ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่าน How Democracies Die หนังสือที่สอนให้เล่นตามกติกาที่เขียนขึ้นมาเอง และไปล็อบบี้กรรมการมาไว้ฝั่งตัวเอง แล้วก็ยังไปซื้อศัตรูมาเป็นพวกตัวเอง

เปิดไปหน้า 121 ย่อหน้าที่ 2 คุณจะเจอกับประโยคสะเทือนใจเล็กน้อยถึงปานกลาง ใจความประมาณว่า "แม้แต่รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ด้วยตัวของมันเอง ก็ยังการันตีประชาธิปไตยไม่ได้” แล้วจะนับประสาอะไรกับรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาไม่ให้มีประชาธิปไตยถูกไหมหล่ะ (ประโยคหลังเครื่องหมายคำพูดเป็นการตีความของข้าพเจ้าเอง)

สวัสดีวันศุกร์สุดสุขในเดือนแห่งความรักที่ประชาชนชาวไทย (รวมถึงชาวโลก) ของเรา ได้รับความบอบช้ำกันมาไม่มากก็น้อยจากสารพัดสารพันปัญหาระดับโลกถึงระดับครัวเรือน วันนี้เราก็เลยถือฤกษ์งามยามดีเนื่องในโอกาสที่อ่านหนังสือเล่มใหม่ไม่จบตามเป้า เลยไปหยิบหนังสือเล่มเก่ามาพูดคุยกันแทน

‘How Democracies Die’ แปลเป็นไทยว่า 'ประชาธิปไตยตายอย่างไร' เป็นหนังสือที่เราอ่านตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว แล้วก็ยังจำเนื้อหารายละเอียดภาพรวมได้ค่อนข้างชัดเจนอยู่เนื่องจากแม้บริบทจะอ้างอิงการเมืองสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่ความสอดคล้องและความเชื่อมโยงกับบริบทของการเมืองบ้านเราก็แทรกอยู่ตลอด หรือ อันที่จริง "นี่มันประเทศไทยชัดๆ เลยโว้ย”

ตามประสากึ่งๆ งานวิจัย เน้นรวบรวมข้อมูลเอามาเล่าให้คนอ่านฟัง หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยข้อมูล สถานการณ์ และประวัติศาสตร์อ้างอิงเยอะมากจากหลากหลายประเทศ มีไทยด้วยนะ (ยังต้องตกใจอีกหรอ ถามจริง) แต่ทุกอย่างล้วนมีเป้าหมายในการสะท้อนวิถีทางทำลายประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น

อ่านยัง

ถ้าประชาธิปไตยจะเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ก็คงกล่าวว่าเกี่ยวกับประชาชนอย่างที่สุด เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยก็เลยตายด้วยน้ำมือของประชาชนนั่นแหละ ด้วยประชาชนที่เต็มไปด้วยความหวังและไม่คิดว่า 'ผู้แทน’ ที่ตนเลือกจะหันมายึดอำนาจที่สู้อุตส่าห์ไว้ใจมอบให้ แต่ก็นั่นแหละนะ (แทบ)ไม่มีนักการเมืองคนไหนเผยธาตุแท้ตัวเองออกมาก่อนได้อำนาจทั้งนั้นแหละ

ทั้งนี้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ลองแนะวิธีดูนักการเมืองที่แอบซ่อนความกระหายในการยึดอำนาจประชาชนไว้ถึง 4 ข้อด้วยกัน โดยผู้เขียนแนะนำว่า จงพึงระวังนักการเมืองที่ (1) ปฏิเสธกฎแห่งเกมประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการกระทำ (2) ปฏิเสธความชอบธรรมทางกฎหมายของฝ่ายตรงข้าม (3) อดทนหรือสนับสนุนความรุนแรง และ (4) บ่งชี้ถึงความปรารถนาในการยับยั้งเสรีภาพของพลเมืองของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงการควบคุมสื่อด้วย

จำกันไว้นะ ครั้งหน้าจะได้ไม่โดนเขาหลอกเอาการเลือกตั้งมาบังหน้า แล้วยึดอำนาจทีหลังด้วยความชอบธรรม

ตามปกติของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเคารพในความคิดเห็นที่ขัดแย้งของแต่ละฝ่าย สะท้อนว่า อย่างน้อยที่สุด ต้องมี 2 ฝ่ายที่มีแนวความคิดไม่เหมือนกัน หรือไม่ถูกกัน หรือเรียกว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ได้ ง่ายดี ที่นี้บรรดาผู้ต้องการยึดอำนาจในคราบผู้ชอบธรรมภายใต้ความเป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องหาเครื่องมือ หรือ ผู้คน มาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง และไม่มีสิ่งไหนจะศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพรักยิ่ง เทิดทูนบูชา (จริงๆ จะให้สรรหาคำคุณศัพท์เพิ่มก็ได้นะ แต่พอเถอะ) เทียบเท่า 'กระบวนการยุติธรรม’ อีกแล้ว

โดยสิ่งที่เหล่าผู้กระหายอำนาจเบ็ดเสร็จทำคือการไปพากรรมการในการตัดสินเกมการเมืองมาอยู่กับตัวเองไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ก็ถ้าผู้ตัดสินเกมอยู่ฝั่งเราซะแล้ว ฝั่งตรงข้ามมันจะไปชนะได้ยังไงหล่ะ ถูกไหม นอกจากนี้ หนังสือยังแนะนำวิธีง่ายๆ ได้ผลเสมอ ในการกำจัดพวกที่อาจจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งของเหล่าผู้เป็นใหญ่เป็นโต ด้วยการ "ซื้อ” ใช่แล้ว ไม่มีอะไรง่ายดายไปกว่าการใช้เงินแก้ปัญหาหรอก ถ้าเงินมากพอ เหมือนเพลงของ 7 Rings ท่อนที่ร้องว่า "ใครก็ตามที่บอกว่าเงินแก้ปัญหาของคุณไม่ได้ ก็คงเพราะพวกนั้นมีเงินไม่พอนั่นแหละ” แต่ถ้าให้บังเอิญว่าศัตรูคุณดันรวยกว่า หรือรวยอยู่แล้ว วิธีนี้ก็เก็บเข้ากระเป๋าไปก่อนนะ แต่อย่าลืมสิว่ากรรมการอยู่ฝั่งไหน

นอกจากจะมีกรรมการแล้ว ให้ดีไปกว่านั้นต้องมีกติกาที่เขียนขึ้นมาใหม่ด้วย ให้เอื้อประโยชน์เหล่าผู้ที่อยากสร้างความชอบธรรมในการทำลายประชาธิปไตยของตัวเอง และอย่างที่บอกในย่อหน้าแรกว่า กติกาของประชาธิปไตย หรือ รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะดีแค่ไหน ก็มีช่องโหว่เสมอ เพราะทุกอย่างอยู่ที่การตีความ (ให้ตายเถอะ เรามีหนังสือเล่มนึงที่กำลังอ่านอยู่แต่ยังอ่านไม่จบเกี่ยวกับความสำคัญของภาษาและการตีความ เราอยากอธิบายให้ฟังมากว่า ไอการตีความ มันสร้างปัญหาให้โลกมากมายแค่ไหน) กลับมาๆ ทีนี้ การตีความมันอยู่ที่กรรมการตัดสินกติกาถูกไหม แล้วตอนนี้กรรมการอยู่ฝั่งไหนนะ คิดสิ

ต่อไป เปิดไปหน้า 113 ประโยคแรกนั่นแหละ "ประชาชนมักตระหนักได้ช้าว่าเกินไปว่าประชาธิปไตยกำลังถูกปลดเปลื้องลง แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของพวกเขานั่นแหละ”

ประชาชนหน่ะ รักประชาธิปไตยนะ แต่ว่า แต่ว่า ถ้าสถานการณ์มันคับขันหล่ะ ถ้ามันเกิดวิกฤตขึ้นมา แล้วต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเอาประชาธิปไตยแต่ประเทศไปไม่รอด (ไม่สงบสุข) หรือจะยอมหันหลังให้ประชาธิปไตยนิดนึง นิดเดียว (5 ปีได้) แต่ประเทศสงบสุขนะ เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ แต่ต่อไปยังไงไม่รู้ ค่อยว่ากันอีกที แต่ที่พูดมาทั้งหมด คือคำกล่าวอ้างนะ เราไม่รู้หรอกว่าถ้าเลือกประชาธิปไตยแล้วเศรษฐกิจมันจะพังหรือเปล่า แต่เรารู้ว่าเราจะมีประชาธิปไตยถ้าเลือกมัน แต่เพราะเราไม่ได้เลือกมัน

ช่วงจบของหนังสือ พูดไว้ชัดเจนมากแล้วว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ตายด้วยผู้นำทางการเมือง และก็ไม่มีผู้นำทางการเมืองคนไหนสามารถกอบกู้มันขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน เพราะประชาธิปไตยเป็นของส่วนรวม และชะตากรรมของมันขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน

ป.ล.สรุปประชาธิปไตยตายยังนะ ด้วยน้ำมือของพวกเราเองรึเปล่า … สวัสดี