หลังๆ มานี้ สื่อมวลชนและคณะผู้บริหารประเทศ มีเรื่องดราม่ากันบ่อย ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงอาการไม่พอใจที่นักข่าวนั่ง “ไขว่ห้าง” ระหว่างรอสัมภาษณ์ พร้อมตำหนิว่า "เธอเอาขาลงไม่ได้เหรอ นั่งไขว่ห้างกับฉันเนี่ย เอาขาลงได้มั้ยเธอ ขาเธอ เท้าเธอ”
'วอยซ์' คุยกับ ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองเรื่องนี้ว่า ก่อนที่ท่านนายกฯ จะมาอบรมมารยาทใคร ขอแนะนำให้ท่านกลับไปดูตัวเองก่อน เพราะจากพฤติกรรมการพูด กิริยา ท่าทางที่ได้แสดงออกมาหลายครั้ง เหมือนจะไม่ค่อยมีมารยาทตามวัฒนธรรมสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิริยาที่แสดงออกต่อสื่อมวลชน
ดังนั้น จึงไม่ควรตำหนิสื่อมวลชนในเรื่องของการนั่งไขว่ห้าง เพราะการนั่งไขว่ห้างเป็นวัฒนธรรมสากล ไม่ถือว่าผิดมารยาท ไม่ว่าจะเป็น ชาวตะวันตก ชาวตะวันออก ต่างก็นั่งไขว่ห้าง ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดมารยาท
ดร.นันทนา ให้ 3 เหตุผลเพื่ออธิบายถึงการนั่งไขว่ห้างว่า ไม่ใช่เรื่องผิด 1.เป็นสิทธิส่วนบุคคล 2.ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร 3.นายกฯ ต่างหาก เป็นผู้นำประเทศควบคุมตัวเองระหว่างอยู่ต่อหน้าสื่อมวลชน
ดร.นันทนา กล่าวว่า ที่สำคัญของเรื่องนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ควรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้อื่น โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่จะต้องพบปะนายกรัฐมนตรีอยู่ตลอดเวลา เพราะจะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีไม่ค่อยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ
“อยากจะฉีดสเปรย์ใส่นักข่าวก็ทำ อยากจะเดินออกจากวงสัมภาษณ์ก็ทำ อยากพูดจาอะไรที่ไม่สุภาพก็ได้ เหล่านี้ขาดบุคลิกของผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่รู้จักกาลเทศะ”
ส่วนบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ดร.นันทนา เห็นว่า องค์กรสื่อควรออกแถลงการณ์ว่า กิริยาท่าทางของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการไม่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของสื่อมวลชน ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน หลายครั้งทำให้มองได้ว่า สื่อมวลชนจะต้องเป็นฝ่ายยอมรับในการกระทำเหล่านั้น
“องค์กรสื่อควรจะออกมาปกป้องผู้ปฎิบัติหน้าที่ ว่าไม่ควรที่จะมีการพูดจาด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของสื่อ แต่ที่แล้วมาดูเหมือนว่าองค์กรสื่อมวลชนจะไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของตัวเองเลย ขณะที่สื่อมวลชนเองบางส่วน กลับหัวเราะ ไม่ถือสา การกระทำของนายกฯ อ้างว่านายกฯก็เป็นแบบนี้ แต่นั่นเท่ากับการบอกว่านายกฯสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ถือเป็นการหยอกเย้า มีอารมณ์ขัน ทั้งที่จริง มันถือว่าเกินขอบเขตไปมาก เป็นการด้อยค่าความเป็นมนุษย”
นักสื่อสารการเมืองรายนี้ เปรียบเทียบการแสดงออกของนายกรัฐมนตรีไทยและผู้นำต่างประเทศว่า สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้นำจะไม่ออกมาพูดรายวันเหมือนนายกรัฐมนตรีไทย สิ่งสำคัญคือผู้นำเหล่านี้ จะไม่แสดงอาการเหวี่ยงใส่นักข่าว เพราะถ้าเขาทำอย่างนั้น สื่อมวลชนก็จะเล่นงานเขาทันที
นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบการทำหน้าที่ระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฉีดสเปย์แอลกอฮอล์ใส่นักข่าวไทย โดยผู้สื่อข่าวไทยจะไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องดังกล่าวนัก แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศกลับหยิบเรื่องนี้ไปนำเสนอข่าวใหญ่โต เพราะเห็นถึงความไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสื่อมวลชน
“เพราะผู้นำต่างประเทศเขาเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสื่อมวลชน แม้จะไม่ชอบในคำถาม แต่ก็พูดคุยกันดีๆไม่ใช่อารมณ์ ไม่ขว้างปาข้าวของ ไม่แสดงบุคลิกที่ไม่เหมาะสมออกไป ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล เพราะถ้าคิดว่าจะออกมายืนให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ ก็ต้องมีความอดทน มีวุฒิภาวะ”
ดร.นันทนา วิเคราะห์การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ในหลายวาระ สะท้อนฐานคิดที่ว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น คนอื่นด้อยกว่าตัวเอง เมื่อตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ตัวเองจะทำอะไรก็ได้ ดุด่าว่ากล่าวผู้ที่ด้อยกว่าได้
"เช่นการไปบอกให้นักข่าวไม่นั่งไขว่ห้าง ซึ่งถือเป็นการละเมิด นักข่าวสามารถตอบโต้ได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล สามารถกระทำได้ ถือเป็นมารยาทสากล ไม่จำเป็นต้องทำตาม แต่ฐานคิดของนายกฯ คือคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนที่อยู่รอบๆ ดังนั้นจะดุ ว่า บังคับให้ทำอะไรก็ย่อมเป็นไปได้ เพราะตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า ไม่ใช่ฐานคิดที่ว่าคนเท่ากัน"
ดร.นันทนา แนะนำว่า "พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับทัศนคติหรือฐานคิดว่าไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น ถ้าท่านไม่ได้คิดว่าท่านเหนือมนุษย์ ท่านก็ต้องเคารพความเป็นมนุษย์คนอื่น ถ้าท่านเคารพความเป็นมนุษย์คนอื่น ท่านก็จะไม่ไปด้อยค่าคนอื่น"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง