ไม่พบผลการค้นหา
ไฟเซอร์เริ่มทดสอบยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 กับ 'มนุษย์' บนความคาดหวังว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางรอดของผู้คนทั้งโลก หากสำเร็จจะวางจำหน่ายได้ในปีนี้

ไฟเซอร์ เริ่มทำการทดสอบการให้ 'ยาเม็ด' ที่ถูกพัฒนามาเพื่อการรักษาโรค SARS-CoV-2 หรือ โควิด-19 โดยเฉพาะ กับอาสาสมัครที่อยู่ในสหรัฐฯ และเบลเยียมแล้ว โดยอาสาสมัครกลุ่มนี้มีทั้งหมด 60 คน เป็นบุคคลที่มีสุขภาพดี อายุระหว่าง 18-60 ปี โดยหากการทดสอบประสบความสำเร็จ คาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายได้ภายในสิ้นปีนี้

ยาเม็ดชนิดนี้คือยาต้านไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้โค้ดเนมว่า PF 07321332 ลักษณะการทำงานคือจะเข้าไปทำลายตัวโปรตีนหนามแหลม หรือ Spine ของเชื้อไวรัสที่ใช้ในการเกาะติดและขยายจำนวนที่บริเวณอวัยวะภายในของมนุษย์อย่างโพรงจมูก ลำคอ และปอด ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะการทำลายสารโปรตีนเช่นเดียวกับตัวยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ HIV ในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกอย่าง Ritonavir ผู้เชี่ยวชาญหวังว่าตัวยาจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ


การคิดค้นเกิดจากนักวัจัย 210 คน

ดาฟีดด์ โอเวน ผู้อำนวยการด้านเคมีชีวภัณฑ์ของบริษัทไฟเซอร์กล่าวกับที่ประชุมแผนกเคมีเวชภัณฑ์เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การทดลองเพื่อคิดค้นตัวยาชนิดนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของนักวิจัย 210 คน ที่เริ่มต้นการศึกษาจากศูนย์ ระหว่างการระบาดของโควิด-19

ตัวยา 7 มิลลิกรัมแรก ซึ่งมีปริมาณเทียบเท่า 'เม็ดฝน' เท่านั้น สามารถผลิตได้ในเดือน ก.ค. 2563 และในเดือน ต.ค. นักวิจัยสามารถผลิตเพิ่มได้เป็น 100 กรัม และตัวยาปริมาณมากกว่า 1 กิโลกรัม ก็สามารถผลิตออกมาได้หลังจากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ 


ครั้งแรกกับการทดสอบใน 'มนุษย์'

เอกสารรายละเอียดของงานวิจัยระบุว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทดลองตัวยานี้ในมนุษย์มาก่อน ความปลอดภัยของตัวยาเป็นการทดลองในสัตว์เท่านั้น ซึ่งผลชี้ว่าไม่มีความเสี่ยงหรือความน่ากังวลใดเกิดขึ้นระหว่างการทดลอง และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้นในการทดลองที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการให้ยาในปริมาณเท่าใด ซึ่งจะนำไปสู่การทดลองในมนุษย์ 

กลุ่มอาสาสมัครทั้ง 60 คนกำลังเริ่มต้นกระบวนการเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยที่จริงจังซึ่งจะกินเวลาหลายเดือน และจะต้องมีการนอนค้างคืนที่อาคารที่ใช้ทำการวิจัยบ้างเป็นบางครั้ง โดยการทดสอบนี้แบ่งออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน ใช้เวลาทั้งสิ้น 145 วันกับอีก 28 วันสำหรับการตรวจสอบและการเพิ่มปริมาณยา 

เฟสที่ 1 จะเน้นศึกษาความทนทานของตัวยาเมื่อมีการเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ อาจมีการทดสอบร่วมกับการให้ยา Ritonavir ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อไวรัส HIV ที่อยู่ในกลุ่ม Protease inhibitors (PIs) และจะเน้นการศึกษาความรู้สึกของอาสาสมัครหลังการรับยา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

เฟสที่ 2 จะทดสอบเหมือนเฟสแรก แต่จะมีการเพิ่มปริมาณยาขึ้น

เฟสที่ 3 จะมีการทดสอบการให้ยาในรูปแบบ 'เม็ด' และแบบ 'น้ำ' โดยจะทดสอบร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีการกำหนดอย่างชัดเจน เช่น อาหารไขมันสูง อันจะประกอบไปด้วย "ไข่สองฟองทอดด้วยเนย เบคอนสองชิ้น ขนมปังปิ้งทาเนยสองชิ้น มันฝรั่งแฮชบราวน์ 4 ออนซ์ นมสดแบบไม่พร่องมันเนย 8 ออนซ์" โดยต้องรับประทานในเวลา 20 นาที เป็นต้น

ทางไฟเซอร์ย้ำว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบมาด้วยความสมัครใจ โดยต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพอย่างจริงใจ หากมีการปิดบังข้อมูลด้านสุขภาพต่อทีมนักวิจัย อาจเกิดผลร้ายกับสุขภาพระหว่างการทดลอง

โจ้ ชลวิศว์ วงศ์ศรีวอ
พิธีกร - ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
39Article
1Video
3Blog