ไม่พบผลการค้นหา
รัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนสแลนด์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว หลังลุกไหม้รุนแรงมาตั้งแต่วันศุกร์

ไฟป่ายังคงลุกไหม้อย่างต่อเนื่องทางตะวันออกของประเทศออสเตรเลียตั้งแต่วันศุกร์ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย และมีผู้อพยพออกจากพื้นที่หลายพันคนเพื่อหนีจากสภาพอากาศที่เป็นอันตราย รัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน โดยจะมีผล 7 วัน พร้อมสั่งหยุดโรงเรียน 578 แห่ง ทางด้านรัฐควีนสแลนด์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกันใน 11 พฤศจิกายน

ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ไฟได้ลุกลามครอบคลุมพื้นที่ราว 9,700 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะมีการปะทุเพิ่มอีก 120 จุด ขณะนี้มีบ้านเรือนถูกทำลายไปแล้วกว่า 150 หลัง ขณะที่รัฐควีนสแลนด์ถูกทำลายไป 9 หลัง 

ซู แอชตัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโคอาลาแห่งพอร์ตแมคควอรี คาดว่ามีโคอาลาราว 350 ตัวเสียชีวิตในกองเพลิง และขณะนี้กำลังให้การรักษาโคอาลาอยู่อย่างน้อย 12 ตัว

นักดับเพลิงหลายพันรายถูกส่งเข้าคุมสถานการณ์ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสแตนด์บายเพื่อช่วยอพยพคนที่ติดอยู่ในดงไฟ ตัวแทนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานดับเพลิงชนบท หรืออาร์เอฟเอส (Rural Fire Service: RFS) กล่าวว่าอุณหภูมิที่สูงทะลุ 30 องศาเซลเซียส และแรงลมที่พัดด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจทำให้เปลวเพลิงลามไปไกลได้สูงสุด 30 กิโลเมตร ทางสำนักงานดับเพลิงยังได้ประกาศเตือนไฟป่าในครั้งนี้เป็นภัยพิบัติแล้ว

ร็อบ โรเจอร์ส รองผู้บัญชาการสำนักงานดับเพลิงชนบท กล่าวว่าสถานการณ์ไฟป่าในครั้งนี้เลยร้ายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประสบการณ์ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงมา 40 ปี พร้อมชี้ว่าฟ้าผ่า ความมักง่าย และการวางเพลิงเป็น 3 สาเหตุหลักที่อาจทำให้เกิดไฟป่า

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีส่วนทำให้ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้น

ทางด้านไมเคิล แมคคอร์แม็ก รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติ (National Party) พรรคอนุรักษ์นิยมของออสเตรเลีย ตราหน้าผู้ที่ยกประเด็นเรื่องการเปลี่ยนของภูมิอากาศมาพูดในช่วงที่วิกฤตไฟป่ายังดำเนินอยู่นี้เป็นพวกบ้าที่อาศัยอยู่แต่ในเขตเมือง

"เราไม่ต้องการให้ เรื่องเพ้อเจ้อของพวกนักอนุรักษ์ในเขตเมืองที่ตื่นตัวตื่นรู้ไร้มลธิน ขณะที่คนอื่นเขาพยายจะรักษาบ้านไว้" เขากล่าว

สำนักข่าวเอเอฟพีชี้ว่าไฟบางส่วนได้ลุกไหม้มาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมแล้ว อากาศแห้งทำลายความชุ่มชื้นในผิวดินและพรรณพืชไป สร้างสภาวะที่เหมาะแก่การปะทุของไฟป่า

พอล รี๊ด ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่าไฟป่าทีเ่กิดขึ้นคราวนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ และจะย่ำแย่ลงอีกเนื่องจากใกล้จะถึงฤดูร้อนแล้ว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์)

เขายังได้เตือนอีกว่านอกจากอันตรายโดยตรงจากไฟแล้ว ยังมีอันตรายจากความจากควันไฟอีกด้วย

"ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) สูงกว่า 300 เป็นอันตรายต่อทุกคน ไม่เพียงแต่กับกลุ่มเปราะบางเท่านั้น" รี๊ดกล่าวพร้อมเสริมว่าในหลายพื้นที่ได้ทะลุระดับนั้นไปแล้ว รวมถึงซิดนีย์ด้วย

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าควันไฟลอยไปไกลกว่า 4,000 กิโลเมตร ผ่านทะเลแทสมันไปถึงเกาะทางตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์

ที่มา: Independent / SMH / BBC / CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: