พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562” โดยเป็นงานครั้งแรก ที่มาพร้อมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากากระทรวงมหาดไทย หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 1 เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.) โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีวันนี้จะนัดพูดคุยหารือการแต่งตั้ง ครม. กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย หลังวานนี้ได้ข้อยุติโค้วต้าพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว และมีรายงานข่าวด้วยว่าพลเอกประยุทธ์ จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย เพราะพลเอกประวิตร มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำชับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช.เท่านั้น ขณะที่พลเอกประวิตร บอกกับผู้สื่อข่าว ว่ายังไม่ทราบข่าวดังกล่าว
โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง ทุกคนต้องช่วยกัน ตนในฐานะนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบแทนทุกคนอยู่แล้ว พร้อมขออย่านำเรื่องน้ำท่วมมาเป็นกระแสเรื่องการเมือง และขอฝากรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมารับผิดชอบ จะสานงานต่อ ขณะเดียวฝากสื่อมวลชนอย่ามองว่าเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นเรื่องง่าย ให้นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อสร้างการรับรู้ ซึ่งวันนี้ตนต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกียรติทำงานร่วมกันมาตลอด 5 ปี ยอมรับ 5 ปีที่ผ่านมา ใจร้อน เพราะอยากทำทุกเรื่องให้ได้ผลโดยเร็ว เพราะตนอยู่ได้เพราะใจ และความศรัทธา เพื่อพี่น้องประชาชน แต่ทุกอย่างไม่ง่าย ทั้งเรื่องความขัดแย้ง วันนี้หากตนไม่อ่านทุกอย่างก็โง่ ถ้าเชื่อโซเซียลทุกอย่างก็บ้า
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในปีนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านน้ำร่วมงานกว่า 40 หน่วยงานได้มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว รวมทั้ง จำลองและสาธิต การปฏิบัติการจริงของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แต่ละหน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่แจ้งไปยังประชาชน ได้รับทราบถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา เพื่อปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ซึ่งรัฐบาล ได้มีการบูรณาการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเพาะปลูกให้ชัดเจนทั้งในและนอกเขตชลประทานได้มีการปรับปรุง Rule Curve ใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั่วประเทศ รวมถึง สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันอุทกภัยพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก สำหรับเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบการระบายน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เตรียมความพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าพร้อมแนวทางการปฏิบัติ เพื่อบริหารจัดการน้ำในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤติ มี 3 ศูนย์ปฎิบัติการ ได้แก่
1. ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติของ สทนช. เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำ ระดับที่ 1 ระดับสีเขียว
2. ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะเริ่มปฏิบัติงาน เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าร้อยละ 60 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบนของ Rule Curve คือ อยู่ในเกณฑ์ระดับที่ 2/3 หรือ ระดับสีเหลือง/ส้ม ซึ่งคาดว่าศูนย์ฯ จะเริ่มปฏิบัติงานช่วงกลางเดือนกรกฏาคมนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย
3. ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เมื่อเข้าสู่ระดับ 4 ระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด มีผลกระทบในวงกว้าง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่รับผลกระทบไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ที่กำกับดูแลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย