ไม่พบผลการค้นหา
ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแต่ระบอบการปกครอง แต่หมายรวมถึงวัฒนธรรมของประชาชนด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในประเทศซึ่งพัฒนาการประชาธิปไตยผลิดอกออกผลแล้ว จะรังเกียจวัฒนธรรมของระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เกาหลีใต้เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผ่านอุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตยมามากมายเช่นกัน จนตอนนี้เรียกได้ว่า 'ประชาธิปไตย' ได้ฝังรากลงลึกลงในไปจิตสำนึกของคนในประเทศแล้ว

สร้างบ้านแปงเมือง: เกาหลีใต้จากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนเกาหลีใต้จะถูกจดจำในทุกวันนี้ในฐานะชาติประชาธิปไตยอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามในคาบสมุทรมาก่อน และคล้ายกันกับไทยตรงที่รัฐบาลเกาหลีใต้ในทศวรรษที่ 1950 ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จากทั้งเกาหลีเหนือและจีน

แต่ถึงจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เกาหลีใต้กลับมองว่าการพึ่งพาการเกษตรภายในคงจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเริ่มหันไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมของชาติแทน ผ่านการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

ปัจจัยในการสร้างรัฐชาติของเกาหลีใต้ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมถึงเป้าหมายการข้ามให้พ้นญี่ปุ่น อดีตศัตรูในช่วงสงครามที่มีการพัฒนาทางระบบเศรษฐกิจรุดหน้าเกินกว่าเกาหลีใต้ไปไกล ภัยคุกคามเหล่านี้ขับดันให้ผู้นำของเกาหลีใต้มีแนวโน้มในการรวมอำนาจเข้าสู่รัฐศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะมีอัตราการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุดหน้ามากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศแห่งนี้กลับเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

สู่หนทางของการเป็นรัฐเผด็จการ

รัฐบาลชุดแรกของเกาหลีใต้อยู่ภายใต้การนำของ รี ซึงมัน ประธานาธิบดีผู้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างคำโบราณที่ว่าไว้ว่าอำนาจมักหอมหวนเสมอ รีพยายามผลักดันกฎหมายเอื้อให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ได้ตลอดชีวิต แต่ด้วยการประท้วงจากภาคประชาชนอย่างหนัก รีถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่ตำรวจมีการยิงปืนใส่ประชาชน

ระบอบอำนาจนิยมในเกาหลีใต้ไม่ได้จบลงเพียงเมื่อประธานาธิบดีรีลาออก ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของเกาหลีใต้ เริ่มขึ้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 1961 หลัง พัค จองฮี นำคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลชุดเดิม เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พัคได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1963 เขาขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ภายใต้คำขวัญการพัฒนาชาติว่า “ทำให้ปิตุภูมิทันสมัย”

000_Par7423809.jpg

รัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้น ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ภายใต้นโยบายการเติบโตอย่างแบ่งปัน (Shared Growth) ผ่านการปฏิรูประบบที่ดิน ซึ่งยังผลให้กลุ่มอำนาจเก่าในเกาหลีใต้ถูกลดทอนอิทธิพลลง แต่มันกลับทำให้รัฐบาลของเกาหลีใต้เพิ่มอำนาจให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับการกดขี่แรงงาน และจำกัดสิทธิประชาชน

คลื่นใต้น้ำของการกดขี่: การลุกฮือของประชาชนและแรงงาน

ตลอดการปกครองของประธานาธิบดีพัค เศรษฐกิจของเกาหลีใต้พัฒนาอย่างมากในทศวรรษที่ 1960-1970 แต่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมผ่านลัทธิทุนนิยม กลับเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและประชาชนที่โอนอ่อนผ่อนตามต่อระบบเผด็จการเท่านั้น จึงเกิดการลุกขึ้นประท้วงขับไล่รัฐบาลจากประชาชน เยาวชน และแรงงานผู้ถูกกดขี่อยู่เรื่อยมา โชคไม่ดีนัก เพราะระหว่างการประท้วงของนักศึกษา พัคถูกลอบสังหารในวันที่ 26 ตุลาคม 1979

การประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนและแรงงานเกาหลีใต้ ระเบิดออกมาอีกหนที่กวางจู เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 1980 หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้นประกาศกฎอัยการศึก ประชาชน นักศึกษา และแรงงาน ต่างผนึกกำลังในการขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยมตลอดระยะเวลาครึ่งทศวรรษ จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยในปี 1987 จนจุดจบของระบอบเผด็จการที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชน

การประท้วงของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุ เพราะระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการ ได้ส่งผลให้ชนชั้นกลางของเกาหลีใต้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเฉลี่ยร้อยละ 9 ตลอดปี 1962 - 1987 การขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ กลับตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ และความไม่พอใจต่อนโยบายทางด้านการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งริดลอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน นักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มศาสนา รวมถึงความขัดแย้งกันเองในชนชั้นนำของเกาหลีใต้ ยังผลให้ประเทศเผด็จการอุตสาหกรรมเกิดใหม่แห่งนี้ต้องปฏิรูปตนเองเข้าสู่ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในท้ายที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สู่หนทางแห่งระบอบประชาธิปไตย

นักวิชาการเสนอว่า เกาหลีใต้จำต้องปฏิรูปตนเองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่าชนชั้นนำของประเทศทั้งในรัฐบาลและฝ่ายค้านเองมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ทั้งในด้านการจัดสรรอำนาจ ตลอดจนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูเมื่อปี 1980 กลับเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มันอาจจะหลีกเลี่ยงได้ มีรายงานว่า ประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 165 ราย บาดเจ็บ 3,515 ราย และถูกจับกุมตัวกว่า 1,394 ราย

000_APH2000051712820.jpg

นอกจากความขัดแย้งของชนชั้นนำเองแล้ว ความไม่พอใจของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อำนาจของรัฐบาลอำนาจนิยมถูกสั่นคลอนไปเรื่อยๆ รัฐบาลชุดใหม่ของเกาหลีใต้ตัดสินใจยอมปฏิรูปประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกาหลีใต้มีระบอบการปกครองกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา

การประท้วงของเกาหลีใต้ไม่ได้จบลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1987 เพราะการประท้วงได้กลายเป็นรากฐานของคนเกาหลีไปแล้ว พร้อมๆ กับระบอบประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานในดินแดนโสมขาว

จากระบอบสู่วิถีชีวิต: การต่อต้านเผด็จการในฐานะจิตสำนึก

มันแทบจะเป็นเรื่องปกติที่คุณจะเห็นการประท้วงเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ การประท้วงครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด คือการขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดี พัค กึนฮเย บุตรสาวของ พัค จองฮี ในข้อหาการทุจริตระหว่างปี 2016-2017 จน พัค ผู้ลูกต้องลาออกจากตำแหน่ง ปัจจุบันนี้ พัคถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริตจริง และเธอกำลังถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ปี 2018 ด้วยโทษจำคุก 25 ปี

CLIP Tonight Thailand : ศาลรธน.เกาหลีใต้ถอดพักกึนเฮพ้น ปธน.

ประชาชนชาวเกาหลีใต้ไม่ได้แสดงออกเพียงแค่ประท้วงบนท้องถนนเท่านั้น ความตื่นตัวของประชาชนคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ต่อการเลือกตั้งเองก็มีอยู่ไม่น้อย จากรายงานในปี 2020 พบว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงอายุ 18-29 ปีคิดเป็น 18.1% ต่างจากคนในช่วงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่คิดเป็น 6.7% เท่านั้น

คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มีความตื่นตัวในด้านการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะบนพื้นที่ออนไลน์ Carnegie Endowment for International Peace ระบุว่า คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมบนโซเชียลมีเดีย จากทั้งประเด็นการเข้าถึงระบบการศึกษา โอกาสในการหางาน รวมถึงการที่เสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกสะท้อนในรัฐสภาของเกาหลีใต้เท่าที่ควร

เมื่อวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้สอดประสานเข้ากับวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้แล้ว จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่แปลกมากนักหากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่แฝงกลายเข้ามา จะกลายเป็นความแปลกแยกที่ไม่ลงรอยกับสังคมเกาหลีใต้ เพราะการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมเดินหน้าไปได้ด้วยระบอบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่เว้นแม้แต่วัฒนธรรมของมวลชน


ที่มา :