็งแรง ประชาชนเรียนรู้หลายทาง ทุกอย่างต้องเป็นความจริง อย่าโกหก อย่าเอาเรื่องไม่จริงมาพูด ทุกอย่างมีบันทึกหมด การรู้จริงพูดจริงจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ แล้วประชาชนพร้อมเดินตามถ้าเป็นอนาคต สิ่งที่ดีต่อเขา ธรรมชาติมนุษย์ต้องคิดถึงตัวเองก่อนอยู่แล้ว"
ดร.ทักษิณ อ่านการเมืองปี 2564 ว่า จะยังไม่ไปไหนจนกว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไขในวงกว้าง การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ การเมืองเปลี่ยนแปลงได้คือรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง โครงสร้างการบริหารการจัดการต้องเอื้ออำนวยให้เกิดคนมีคุณภาพเข้ามาทำหน้าที่บริหาร
"ถ้าเป็นระบบการเมืองอ่อนแอจะเป็นโควตา ในโควตานั้นจะมีคนคุมโควตาอีก เราไม่สามารถจัดการ สมัยพรรคไทยรักไทยชนะเยอะ เราเลือกคนได้เยอะขึ้น ทั้งที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ทำให้ได้คนมาบริหารจัดการได้ อันนี้อยู่การเมือง ไม่ใช่อยู่ที่ผม ผมไม่ได้เก่ง แต่เป็นจังหวะที่รัฐธรรมนูญแข็งแรง ก่อนอื่นต้องให้โครงสร้างกฎหมาย รัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ"
ในฐานะที่เคยแก้วิกฤตเศรษฐกิจปลดหนี้ไอเอ็มเอฟได้ เขาเสนอว่าต้องสร้างบรรยากาศเศรษฐกิจก่อนเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ให้เกิดการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจมากขึ้น มีกิจกรรมให้คนทำมาหากินได้ แล้วค่อยพัฒนาคุณภาพเศรษฐกิจ ต้องสร้างบรรยากาศก่อน ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ระยะยาวที่ต้องเริ่มต้นระบบการศึกษา ระบบเทคโนโลยีที่ต้องปรับปรุงโดยด่วน สุดท้ายทำทุกเรื่องด้วยความรู้เท่าทันทุนนิยมโลก รู้เท่าทันของการใช้เทคโนโลยีแย่งชิงผลประโยชน์ของประเทศโดยที่เราไม่รู้ตัว
ดร.ทักษิณ ระบุว่า คนเก่งคนดีจะเข้ามาเล่นการเมืองได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญเป็นหลัก แล้วรัฐธรรมนูญนั้นจะอยู่คงทนไหม เพราะรัฐธรรมนูญเราเปลี่ยนบ่อยกว่ากฎหมายธรรมดา ดังนั้น ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ดีและแข็งแรง ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญเรื่อยๆ ส่วนตัวคิดว่าการเมืองจะแข็งแรง
อดีตนายกรัฐมนตรีเสนอว่าให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ ถ้ายึดฉบับปี 40 เป็นหลัก แล้วปรับปรุงจากปี 2540 จะง่ายขึ้นและเร็วขึ้น แต่บางทีเป็นธรรมชาติมนุษย์ ถ้าได้เปรียบอยู่แล้ว ไม่ยอมปล่อยความได้เปรียบนั้นหายไปเพื่อรักษาความได้เปรียบไว้ต่อ รัฐธรรมนูญก็เลยเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง แต่ถ้าคิดว่าทำรัฐธรรมนูญเพื่อประเทศเรา ระยะยาว เพื่ออนาคตลูกหลานเรา
"ถ้ายังมีความขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ เด็กมองไม่เห็นอนาคต วันนี้ไม่สามารถปกปิดได้ว่า มึงอย่ารู้เรื่องนี้สิวะ ไม่ได้หรอก เขารู้หมด เขาสามารถรู้ประวัติศาสตร์ รู้อนาคต รู้ปัจจุบัน จากการเข้ากูเกิล และอินเทอร์เน็ต วันนี้ผู้ใหญ่วันนี้ต้องอยู่บนโลกความจริง อยู่บนโลกที่อนาคตจะเปลี่ยนไป ต้องเข้าใจอนาคตไปทางไหน อย่าอยู่โลกอดีตมากนัก อดีตเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่สิ่งที่หลงใหล เรียนรู้ได้ไม่ต้องหลงใหล"
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในรอบปีที่ผ่านมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ดร.ทักษิณ ระบุคนมารวมตัวกันสะท้อนความคิดเห็นเป็นสิ่งควรจะรับฟัง แต่อะไรทำได้ ไม่ได้ก็อธิบายกันไป เราบางทีก็ไม่ฟังเกินไป มันก็เกิดการต่อต้าน หรือฟังมากไปโดยที่ไม่มีเหตุมีผลก็ไม่ได้ ทุกอย่างมีเหตุมีผล ใครพูดอะไรลองมาฟังดู ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็อธิบายว่าไม่ถูกต้องที่เรียกร้องเช่นนี้มันไม่ได้
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ม็อบนั้น ดร.ทักษิณ ตอบทันทีว่า "มีอะไรคิดไม่ออก ก็ต้องคิดถึงผมไว้ก่อน 10 กว่าปีแล้วนะ ลำพังผมอยู่เมืองนอก ค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายสูง บินไปไหนมาก็หลายล้าน ก็ต้องทำมาหากินอยู่เมืองนอก ถามว่าผมได้อะไรขึ้นมาไม่มีหรอก บางครั้งคนเราก็ว่าไปเรื่อยเปื่อย มันไม่เกี่ยวกับผม ชีวิตผมอิสระ ใจยังรักประเทศ ห่วงใยประชาน ไม่อยากให้เขาลำบาก ยังเคารพสถาบันสูงสุดอยู่ตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนแปลง"
แนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองนั้น ดร.ทักษิณ บอกว่า "บ้านเรามองทุกอย่างการเมือง มองทุกอย่างเป็นการเมืองจริงๆ ใครอยากปล่อยข่าวอะไร เพื่อเกิดประโยชน์อะไรก็ปล่อยไป มันเป็นการเมืองไปหมด การเมืองเยอะไป การเมืองน้อยไป ถ้าการเมืองน้อยกว่านี้ การบ้านมากกว่านี้ประเทศจะดี การเมืองไปหมด แม้กระทั่งไปนั่งกินกาแฟตอนเช้าก็คุยแต่เรื่องการเมือง การเมืองเราเยอะ การบ้านมากหน่อย การเมืองน้อยหน่อย บ้านเมืองจะไปได้ดี"
เมื่อถามว่า คนในตระกูลชินวัตรยังมีผู้นำทางการเมืองหรือไม่ ดร.ทักษิณ ตอบว่า "พอก่อนครับ ต้องร้องเพลงเจ็บนี้อีกนาน" ถามว่า ได้คุยกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือไม่ว่าเมื่อไรพร้อมจะกลับมาประเทศไทย ดร.ทักษิณ ระบุว่า "พร้อม ไม่พร้อม ถามว่าคนเราออกไป อยากกลับประเทศไหม ผมอยากกลับมา ผมอยากมาเลี้ยงหลาน 3 คน กำลังจะได้คนที่ 4 เดินหน้า มีความรู้สึกอยากเลี้ยงหลานแล้วแก่แล้ว ไม่ได้คิดอะไรมาก ใครอยากขอคำปรึกษาขอคำแนะนำ ผมมันเป็นอาจารย์เก่า ชอบอธิบาย ชอบสอนคนอยู่แล้ว ทำหน้าที่พวกนี้ได้ การเมืองนั้นแก่แล้ว วัย 72 แล้ว จะไปนั่งเล่นการเมืองอะไรอีก มีแต่ห่วงบ้านเมืองเท่านั้น จะกลับเมืองไทยเมื่อไรนั้น มันไม่ใช่ผมเป็นคนกำหนดครับ"
เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่อดีตนายกฯผู้นี้ใช้ชีวิตในต่างแดน ตอบอย่างทันทีหากได้กลับมายังแผ่นดินเกิดว่า "แน่นอนครับ อยากเลี้ยงหลาน วัยนี้เป็นวัยที่รักลูกหวงหลาน"
อดีตนายกรัฐมนตรีที่พำนักอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดใจในวันที่เข้าสู่ศักราชใหม่ และยังเป็นปีนักษัตรของเขา คือ ปีฉลู ซึ่งจะมีอายุครบ 72 ปีในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง