ไม่พบผลการค้นหา
สภานักศึกษา มธ. และ คกก.จัดงานระลึก 6 ตุลา มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แด่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ กฤษฎางค์ นุตจรัส ยันงานรำลึก 6 ตุลา ปีนี้ต้องเกิดขึ้น ชี้เป็นตราบาปของธรรมศาสตร์ หากปฎิเสธการจัดงาน

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่่าพระจันทร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการจัดงานระลึก 6 ตุลา มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แด่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) โดยมีสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาเป็นผู้รับมอบรางวัลและอ่านคำสุนทรพจน์แทนโดยมีเนื้อหาดังนี้

สุนทรพจน์จากเรือนจำ

กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ในวันนี้ผมรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ ประจำปี 2564 เพราะจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ นอกจากจะเป็นรุ่นพี่นักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผมแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้กระทำการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด นั่นคือการเสียสละชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงได้มีการก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ที่เสียสละ เพื่อประชาธิปไตยเช่นจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ แต่เกียรติภูมิของผมหากจะมีอยู่ ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับของจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ และวีรชนเดือนตุลาคนอื่น ๆ ได้ การรับรางวัลในวันนี้จึงถือว่าเป็นเกียรติอันใหญ่หลวงและก็เป็นความน่าหดห่ขูองสังคมนี้ด้วย เพราะการที่เรายังต้องแจกรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธ์ุนี้อยู่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จารุพงษ์ ทองสินธ์ุและเพื่อนพ้องมิตรสหายจะได้เสียสละจนจากเราไปมากกว่า 45 ปีแล้ว ประเทศนี้ยังคงต้องมีคนเจ็บปวด เสียสละเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูกทำร้ายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างกับในยุคสมัยของจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ

ท่านที่เคารพ ในระหว่างการรับรางวัลนี้ ผมยังถูกจับกุมคุมขังด้วยเหตุแห่งการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตย ซึ่งผมเชื่อว่าประสบการณ์อันขมขื่นนี้ เพื่อนร่วมรุ่นของจารุพงษ์หลายท่านอาจได้เคยสัมผัส นี่อาจเป็นการเสียสละอิสรภาพเพื่ออดุมการณ์ แต่ในอีกด้าน มันคือความโหดร้ายของรัฐไทย ที่จับเอาคนไปจองจำในคุกอันคับแคบ เพียงเพราะเขาเหล่านั้นคิดและเชื่อแตกต่างจากที่รัฐสั่ง นอกจากนี้การคุมขังคนธรรมดาที่แค่มีความพูด ความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง ยังเป็นอาการที่สะท้อนว่าประชาธิปไตยของประเทศเรากำลังติดเชื้อโรคเผด็จการแทรกซ้อนจนอ่อนแอ และเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เปราะบางกระทั่งไม่อาจจะอดทนต่อคนที่พูดความจริง จึงต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงไพร่ ทาส จำเลย คนพูดความจริงที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้มีมาในหลายยุค หลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, ครูครอง จันดาวงศ์,กลุ่มนักศึกษา 6 ตุลา กระทั่งดารณี ชาญเชิงศิลปกุล และสมยศ พฤกษาเกษมสุขไป จนถึงใครหลายคนที่ตอนนี้ยังต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนั้นอยู่ รวมถึงตัวผมเอง เช่นนี้เองจึงเป็นเหตุให้ในขณะนี้เพื่อนพ้องคนรุ่นใหม่และพี่น้องคนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่คาดว่าประชาธิปไตยนั้นก็ก่อเกิดมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วหากแต่ว่านับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา เรามีแค่ประชาธิปไตยที่ถูกขังกรงล่ามโซ่ไว้ ยังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพสักที

ประชาธิปไตยที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มานี้ แม้จะปรากฏในหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบต่างมี รูปลักษณ์และข้อเด่นข้อด้อยแต่ละด้านแตกต่างกัน แต่เสน่ห์ของประชาธิปไตยไม่ว่าจะรูปแบบใดที่มีร่วมกันคือ การยอมรับและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นของคนอื่น นานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย มองคนเท่ากัน ล้วนต้องเชิดชูบูชาเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม กระทั่งเสรีภาพในการต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติมากกว่าสิ่งอื่นใด หรือใคร เพราะโดยเนื้อแท้แล้วประชาธิปไตยเป็นกลไกที่ออกแบบไว้ให้กลุ่มความคิดเห็นและกลุ่มพลังต่าง ๆ ได้เชือดเฉือนขัดแย้งกัน โดยไม่ใช้ความรุนแรง หากเปรียบเทียบก็คือสังเวียนมวยที่ให้ทุกคนขึ้นชกชิงชัยชนะกันได้โดยให้ทุกคนใส่นวมและสวมอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย หลักการใส่นวมต่อยกันนี้ทำให้ประชาชนในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายต้องสามารถออกมาชุมนุมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นทรราชได้ โดยไม่บาดเจ็บล้มตาย รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้มีอานาจและสถาบันต่าง ๆ ได้ โดยมิต้องหวั่นเกรงกฎหมายอาญามาตราใด เพราะประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า การใช้กำลังกฎหมายและอำนาจเถื่อนปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่าง จะเป็นการก่อไฟความคับแค้นสุมไว้ในใจผู้ถูกกระทำ จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้น ดังที่ประเทศไทยเผชิญมาในรอบสิบปีนี้หากเราใฝ่ฝันถึงแผ่นดินไทยที่สงบ ร่มเย็น และปราศจากความรุนแรงทางการเมือง เราจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิ เสรีภาพทางความคิดของทุกคน ทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการปลดปล่อยผู้ที่ถูกจองจำด้วยเหตุแห่งความคิด เยียวยาผู้ที่ถูกกระทำโดยอำนาจเถื่อน รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการแคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนทุกฉบับ ทุกมาตราเพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมความสมานฉันท์และประชาธิปไตยได้ต่อไป

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธ์ุ ในวันนี้จะช่วยส่งแรงให้ประเทศไทยไม่ต้องมีจารุพงศ์ ทองสินธุ์ คนอื่นคนใดขึ้นมาอีก

วันที่ 43 ของการถูกจองจำครั้งที่ 3

พริษฐ์ ชิวารักษ์

เรือนจำอำเภอธัญบุรี

กฤษฎางค์ นุตจรัส.jpg

ขณะที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์ปาฐกของงาน 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ทางคณะกรรมการจัดงานรำลึก 6 ตุลา ได้พูดคุยกันแล้วว่า ในวันที่ 6 ต.ค. 2564 จะมีการจัดงานในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณลานประติมาประวัติศาสตร์ โดยจากนั้นจะพยายามเข้าไปพูดคุยกับผู้อำนาจของธรรมศาสตร์ ว่า "เราจัดแน่"

"มาถึงวินาทีนี้ มหาวิทยาลัยปฏิเสธไม่ให้จัดงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ให้จัดเป็นงานทางออนไลน์แทน ผมไม่ทราบคนอื่นคิดอย่างไร แต่ตัวผมไม่เห็นด้วย ผมจึงประท้วงด้วยการไม่อัดเทปกล่าวปาฐกถาในวันนี้ เพราะว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นตราบบาป ไม่ใช่ตราบาปของผู้บริหาร แต่เป็นตราบาปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานรำลึก 6 ตุลา เราจะมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน เราจัดทุกปี"

"ใครที่อยากจะรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ในสถานที่จริง เราเจอกันแน่นอน สถานการณ์ในตอนนี้จะมีโควิดหรือไม่ก็ตาม แต่เผด็จการยังอยู่ เจตรมณ์ของวีรชนยังไม่สำเร็จ และมีหลายสิ่งที่ประชาชนจะต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา คนผิดก็ยังไม่ได้รับโทษ ฉะนั้นเรายังคงต้องจัดงานกันต่อไป จนกว่าคณะกรรมการจัดงานจะไม่อยู่ให้จัด"