ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ แนะยุบ ป.ป.ช. ทิ้ง หลังบอก การยืมนาฬิกาหรูเพื่อน ไม่ต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน ชี้เปิดช่องทุจริต สร้างบรรทัดฐานทำลายองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น (ป.ป.ช.) ชี้แจงในการประชุมสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใหม่ถึงกรณีการยืมทรัพย์สินมีค่าเช่นนาฬิกาของเพื่อนว่าไม่จำเป็นต้องชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินต่อป.ป.ช. ว่า ถ้าตีความตามคำพูดของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ต่อไปนี้การยืมทรัพย์สินมีค่าเช่นนาฬิกาหรูหรือรถหรูของเพื่อนมาใช้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็ถือว่าไม่ผิด 

ปัญหามีอยู่ว่าปัจจุบัน ป.ป.ช. มีหน้าที่หลัก 2 หน้าที่คือ 1.การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน

2.การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินของข้าราชการและนักการเมืองว่ามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเดิมการตรวจสอบคดีทุจริตมักร้องที่ ป.ป.ช.แต่ภายหลังมีศาลอาญาคดีทุจริตขึ้นมาแล้วส่วนใหญ่ก็ไปร้องคดีทุจริตที่ศาลอาญาคดีทุจริต

อีกทั้งช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การทำคดีตรวจสอบทุจริตคอรัปชันของ ป.ป.ช.ล่าช้ามากและต่ำกว่ามาตรฐานที่ชุดอื่นทำไว้ จึงมีข้อเสนอว่าต่อไปนี้ในคดีทุจริตควรส่งให้ศาลอาญาทุจริตดูแลรับผิดชอบหรือไม่ โดยต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนสามารถร้องต่อศาลคดีทุจริตได้ โดยต้องแก้นิยามคำว่า "ผู้เสียหาย" ให้มีความหมายกว้างขวางมากขึ้นเพื่อที่จะให้ประชาชนสามารถมีสิทธิฟ้องร้องในคดีทุจริตนั้นๆ ได้ 

นายวิลาศ กล่าวต่อว่า หลังเจอคำตอบของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กรณีการยืมทรัพย์สินมีค่าของเพื่อน ไม่ต้องยื่นชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ก็จบเลย เพราะต่อไปนี้ ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินของใครได้ หากบุคคลนั้น อ้างว่าทรัพย์สินที่ตรวจพบเป็นการยืมเพื่อนมาก็เท่ากับตั้งบรรทัดฐานไว้แล้วในที่สุดก็ตรวจสอบเอาผิดใครไม่ได้ในเรื่องการใช้ช่องทางทุจริต หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมี ป.ป.ช.อีกต่อไป เพราะถือว่าไม่มีหน้าที่และไม่จำเป็นต้องตรวจสอบในเรื่องบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน

“หากเปรียบเทียบกับในอดีตกรณี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่พบว่ามีเงินงอกบัญชี 50 ล้านบาท แต่กลับถูกป.ป.ช.ชี้ว่ามีความผิดต้องเว้นวรรคทางการเมือง หากเปรียบกับกรณีนาฬิกาหรูรวมกันหลาย 10 เรือนมีมูลค่านับ100 ล้านบาท แต่ป.ป.ช. กับยื้อคดีแล้วบอกไม่ผิด ถือเป็นการตั้งบรรทัดฐานใหม่ที่มีผลในการทำลายองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอย่าง ป.ป.ช.ลงไปอย่างน่าเสียดาย 

"ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่จำเป็นต้องมี ป.ป.ช.อีกต่อไป เพราะนับย้อนไป 5- 10 ปีมานี้ ป.ป.ช.ไม่เคยตรวจสอบคดีใหญ่ใดๆ ได้เลย เช่นกรณีสินบนเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ การซื้อเครื่องบินของการบินไทย หรือกรณีซีทีเอ็กซ์ 9000 หรือแม้กระทั่งกรณีการซื้อเรือเหาะของกองทัพบก ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่กลับไม่สามารถใช้การได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องการันตีผลงานของป.ป.ช.ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ สำหรับผมเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้ก็ควรยุบองค์กรทิ้งเพื่อไม่ต้องเปลืองภาษีงบประมาณแผ่นดินอีกต่อไป" นายวิลาศกล่าว


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :