ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจชี้ ชาวฟิลิปปินส์ 3 ใน 4 ต้องการให้สมาชิกรัฐสภาต่อใบอนุญาตให้กับ 'เอบีเอส-ซีบีเอ็น' (ABS-CBN) เครือข่ายโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ หลังจากรัฐสภาปฏิเสธต่อใบอนุญาตให้กับสื่อดังกล่าว ซึ่งการกระทำนี้ถูกมองเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ได้ลงมติเห็นชอบไม่ต่อใบอนุญาตดำเนินกิจการให้กับ 'เอบีเอส-ซีบีเอ็น' หนึ่งในสื่อยักษ์ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศซึ่งมีพนักงานราวๆ 11,000 คน และเข้าถึงผู้ชมชาวฟิลิปปินส์นับสิบล้านคน ซึ่งมติดังกล่าวถูกนักวิจารณ์และนักกิจกรรมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้แค้นทางการเมืองโดยพันธมิตรของประธานาธิบดี 'โรดริโก ดูแตร์เต' ในสภาคองเกรส หลังจากเครือสื่อยักษ์ใหญ่แห่งนี้เคยสร้างความไม่พอใจให้กับดูแตร์เตจากการไม่ออกอากาศโฆษณาหาเสียงของเขาเมื่อปี 2559 รวมถึงยังวิจารณ์โยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เตที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคนนับตั้งแต่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้นำฟิลิปปินส์เคยขู่ปิดเอบีเอส-ซีบีเอ็น มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย 

จากผลสำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศผ่านทางโทรศัพท์โดยสถาบันวิจัยทางสังคม 'โซเชียล เวทเธอร์ สเตชั่น' หรือ เอสดับเบิลยูเอส ระหว่างวันที่ 3-6 ก.ค. และเพิ่งถูกเผยแพร่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 75 ของชาวฟิลิปปินส์ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเห็นด้วยว่ารัฐสภาควรต่อใบอนุญาตเพื่อให้เอบีเอส-ซีบีเอ็น สามารถออกอากาศรายการต่างๆ ได้อีกครั้ง โดยในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม มีร้อยละ 10 ที่บอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ และร้อยละ 13 บอกว่าไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่าชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 56 เห็นด้วยว่าการไม่ต่อใบอนุญาตให้เอบีเอส-ซีบีเอ็น เป็นการทำลายเสรีภาพสื่อครั้งใหญ่ 

รายงานระบุว่าเมื่อมีการสอบถามความเห็นเกี่ยวกับผลสำรวจนี้ไปยัง 'แฮร์รี โรเก' โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ก็ได้รับการเปิดเผยว่าทางทำเนียบรับทราบผลสำรวจดังกล่าวแล้ว พร้อมระบุว่ารัฐบาลได้สูญเสียพันธมิตรสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลเมื่อมองว่าเอบีเอส-ซีบีเอ็น คือหนึ่งในเครือข่ายโทรทัศน์วิทยุที่เข้าถึงคนกว้างขวางที่สุด แต่ก็ย้ำว่าการให้ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นสิทธิของรัฐสภา 

แม้เสรีภาพสื่อได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่องค์กรฟรีดอมเฮาส์ได้จัดให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าว ข้อมูลจากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุว่านักการเมืองในท้องถิ่นมักจ้างมือปืนปิดปากสื่อโดยที่ผู้จ้างลอยนวลจากการรับผิดโดยสิ้นเชิง ส่วนเมื่อเดือนที่แล้วศาลฟิลิปปินส์ก็ได้ตัดสินให้ ‘มาเรีย เรสซา’ บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว 'แรปป์เลอร์' (Rappler) มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นความพยายามในการปิดปากสื่อดังกล่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนชี้ว่าฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 136 จาก 180 ประเทศ

อ้างอิง Reuters / CNN / BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: