วิทิต จันดาวงศ์ ในวัย 82 ปีลูกชายคนโตของครูครอง จันดาวงศ์ เล่าถึงบทสนทนาของเขากับตำรวจ หลังทราบข่าวว่าพ่อถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วย ม.17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระหว่างที่ตัวเขาเองก็ถูกคุมขังอยู่
การคาดคะเนของวิทิตดูจะกลายเป็นความจริง เมื่อวาทะสุดท้ายของครูครองก่อนถูกยิงเป้า ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในยุคของคณะราษฎร 2563 โดยบางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็น ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’
วิทิตพาเราย้อนอดีตไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงยุคสฤษดิ์ เขาเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของครูครองในภาพใหญ่ไปพร้อมๆ กับภาพชีวิตในฐานะปัจเจกชนที่มีครอบครัว ครูครองผ่านการกดขี่มามากมาย ขณะที่ตัววิชิตเองเป็นลูกชายคนโตที่ถูกหนีบไปทุกที่ พ่อหมายมั่นปั้นมือให้เป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์และหวังให้มีบทบาททางการเมืองเป็นผู้แทนราษฎรต่อไป แต่โอกาสนั้นไม่เคยมาถึง เพราะเขาใช้ทั้งชีวิตต่อสู้คดีและอยู่ในคุกตารางยาวนาน
“ในยุคนั้นนั้นภาวะเศรษฐกิจสังคม ยังเป็นเศรษฐกิจผลิตแบบเพื่อกินเพื่อใช้ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง พอจบชั้นมัธยม 6 พอดีพ่อออกจากคุกก็ไม่ได้ไปเรียนต่อ เพราะน้องสองคนก็ยังเรียนชั้นมัธยมไม่จบ พ่อบอกว่าพักไว้ก่อน แล้วค่อยศึกษามหาวิทยาลัยชีวิต ก็เลยมาประกอบอาชีพทำนา ช่วยครอบครัวเป็นหลัก” วิทิตเล่า
ครูครอง เป็นหนึ่งผู้ปฏิบัติงานในขบวนการเสรีไทยสายอีสานร่วมกับเตียง ศิริขันธ์ หนึ่งในสี่ ส.ส.อีสานที่ถูกลอบสังหาร คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองไทยยังมีความผันผวนอย่างรุนแรง การไล่ล่าประหัตประหารกันมีขึ้นเป็นระลอก ครูครองก็เผชิญกับชะตากรรมเช่นนั้นด้วย
โดนจับหลายครั้ง ออกมาชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส. ท่ามกลางความลำบากยากจนของครอบครัว
“ความประสีประสาทางการเมืองของผมก็ยังไม่มี เห็นแต่ว่าพ่อถูกจับสองสามครั้ง ครั้งแรกหลักจากการรัฐประหารปี 2490 พวกคณะเสรีไทยสกลนคร ซึ่งเป็นสายของท่านปรีดีถูกจับปี 2491 จนถึงปี 2494 ศาลยกฟ้อง เขาฟ้องข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ในปี 2495 ขณะนั้นผมเรียนชั้นมัธยม 2 ก็มีการจับ 'กบฏสันติภาพ' เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2495 ครูครองก็โดนจับอีก จนกระทั่งปี 2500 ได้รับนิรโทษกรรมกึ่งพุทธศตวรรษ ครูครองได้กลับออกมา ผมจบมัธยม 6 พอดี ครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจหนัก เพราะด้านหลักมีแต่แม่คนเดียว แม่ทำของขายตลาดเช้าพวกซุปหน่อไม้ ซุปมะเขือ อาหารพื้นบ้านส่งเสียลูกเรียน พ่อออกมาจากคุกก็ยังไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร เพราะหันมากู้เศรษฐกิจภายในครอบครัว พอกลางปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารจอมพล ป. ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในปีนั้น พ่อก็เข้าสมัครผู้แทนแล้วก็ได้เป็นผู้แทนราษฎร แล้วได้เป็นผู้แทนราษฎร พอพ่อได้เป็นผู้แทนฯ ผมก็ยังไม่ได้ไปเรียน เพราะครอบครัวยังแย่อยู่ ฐานะอยู่ในขั้นยากจน ยังต้องประกอบอาชีพทำนาอยู่พักหนึ่ง”
“หลังจากนั้นปี 2501 ประมาณกลางปี พ่อถึงให้เข้ากรุงเทพฯ ไปกลางปีก็สมัครเรียนไม่ได้ เลยไปเข้าเรียนอาชีพไฟฟ้าช่างยนต์ที่วัดชนะสงคราม หลักสูตร 6 เดือน แต่เรียนได้ 3 เดือน เขายึดอำนาจ ยุบสภาอีก ก็เลยต้องกลับ ขณะที่ยุบสภาครอบครัวไม่มีเงินซักบาท ผมอยู่กรุงเทพฯ ต้องขายตู้ขายอะไร ตู้นั่นพ่อก็ไปเครดิตเขามา แล้วก็เลี้ยงไก่ในกรงเพื่อขายไข่ เพื่อเอาค่ารถกลับบ้าน กลับมาก็ทำไร่ทำนา”
รัฐประหาร 2501 เริ่มเคลื่อนไหวจัดตั้งชาวบ้าน ช่วยเหลือตนเองด้านเศรษฐกิจ
“ขณะที่ทำนา พ่อเองก็เก็บตัว ต้องระวังเพราะประกาศใช้กฎอัยการศึก แกโดนมาสองสามหนแล้ว ตอนยึดอำนาจปี 2501 มันกวาดจับพวกที่ถูกกล่าวหาคดีคอมมิวนิสต์ จับไปเป็นพันขังไว้ที่ลาดยาว ในช่วงนั้นการเคลื่อนไหวเป็นไปในทางเศรษฐกิจ ตอนกลางคืนหลังจากกินข้าวเย็นเสร็จ ชาวบ้านจะมาฟังวิทยุที่บ้าน เขาก็คุยกันเรื่องความยากลำบาก ข้าวไม่พอกินบ้างอะไรบ้าง พ่อก็เลยปรึกษาหารือกับพวกชาวบ้าน โดยใช้วิธีคิดของอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญหาเกิดจากอะไร ปัญหาเกิดจากข้าวไม่พอกิน ที่ข้าวไม่พอกินเพราะว่าไม่ได้ทำนา ถ้านามี สมัยนั้นมันจับจองได้ แต่ไม่มีโอกาสไปหักล้างถางพงเพราะต้องทำงานหาเงินเป็นรายวัน เลยมาคิดว่า เราจะช่วยกันยังไง”
“ในตอนต้นก็ให้ผมเคลื่อนไหวแทนแก เพราะพ่อวางเข็มมุ่งไว้ว่าจะให้ผมเป็นผู้แทนฯ แทนพ่อ ผมระดมคนหนุ่มไปช่วยเหลือแรงงาน ดำนาก็ดี เกี่ยวข้าวก็ดี รวมกลุ่มแล้วจับสลาก คนประมาณ 7-8 ครอบครัว เวลาไปช่วยเกี่ยวข้าวก็เตรียมอาหารไปเอง ไม่ต้องเดือดร้อนเจ้าภาพ ตอนเย็นเลิกก็กลับมากินข้าวบ้าน เหล้ายาอะไรต่างๆ ไม่ต้องเลี้ยง เพื่อแบ่งเบาภาระในหมู่สมาชิก ทำกันไปเรื่อยๆ ตอนแรกพวกชาวบ้านบางส่วนก็มองว่าพวกนี้มันบ้า ถ้าขยันทำขนาดนั้นทำของตัวเองไม่ดีกว่าหรือ เราก็ทำไป พอจบแล้วมันได้ผล จนกระทั่งครอบครัวที่เคยปฏิเสธ ปีต่อมาก็มาร่วมเพราะเห็นว่าได้ผล มันจึงขยายงานแก้ปัญหาความลำบากในครอบครัว”
“ทีนี้พอตกเย็นมาก็นั่งคุยกันที่บ้าน บางทีพ่อก็นั่งสรุปให้ แล้วบรรดาพวกผู้ปกครองพ่อแม่ก็มาร่วมด้วยตอนกลางคืน เพราะมาฟังข่าวด้วย ขณะเดียวกันแกก็คุยเรื่องการเมือง คุยเรื่องรัฐประหาร ที่สฤษดิ์ยึดอำนาจไม่ถูกต้องยังไง ยุคนั้นการยึดอำาจประชาชนเขาไม่ได้รู้สึกอะไรเหมือนสมัยนี้ เพราะเขาห่างไกลจากความเจริญ ระบบเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจเกษตร จากกรณีแบบนี้การขยายตัวก็กว้างขึ้นๆ กลายเป็นกลุ่ม พอกลายเป็นกลุ่มก็เป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนหลังมีพวกที่ไม่ค่อยชอบครูครอง โดยเฉพาะข้าราชการในอำเภอ เพราะถ้าราษฎรมาร้องทุกข์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่เรียกเงินใต้โต๊ะ ครูครองก็จะพาชาวบ้านไปเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้พวกข้าราชการไม่ค่อยชอบ เขาก็ดูเหตุการณ์แบบนี้แล้วใส่ไข่บ้าง”
“ปี 2503 กองแลยึดอำนาจในลาว พ่อก็ดูสถานการณ์อยู่ กลัวจะไม่ปลอดภัยจากอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการอยู่แล้ว จึงออกบ้านไปทำไร่ ไปหาครูทองพันธ์ สุทธิมาศ คนที่ถูกประหารชีวิตด้วยกัน ครูทองพันธ์ไปจับจองที่ดิน 700-800 ไร่ พ่อก็ไปจับจองที่จะไปทำไร่ตรงนั้น ประชาชนพอรู้ข่าวว่าผู้แทนฯ มาอยู่ตรงนั้น คนก็ไปหา แกก็คุย ก็คุยเรื่องโจมตีรัฐบาลนั่นแหละ ยิ่งในสมัยที่กองแลยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนภูมีให้ไปร่วมกับกงแล ครูครองก็ชี้แจงให้ชาวบ้านฟัง จากกลุ่มเล็กก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ เลยกลายเป็นเรื่องดังออกมา”
วิทิตเล่าถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่สื่อเรียกว่า ขบวนการสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐทหารของสฤษดิ์มองว่าเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาล แบ่งแยกดินแดนอีสาน
พ่อ-ลูก โดนจับปี 2504 กล่าวหาตั้งกลุ่มสามัคคีธรรมเตรียมล้มรัฐบาล
“ปี 2504 แกกลับเข้ามาบ้านได้ไม่กี่วันก็โดนจับ ผมไปเยี่ยมพ่อที่โรงพักมันก็จับผมด้วย ตอนปี 2491 ก็ดี ปี 2495 ก็ดี เขาจับพรรคพวกครูครองไปสอบสวนเพียง 7 วันก็ปล่อยกลับ ผมคิดว่ามันคงขังผม 7 วัน เพราะเราเป็นเด็กอายุ 22 ปี แต่พออยู่ในนั้น 2-3 วัน เห็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ โอ๊ย ใหญ่เลย เป็นขบวนการสามัคคีธรรม จะโค่นล้มรัฐบาล ผมก็เลยกลายเป็นหัวหน้ากลุ่มสามัคคีธรรมอันดับ 5 คือ กลุ่มสามัคคีธรรมจากการใช้แรงงานร่วมกัน มันไปต่อยอดสร้างเรื่องขึ้นไปถึงการที่จะไปล้มล้างรัฐบาล แต่ถ้าถามว่าพูดโจมตีรัฐบาลไหม โจมตีแน่ เพราะเป็นเผด็จการ แต่ยังไม่ถึงขั้นจะไปโค่นล้ม การจะไปโค่นล้มตอนนั้นอาวุธอยู่ที่ไหนล่ะ”
“เขาจะเอาพวกเราไปขังที่กรุงเทพฯ วันที่ 16 พ.ค.2504 แต่พาไปรออยู่ที่โรงพักอุดรธานีพักใหญ่ มารับตัวผมตั้งแต่ 6 โมงเช้าข้าวยังไม่ได้กิน หน้ายังไม่ได้ล้าง พ่อก็เลยถามว่าแล้วรออะไร ‘รอพบนากยฯ’ ครูครองก็เลยบอกว่า ‘ก็ดีครับ ผมก็อยากพบนายกฯ ท่านอยู่พอดี’ สักพักหนึ่งก็พาตัวไปขึ้นเครื่องบินใหญ่ ดาโกต้า 2 เครื่องยนต์ของ ตชด. เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเครื่องบิน ตอนยืนรอเครื่องบินผมยังพูดกับพ่อว่า ถ้าไม่ถูกจับก็ไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน”
“พอลงจากเครื่อง นักข่าวเต็มไปหมด ถ่ายรูปปึบปั๊บๆ นักข่าวถามว่าครูครองอยากพบนายกฯ ทำไม แกก็เลยบอกว่า 'ผมอยากจะถามนายกฯ ดูว่าเมื่อไหร่จะเปิดสภาให้กับประชาชน' 'ครูครองไม่กลัว ม.17 เหรอ' 'ไม่กลัว ผมไม่ได้ทำผิดนี่ บ้านเมืองมีขื่อมีแป' แกว่างั้น มีนักข่าวคนหนึ่ง ไม่ทราบหนังสือพิมพ์อะไร เขาพูดมาเลย 'คุณน่ะโดน ม.17 แน่ๆ' แกก็ไม่ตอบ แล้วเขาก็เอารถตำรวจขนมาวังปารุสก์ ไป 5 คน มี ครูครอง ครูบุญมา แกเป็นช่างทำปืนแก๊ปขาย เขาไปจับเอา ก็เลยกลายเป็นหัวหน้าคลังแสงผลิตอาวุธเพื่อจะไปล้มรัฐบาล แล้วก็มีน้าชายผม มีผมเป็นคนสุดท้าย”
“ไปวังปารุสก์ก็พาพ่อขึ้นไปข้างบน ไปพบรู้สึกจะเป็น พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ พล.ต.ท.เกษียร ศรุตานนท์ แล้วก็ พล.ต.ต.พจน์ เภกะนันท์ ผู้การสันติบาล เท่าที่ทราบจากแกเล่าให้ผู้ต้องขังฟังที่ตอนขังที่สันติบาล เขาถามเรื่องที่พ่ออยากพบนายกฯ แล้วประเสริฐก็บอกว่า ‘เขากำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ คุณไม่รู้เหรอ’ ‘ฉันไม่รู้’ เกษียรก็เลยบอกว่า ‘คุณมัวไปมุดหัวในอุโมงค์ก็เลยไม่รู้น่ะสิ’ แล้วก็ตัวกลับลงมา เอาคุณทองพันธ์ขึ้นไปแล้วกลับลงมา เอาลุงบุญมาขึ้นแล้วกลับลงมา สักพักตำรวจลงมาบอกว่าให้เอาไปแยกย้ายขัง เอาครูครอง ครูทองพันธ์ ลุงบุญมา ขังที่ตึกบังคับการ เอาน้าชายกับผมไปขังที่ตึกวิจัยและวางแผน”
นาทีครูครองเข้าหลักประหาร และคำพูดสุดท้าย “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
“เขารับออกจากสันติบาลมาตีสี่ มาขึ้นเครื่องที่ดอนเมืองลงที่สนามบินอุดร ต่อจากอุดรมาอำเภอสว่างดินแดง ไม่แน่ใจว่าเขามาฮอหรือมารถยนต์ตำรวจ ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเล่าเขาว่ามาโดยรถตำรวจ เพราะเห็นแกโบกไม้โบกมือตลอดทาง เขาเตรียมสถานที่ไว้เรียบร้อยแล้ว มายิงเป้า มันจะตรงกับปากเข้าทะลุสนามบิน ไม่ค่อยมีบ้านคนบนทางเส้นนี้
“ประโยคนั้นมันเกิดขึ้นตอนที่เขาเอาแกมาประหารนี่แหละ พอจะเข้าหลักประหารที่แกยืนโบกมือให้กล้องถ่าย แล้วก็ตะโกนมาตอนนั้นว่า 'เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ' ผมก็ไม่รู้หรอก ไปรู้ตอนที่มันเผยแพร่เพราะมีเจ้าหน้าที่ พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาใช้ตำรวจ ตชด.ยิง 6 คน คนละ 15 นัดต่อผู้ถูกยิงเป้า 2 คน แม็กสั้นปืนคาบินมันประมาณ 15 นัดหรืออะไรนี่แหละ เขาตะโกนตอนนั้นแต่หนังสือพิมพ์ไม่ลงตอนนั้น แต่ตอนหลังเห็นมีข่าวออกทางสื่อใต้ดินต่างๆ”
“มีคนเล่าด้วยว่าตอนผูกติดกับไม้กางเขนไว้ ให้หมอมาจับชีพจร ชีพจรครูทองพันธ์อ่อนไปหน่อย แต่ชีพจรครูครองยังเหมือนเดิม แกก็บอกว่า 'ไม่ต้องจับหรอก ของผมปกติ จะยิงก็ยิงมันเหนื่อย' เพราะผูกขามันต้องย่อ ผูกติดไม้กางเขน”
“ทางบ้านไม่มีใครรู้เลยนะ แม่กำลังหว่านกล้าอยู่ มีเมียเพื่อนเขาวิ่งมาบอกแม่ว่า เขาเอาพ่อมายิงเป้า แกได้ยินเสียงปืนก็ยังไม่รู้ พอรู้แกก็ทิ้งตะกร้าวิ่งไป ไปถึงก็เห็นแต่เขาเอาผ้าขาวปูทับ แล้วเอาไม้กางเขนทิ้งทับไว้ ก่อนเขาเอามายิง เขาเอาทหารมาจากอุดรฯ นะ มาล้อมสนามบินไว้ไม่ให้คนเข้า กลัวถูกแย่งตัว แล้วมันห้ามไม่ให้ใครเข้ามาใกล้ ชาวบ้านไม่มีใครกล้าเข้ามาดู นอกจากพวกเด็กๆ แล้วคนมาเก็บศพก็อาศัยพวกคนญวน คนญวนเขาหาไม้หาอะไรมาทำโรงศพ ใส่ศพเอาไปฝังไว้ป่าช้า เพราะพ่อช่วยเหลือคนญวนมาเยอะ สมัยที่เขาถูกรังแกจากรัฐบาล”
จะไม่มีน้ำตาซักหยดให้ศัตรูเห็น รู้ข่าวพ่อนั่งร้องเพลงทูล ทองใจ
“เช้าวันนั้น ในห้องขังจะมีผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ที่ถูกจับมาก่อน อยู่มาก่อนเป็นปีก็มี กลางวันตำรวจเอามาออกกำลังได้ มีแต่พวกผมที่มาใหม่เขาขังไว้ คนนี้เขากลับมาจากออกกำลังเลยมาบอกผมว่า 'คุณรู้ไหมว่าเขาเอาคุณพ่อคุณขึ้นเครื่องไปอุดรตั้งแต่ตีสี่' 'ผมก็เลยบอก ‘อ๋อ เอาไปยิงเป้าเหรอ' ผมคาดว่ามันจะยิง และคิดว่าจะยิงทั้ง 5 คนด้วยนะ ผมก็ตั้งใจเต็มที่ คิดว่า เอ้า จะทำยังไง ถ้าเดินเข้าหลักประหาร พ่อทำยังไงก็จะทำอย่างงั้น เตรียมใจขนาดนั้น”
“พอตอนเย็นมา หนังสือพิมพ์บ่ายออกข่าว พรรคพวกที่อยู่ก่อนลงไปขนน้ำขึ้นมาก็เอาหนังสือพิมพ์มาดู ผมขอดูด้วย เพื่อนคนหนึ่ง คนศรีสะเกษบอกว่า ไม่ต้องดูหรอก ไม่มีอะไร เขาเป็นห่วงกลัวผมเป็นลมเป็นอะไร ผมบอก 'เอามาดูเถอะน่า' พอดีผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนที่มาจากจีนเขาหยิบมาให้ดู ผมอ่านดู แล้วก็นั่งเฉย ผิวปากร้องเพลงทูล ทองใจ คิดไว้ในใจว่า จะไม่มีน้ำตาให้พวกศัตรูได้เห็นแม้แต่หยดเดียว ก็ไม่ร้อง”
“พอสองทุ่มครึ่ง วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออก ข้างล่างเป็นร้านอาหารของสันติบาล เขาก็เปิดดังลั่น แถลงการณ์ประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ นายทองพันธ์ สุทธิมาศ เสียงคนตะโกนอยู่ข้างล่าง 'เอาอีกแล้ว บ้าอำนาจอีกแล้ว' พวกตำรวจ พวกสิบเวร ร้อยเวรที่เข้าเวรตามแผนกต่างๆ กรูมาที่หน้าห้องผม กลัวผมเป็นลม ผมก็นั่งอยู่กำแพง นั่งไขว่ห้าง ผิวปากเพลงทูล มีร้อยเวรคนหนึ่ง เป็นร้อยเอกสันติบาลกองห้า แกมาเข้าเวรแล้วถาม 'คุณเป็นลูกชายครูครองเหรอ' 'ครับ' 'คุณไม่ได้ยินเหรอ วิทยุเขาประกาศ' 'ได้ยิน เขาเปิดดังลั่น หูผมก็ไม่หนวก' 'คุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ' 'รู้สึกแล้วจะไปทำอะไรได้ ถึงผมจะไปร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด พ่อผมก็ไม่ได้กลับมา เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นจะต้องไปร้อง แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า วันนี้พ่อผมตายอย่างหมากลางถนน แต่อีก 20 ปีข้างหน้า คุณคอยดู พ่อผมนั่นแหละ จะเป็นวีรบุรุษของประชาชน’ ผมก็บอกอย่างนั้น แกก็ยกโป้ให้ 'อย่างนี้สิ ต้องเลือดนักสู้ อย่างว่ายุคนี้ขัดอะไรเขาไม่ได้' แล้วเขาก็เลยสั่งลูกน้องไปซื้อบุหรี่มาให้ 5 ซอง ทั้งที่ตอนนั้นผมก็ไม่ได้ติดบุหรี่ สูบบ้างเล็กๆ น้อยๆ ผมติดบุหรี่จากห้องขังนั่นแหละ”
“มันเกิดคุกรุ่นในสมองเหมือนกัน แต่ไม่ให้มีน้ำตา ไม่ร้องไห้ นั่งร้องเพลงทูล แต่ผมก็เขียนระบายอารมรณ์ในกำแพงห้องขัง เขียนว่า ธรณีนี่นี้เป็นพยาน โคลงศรีปราชญ์น่ะ กูก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง กูผิดมึงประหาร กูชอบ กูบ่ผิดมึงมล้าง ดาบนั้นคืนสนอง คือ มันระบายเพื่อไม่ให้มันอัดอยู่ข้างใน ไม่อย่างนั้นเราจะกลั้นความเสียใจน้ำหูน้ำตาไม่ได้ พอกลั้นไม่ได้มันจะแสดงจุดของความอ่อนแอ”
ไม่จองเวร ไม่โทษตัวบุคคล
“ตอนนี้ไม่รู้จะพูดอะไร ตอนนั้นมันก็โกรธ มีครั้งหนึ่ง สายหยุด เกิดผล มาเยี่ยม มาคุยว่าขอโทษ แกก็ถามว่า คุณวิทิตรู้สึกยังไงเรื่องพ่อ ผมก็บอกว่าตอนนั้นก็โกรธ แต่ตอนหลังมาผมเข้าใจการเมือง ในเมื่อเข้าใจการเมืองเราก็ไม่ไปโกรธบุคคล ไม่โกรธผู้ที่เขามายิง เรามองทะลุถึงโครงสร้าง ถึงระบบ ถ้าโกรธก็โกรธที่โครงสร้าง เพราะโครงสร้างเป็นแบบนี้มันเลยเป็นแบบนั้น”
วิทิตถูกนำตัวไปสอบสวนเพียงครั้งเดียวหลังการประหารพ่อของเขา จนกระทั่งปลายปี 2505 วิทิตถูกย้ายไปขังอยู่ที่คุกลาดยาว
“ที่นั่นผู้ต้องหาเป็นพัน พอเขาเปิดประตู ตรวจค้นของเสร็จแล้ว เสียงปรบมือต้อนรับทั้งสองฝั่งตึกเรือนขัง ทำให้เราก็ปลื้มใจ ภูมิใจ 'เอ้า พวกกูละ' ถึงได้ไปอยู่ร่วมกับจิตร (ภูมิศักดิ์) ตอนนั้น ระหว่างอยู่ในเรือนจำ โอกาสมันดีอย่างหนึ่ง สมัยนั้นเขาไมได้คุมผู้ต้องหาทางการเมืองเหมือนสมัยนี้ ก็แต่งตัวแบบอิสระ มีแดนการเมืองโดยเฉพาะผู้ต้องหาธรรมดาอื่นๆ เข้ามาไม่ได้ นอกจากเราไปขอเขามาเป็นโยธา ไปศาลก็ใส่สูทใส่เสื้อนอกกัน”
เรียนกฎหมาย เตรียมสู้คดี 'ทองใบ' ติวให้ในคุก
“ต้นปี 2506 พรรคพวกที่เป็นทนายออกไปศาลก็มาแจ้งข่าวว่า อัยการจะส่งฟ้องคดีคุณแล้วนะ ทีนี้ในคดีคอมมิวนิสต์เขาไม่ให้มีทนาย ผมก็จำเป็นต้องเรียนกฎหมายในนั้น เตรียมจะสู้คดี พอดีว่ามีทีมทนายอยู่ คุณทองใบ ทองเปาด์ และคนอื่นๆ เขามานั่งช่วยให้ผมฝึกว่าความ เรียนรู้ข้อกฎหมาย ความจริงเขาก็เป็นห่วงเพราะผมเป็นเด็ก ในคดีนั้นคนถูกฟ้อง 106 คน ก็เป็นโอกาสได้เรียนรู้กฎหมายแล้วซักค้านพยานโจทก์เป็น ศาลเขาก็ถามว่าจำเลยเรียนนิติศาสตร์มาเหรอ ผมบอก 'ไม่ เป็นนักเรียนแค่ชั้นมัธยม6' ผมยังชื่นชมศาลทหารสมัยนั้นนะ เขามีความเป็นนักกฎหมายจริงๆ ใหม่ๆ ก็ดูว่ามีแต่ทหารขึ้น แต่พอเขาดูสำนวนแล้วกลับเห็นอกเห็นใจ พอขังนานเข้าเราขอออกศาล ออกไปแล้วก็หนีไปเที่ยว ตำรวจก็ปล่อย เพราะเขาเชื่อใจว่าคนนี้ไม่หนี เราก็ไปคนเดียวเที่ยวนั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ 109 สายผมนั่งสุดสายหมดเพราะไม่มีอะไรทำ ยกเว้นมีหนังคาวบอยเข้าก็ไปดู"
สฤษดิ์เดินเกมพลาด ประหารครูครองทำผึ้งแตกรัง ‘เข้าป่า’
“การประหารชีวิตครูครอง สฤษดิ์เขาทำคล้ายๆ ว่า ปราบป่าให้เสือกลัว ตัดไม้ข่มนาม ซึ่งเขาเองก็คิดผิด เพราะนั่นเป็นการทำผิดทางยุทธศาสตร์ เครือข่ายที่สนับสนุนครูครองสมัยที่แกเป็นผู้แทนก็ดี สมัยอื่นก็มี มันก็เกิดทั่วไปแถวนี้ เขาก็หลบหนี แตกหนีเข้าไปหลบภัยในป่าในเขา ส่วนที่อยู่ใกล้น้ำโขงก็ข้ามไปฝั่งลาว เข้าร่วมกับขบวนการประเทศลาว ทางนี้ก็ขึ้นเขา ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่ได้อะไร จนเขายิงเป้าครูครองเสร็จแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์คณะกรรมการกลางจึงประชุม เพราะเห็นประชาชนหลบหนีเข้าในป่าในเขาเยอะ ถ้าปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างนั้นต่อไปมันจะกลายเป็นแก๊งโจรแล้วถูกปราบหมด เขาเลยมีมติว่า ให้ส่งผู้ปฏิบัติงานระดับสูงเข้ามาพักอยู่กับกลุ่มคนที่หลบภัย มาให้การศึกษา ให้การชี้นำทางการเมือง ความจริงพรรคคอมมิวนิสต์เขาก็อยากทำการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธแต่เขาไม่รู้จะทำยังไง พอดีโอกาสแบบนี้คนหลบภัยไปเยอะ เพราะมันฆ่าครูครองแล้วมันไม่หยุด มันตามล่า ตามจับ ตามฆ่า คนก็หนี”
“ปลายปี 2505 เขาส่งผู้ปฏิบัติงานพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามา ลุงธง แจ่มศรี เข้ามาที่บ้านที่เป็นฐานครูครองเมื่อก่อน มาถึงก็จัดตั้งให้การศึกษามวลชน แล้วก็เอาคนหนุ่มคนสาวลูกหลานของพวกที่ถูกจับกุมในช่วงนั้นกับพวกที่หลบภัยหนีเข้าป่า รวบรวมให้การศึกษา ส่งไปเรียนการเมืองการทหารเรียนหมอที่เวียดนาม”
“ต้นปี 2506 มันจับแม่อีก รู้สึกจะจับตอนปีใหม่พอดี น้องสาวก็หนี ตอนจับผมน้องชายหนีไปฝั่งลาวหาขบวนการประเทศลาว จีนก็รับตัวไป น้องสาวหนีออกไปลาวเพราะอยู่ไปก็กลัวเป็นอันตรายถูกข่มขืนย่ำยี แม่ถูกจับขังจนถึงปี 2507 หนังสือพิมพ์ยังลงข่าวว่า ภรรยานายครองยังทำการเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมมวลชนในภาคอีสาน ทั้งๆ ที่คนอยู่ในคุกแล้วนั่น ผมก็เลยเขียนคำร้องให้แกเซ็น มันถึงเรียกไปสอบสวนแล้วก็ปล่อย พอปล่อยได้ไม่นานเขาก็มารับเข้าไปอยู่ป่าเพราะกลัวไม่ปลอดภัย”
อยู่ในคุก ข่าวยังลงว่าลูกครูครองกลับจากจีนเตรียมก่อมิคสัญญี
“ทีนี้ในปี 2508 พวกนี้หนีข้ามไป ไปศึกษาการเมืองการทหารที่เวียดนาม เขาส่งกลับเข้ามาภาคอีสาน ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกชายนายครอง นายวิชิต จันดาวงศ์ ไปเรียนการเมืองการทหารที่ปักกิ่งกลับเข้าไทยเพื่อมาวางแผนให้เกิดมิคสัญญี ผมขังอยู่ลาดยาวมา 2 ปีแล้ว หมายศาลก็มี ศาลกลาโหม ทนายเขาเลยไปฟ้องหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ได้เงินมา 12,000 บาท สมัยนั้นก็เยอะนะ ข่าวมันมั่ว จับจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร”
“พวกที่ถูกปล่อยระหว่างปี 2505-2506 ผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ที่ถูกจับไป เขาก็ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าเป็นการขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญาไม่รับส่งไปอุทธรณ์ อุทธรณ์ไม่รับ ส่งศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำร้อง รับไปก็ไต่สวน ส่งไปศาลอุธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ไต่สวน ส่งไปศาลฎีกา ศาลฎีกาก็สั่งกลับลงมาอีกให้ศาลชั้นต้นไต่สวน อ้างถึงการขังแม้มีประกาศฉบับที่ 12 ก็จริงแต่ต้องขังตามความจำเป็นและพฤติกรรมแห่งคดี เขาก็ปล่อยๆๆๆๆ กันเยอะ ถ้ามันพอเมคหลักฐานได้ก็มีการฟ้อง นั่นถึงได้ฟ้อง เมื่อก่อนขังไว้ฟรีๆ นะไม่ได้ฟ้องเลย”
สฤษดิ์ปราบหนัก 'พวกคอมมิวนิสต์' เอาใจอเมริกา
“ถามว่าทำไมเขาจับคนเยอะแยะ ตอนสฤษดิ์ขึ้นมา อเมริกาเองก็ไม่ค่อยเชื่อใจสฤษดิ์ กลัวจะไม่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทีนี้สฤษดิ์ต้องการเงินสนับสนุนเงินจากอเมริกา ถ้าไม่สนับสนุนก็ไม่มีงบประมาณ ก็ต้องกวาดจับ สร้างขบวนการ กล่าวหาครูครองว่าเป็นขบวนการสามัคคีธรรมขบวนใหญ่ ต้องกวาดจับตะเข็บชายแดนอุดร หนองคาย สกลนคร รวบมาหมด 200 กว่าคนในเรือนจำเดียวกับผม แล้วพวกที่ถูกจับในคดีเรื่องลักเรื่องปล้นก็มาเป็นคดีเดียวกันหมด เอากลุ่มโจรมาสถานีตำรวจสว่างฯ วันนั้นผมก็อยู่ตรงนั้น สิบเวรก็ยังบอกว่า พวกมึงมันบ้าไปจับมา จับมาวันนี้ไม่ได้ออกหรอก กลายเป็นพวกเดียวกันหมด เพราะในข้อกล่าวหาในขบวนนั้นน่ะ ครูครองใช้กลุ่มโจรเป็นเครื่องมือ ใครไม่เข้าเป็นพวกก็ให้โจรไปปล้นเอาวัวเอาควาย ในคำฟ้องก็เขียนอย่างนั้น แล้วมันจับตอนนั้นกวาดกันแบบไม่มีที่คุมขัง อุดรฯ ก็ล้น โรงเรียนพลตำรวจสร้างห้องขังขึ้นมาเพื่อรองรับคดีคอมมิวนิสต์ คดีผมจะถูกฟ้องร้อยกว่าคนก็ย้ายไปอยู่เรือนจำใหม่ที่บางเขน ไม่กล้าเอาไปลาดยาว กลัวไปรวมกับพวกคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าๆ ที่เป็นชาวบ้าน เดี๋ยวเป็นพลังใหม่ขึ้นมา มันไล่จับจนกระทั่งสฤษดิ์ตาย พอยุคถนอมขึ้นมา การจับก็น้อยลงหน่อยเพราะไม่มีที่ขังแล้ว”
“ปัญหามันก็คือว่า เขาคิดว่าจับแบบนั้นมันจะทำให้คนกลัว ไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่กล้าลุกขึ้นมาคัดค้าน ในทางกลับกัน เขาก็ไม่สู้โดยเปิดเผย เขาหลบหนีการจับกุม หลบหนีการเข่นฆ่าไปอยู่ป่าเขา สุดท้ายก็เป็นโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้ามา พรรคเข้ามาถึงมาให้การศึกษา เข้ามาชี้นำทางการเมือง คอมมิวนิสต์เองเข้ามาใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะปลุกระดมยังไงเหมือนกัน เขาต้องมาเรียนรู้เรื่องการปลุกระดมมวลชนจากมวลชน เข้ามาอยู่เป็นพวก ทีนี้เขาเห็นญาติพี่น้องมาส่งข้าว ถึงคิดได้ว่า ให้พวกมาส่งข้าวชวนพี่น้องคนใกล้ชิดมาด้วย จะได้รู้ว่าญาติไม่ต้องเป็นห่วง มีกลุ่มทางการเมืองมาดูแล ก็อาศัยปลุกระดมญาติพี่น้องพวกหนีเข้าป่ากับพวกถูกจับ”
สายพิราบเข้ามามีบทบาท ช่วยผ่อนปรนสถานการณ์
“ระยะหลังปี 2506 มา กลุ่มเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มพิราบ ทางสันติบาลก็มีพวก อารีย์ กะลีบุตร พวกทหารที่เรียกว่ากลุ่มทหารประชาธิปไตย เขาคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็ทำเป็นเรื่องผ่อนปรน จึงออกนโยบายผ่อนปรนประนีประนอม ค่อยๆ จัดสถานที่อบรม เอามาอบรมที่ลาดบัวขาวแล้วก็ปล่อย หลังจากรัฐบาลถนอม ส่วนที่ฟ้องศาลก็ฟ้องไป แต่คดีพวกผมยังไงต้องฟ้อง เพราะฆ่าคนไป 2 คนแล้ว แต่สืบไปสืบมามันเละ ไปๆ มาๆ พยานโจทก์ต่างๆ ที่เอามาเบิกความ เขาสอบสวนหลังจากยิงเป้าครูครองไปแล้ว คนก็กลัว พวกเขียนมาให้ยังไงก็เซ็นไปอย่างนั้น ผมก็ดู บางทีมันให้การผิดไปจากคำให้การชั้นสอบสวน”
สู้คดีแทบจะทั้งชีวิต
นอกจากการสูญเสียพ่ออย่างโหดร้าย วิทิตเองก็เผชิญกับคุกตารางแทบจะตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่อายุ 22 ปี ในคดีกบฏคอมมิวนิสต์ กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน อั้งยี่ซ่องโจร ถูกจำคุก 6 ปี 5 เดือนเศษ และยังถูกกล่าวหาในคดีลอบสังหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก บุคคลสำคัญ ถูกจำคุก 1 ปีเศษโดยถูกตีตรวน 24 ชั่วโมง สู้คดีนานหลายปีจนศาลยกฟ้อง ทศวรรษ 2540 ยังโดนคดีอั้งยี่ซ่องโจรอีกครั้งสู้คดีจนปี 2550 ถูกจำคุกเกือบปี
วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ (รัฐศาสตร์ราษฎร) ราชภัฏสกลนคร ผู้ที่ศึกษาเรื่องครอง จันดาวงศ์ และใกล้ชิดดูแลวิชิตหลังออกจากคุกครั้งหลังสุดเมื่ออายุราว 70 ปี เล่าว่า
“ครูครองมีความมุ่งมั่นตั้งใจผลิตลูกชายคนนี้เป็นลูกชายของประชาชนจริงๆ ดังนั้นครูวิทิตถูกวางตัวเป็นนักการเมือง แล้วถูกวางให้เป็นรัฐมนตรีในอนาคตด้วย แต่ชะตากรรมถูกรัฐเผด็จการทำลายครอบครัวจันดาวงศ์ จนแทบไม่เหลืออะไรเลย แม้กระทั่งชีวิตของครูครอง ทรัพย์สินที่ดิน ทำไมรัฐไทยถึงเป็นขนาดนั้น ทำไมถึงโหดร้ายกับคนคนนี้ ครอบครัวนี้ หลายคนต้องเปลี่ยนนามสกุลไปหมด แต่ความสง่างามของ จันดาวงศ์ ก็ยังเหลืออยู่ที่ลูกชาย ลุงวิทิตถูกจับครั้งแล้วครั้งเล่า หลายครั้งมาก จนไม่มีเวลาจะทำมาหากิน ถ้าถามว่าลุงวิทิตทำอาชีพอะไร อาจต้องตอบด้วยเล่นคำว่า มีอาชีพถูกจับ ติดคุก ลุงเลยไม่มีเวลาทำมาหากิน อายุ 60 ปลายๆ เกือบ 70 ยังติดคุก พอเรามาสัมผัสกับชีวิตจริงของคนที่เป็นตำนาน จึงได้เรียนรู้ว่า จิตวิญญาณทางการเมืองที่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย ถึงกระนั้นครอบครัวนี้ก็ไม่ได้จองเวรจองกรรมกับคนที่กระทำ รอคอยแต่ว่าเมื่อไหร่บ้านเมืองจะเป็นปกติ”
วิชาญ ยังเล่าถึงหลักฐานประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ดูด้วยว่า ยังมีหลักประหารชีวิตครูครองซึ่งหล่อเสาหุ้มของจริงไว้ ตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดสกลนคร รวมทั้งโรงพักที่จับครูครองและลูกชายไปคุมขังไว้ก่อนนำตัวครูครองไปประหาร ปัจจุบันเป็นอาคารร้างอยู่ในที่ว่าการอำเภอสว่างแดนดิน
มองปัจจุบัน พึงระวังการต่อสู้เฮือกสุดท้ายในการเปลี่ยนแปลง
เนิ่นนานกว่า 60 ปี ถึงวันนี้คนรุ่นปัจจุบันมีความตื่นตัวทางการเมืองและออกมาเคลื่อนไหวหนักหน่วงตั้งแต่ปีที่แล้ว เรื่องนี้ลุงวิทิตมองว่า
“ความจริงยุคนี้มันจะโหดกว่าด้วยนะ แต่มันเนียนหน่อย เพราะความตื่นตัวของมวลชนทั้งหลายไม่เหมือนสมัยนั้น สมัยนั้นรัฐบาลทำอะไรเขาก็ไม่พูด ดีไม่ดีจะเชื่อไปตามข่าวด้วย เพราะรัฐออกข่าวได้ฝ่ายเดียว แต่ทุกวันนี้มันโหด มันเนียนกว่า เพราะยุคนั้นมันทำยังไงก็ได้ ไม่มีใครคัดค้าน แต่มันจะค่อยมาปรับเปลี่ยนตอนเกิดกองกำลังในป่าขึ้นมา ลดการจับกุมเข่นฆ่าปราบปรามลงไป เพราะทหารตำรวจฝ่ายพิราบมองว่าเป็นการไล่คนไปอยู่ป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก็มีบทบาทในการนำเสนอแนวคิดที่ว่า รัฐใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์เป็นแว่นขยายไปส่องจับคน เป็นไม่เป็นไม่รู้ แต่เวลาจะปล่อยคนไม่ได้ใช้กฎหมาย ใช้นโยบาย นโยบาย 66/23 ให้คนออกจากป่ามาโดยไม่เอาโทษ”
“ในยุคนี้ ขณะที่มวลชนตื่นตัวขนาดนี้ คนรุ่นใหม่ตื่นตัวขนาดนี้ มันก็ยังดื้ออยู่ ดันทุรัง ทั้งๆ ที่คนรู้ สังคมรู้กันหมด คนเกลียดทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็ดันทุรังอยู่ของมัน และอีกประการหนึ่งที่เป็นประการสำคัญ คือ มันถูกอุ้มสมโดยอำนาจพิเศษ มันถึงอยู่ของมันได้ ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษมาอุ้มมันก็ไป มันอยู่ไม่ได้หรอก”
“เดี๋ยวนี้ใช้วิธีเปิดเผยคือ ใช้กฎหมาย ส่วนจะใช้วิธีเดิมๆ ใช้ อส.ไปเข่นฆ่าแบบสมัยก่อนนั้นมันเป็นไปไม่ได้แล้ว แม้แต่คนถูกบังคับให้หาย อุ้มหายก็ยังเป็นเรื่อง เพราะสมัยนี้โลกโซเชียลมันขยายตัว คนรับรู้หมด ไม่มีข้อมูลไหนปิดลับได้ ทำให้ชนชั้นปกครองระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกลไกทางสังคมก็ดี ลักษณะการขับเคลื่อนทางสังคมที่มันก้าวหน้าไป มันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าอุ้มสมกันจะเน่าไปทั้งสองส่วน ตอนนี้จึงมีปรากฏพวกชูสามนิ้ว เขากล้าออกมา เรื่องที่พูดเปิดเผยไม่ได้เอามาพูดเปิดเผย ใช้กฎหมาย 112 ไปมันก็ได้แค่นั้น มันทนแรงกดดันของสังคมไม่ไหว และไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาที่ก้าวหน้า ภาวะเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลนี้แก้ไม่ได้ยิ่งทรุดลง เจอโควิดซ้ำเติมอีกก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้”
“กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย มันมีระยะเวลาที่แน่นอนหนึ่งของมัน เขาเรียกว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีระยะปฏิรูป ระยะปฏิรูปจะค่อยเป็นค่อยไป นานหน่อย ใช้เวลาหน่อย มาถึงระยะปฏิกิริยา คือ เจ็บปวดรวดร้าวทั่วสรรพางค์กาย นี่จะเป็นระยะที่ไม่นานนัก แต่คำว่า ไม่นานนัก ทางสังคม มันก็เล่นกันเป็นปี เป็นสิบปีก็มี จนก้าวกระโดดไปสู่คุณภาพใหม่ ไปสู่สังคมที่ดีกว่า เหมือนเขาว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อจุติจะมีลักษณะปฏิรูป มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน สี่เดือน พอถึงระยะครบกำหนดคลอด จะเกิดระยะปฏิกิริยา คือ เจ็บปวดรวดร้าวทั่วสรรพางค์กาย เป็นระยะที่คล้ายว่าจะคลอดไปสู่คุณภาพใหม่ ทีนี้ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีการหลั่งเลือด ส่วนจะหลั่งน้อยหลั่งมากขึ้นกับกรรมวิธีการคลอด กรรมวิธีการต่อสู้ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เทคนิคต่างๆ ในยุคสมัยใหม่ แล้วก็ปัจจัยภายนอกสังคมภายนอกซึ่งจ้องดูและบีบคั้น เพราะฉะนั้นตอนนี้มันเข้าขั้นเป็นปฏิกิริยา มันเดือดไปหมด แต่มันยังไม่ถึงจุดสุดท้ายเท่านั้น เหมือนเราตั้งหม้อ มีไอผุดผัดๆ ไม่ถึงขึ้นพล่าน วิธีชะลออันหนึ่งคือ ชนชั้นปกครองราไฟ ทำให้ช้าลงหน่อย แต่ถ้ายิ่งสุมไฟ ยิ่งจับยิ่งปราบอะไรที่กำลังทำอยู่นี่ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงมาเร็วขึ้น ถึงผู้คนจะบาดเจ็บล้มตายแต่มันต้องเปลี่ยน เพราะอย่าไปคิดว่าคนถูกจับขังคุกก็ดี ถูกฆ่าก็ดี มันจะไปยอมกันง่ายๆ เพราะความคิดของผู้คน ความคิดของสังคมส่วนใหญ่ไม่ว่าชนชั้นไหน นับจากคนชั้นกลางระดับบนลงมาถึงชนชั้นล่าง มันเดือดไปหมด มันเหลือแต่หย่อมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่กี่กลุ่มที่เกาะกลุ่มสนับสนุนกันอยู่”
“สำหรับคนที่ออกมาต่อสู้สิ่งที่จะบอกก็คือ ให้กำลังใจ ยังไงเขาก็คงจะแหลมคมกว่ารุ่นพวกผม แต่สิ่งที่พึงสำเหนียกไว้อย่างหนึ่งก็คือ ชนชั้นปกครองดิ้นก่อนตายอันตรายที่สุด เพราะฉะนั้นกระบวนการต่อสู้ทั้งหลายของภาคประชาชน ก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่รอบคอบที่สุด ละเอียดที่สุด เหมือนภาษาอีสานเขาว่า ช้างสิตายเท่าเครือ เสือสิตายเท่าเหล่า มันดิ้นของมันไปทั่ว ตอนนี้เขาอยู่ในอาการดิ้นก่อนตายเพราะฉะนั้นตัวดิ้นก่อนตายมันอันตราย”
คนอีสานสู้ยืดเยื้อ ศรัทธาฆ่าไม่ตาย
ขณะที่วิชาญ ได้อธิบายความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์นักสู้อย่างครูครองกับผู้คนในภูมิภาคอีสานว่า คำพูดของครูครองก่อนเดินเข้าหลักประหาร มันเชื่อมโยงถึงจิตวิญญาณของคนอีสานจริงๆ เพราะคนอีสานเขาก้าวเดินไปบนเส้นทางการเมืองด้วยสิ่งที่เรียกว่า ศรัทธา ความรู้อาจจะไม่มาก แต่สิ่งที่เขายึดมั่นเป็นเรื่องศรัทธาที่มีต่อความฮักแฮงแบ่งปันและความทุ่มเท ครูครองเป็นคนที่ให้แม้กระทั่งชีวิตกับประชาชนได้ ครูครองเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ติดคุกอยู่แล้วขอลามาสมัครส.ส. ท่านทำงานเต็มที่ ต่อมาพอเป็นส.ส.ก็มาต่อสู้กับจอมพลสฤษดิ์ ถามว่าสู้อะไรได้ไหม ก็สู้ไม่ได้ แต่ยังคงศรัทธาที่ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย
“การต่อสู้ของครูครองกับการต่อสู้ของคณะราษฎร เขาสู้ในสิ่งเดียวกัน คือ สู้กับนักรัฐประหาร แต่ครูครอง ลุงวิทิตสู้ไปด้วยหลบซ่อนตัวไปด้วย ถูกปราบไปด้วย แต่ที่ต่างคือเด็กสู้ในเมือง คณะราษฎรเปิดเผยตัว สู้ไปถูกจับไป ยังไม่ถูกฆ่า แต่ประเด็นการต่อสู้นั้นเหมือนกันคือ สู้ด้วยจิตวิญญาณของคนที่ใฝ่หาประชาธิปไตยความเป็นธรรม สู้กับคนกลุ่มเดิมคือ ทหารที่เป็นฝ่ายเผด็จการและหัวหน้าทหาร แนวรบยังไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะในภาคอีสานก็เช่นกัน ยังต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพล กลุ่มมาเฟีย พูดง่ายๆ เราก็หวังว่ามันจะจบสิ้น”
"คนอีสานจะเข้มแข็งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คนอีสานมีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง คุณอยากจะชนะต้องใช้มันสมองไปผลิตนโยบายให้มันโดน เข้ากับเป้าหมายชีวิตของชาวบ้านจริงๆ แล้วคุณจะชนะใจคนอีสาน ถ้ามีกลุ่มก้อนหนึ่งจะเอาชนะอีสานได้ จะต้องเอาชนะด้วยกลไกประชาธิปไตย หรือไม่ก็ต้องทำนอกกติกาประชาธิปไตยอย่างการใช้กำลัง คนอีสานจึงแพ้รัฐประหาร แต่ก็แพ้เฉพาะครั้งเฉพาะคราว เขายังสู้อยู่ตลอด"
"คนอีสานเป็นสายรบแบบยืดเยื้อ ฆ่าไม่ตาย คนอาจตายไป แต่การสืบเชื้อวิธีคิดการต่อต้านรัฐเผด็จการมันไม่ตาย ย้อนกลับไปได้ถึง 'ผีบุญ' ผู้นำตายแต่ตัวความคิดการต่อต้านรัฐไม่ตาย เพราะรัฐไทยเป็นผู้ผลิตสร้างให้คนอีสานกลายเป็นสิ่งนี้" วิชาญกล่าวทิ้งท้าย
วิดิโอ : สุภาพร ธรรมประโคน