ไม่พบผลการค้นหา
Talking Thailand - 'บิดาแห่งการยกเว้น' ยิ่งพูด ยิ่งสะท้อน พวกเดียวกัน 'เสียบบัตร' แทนได้ - Short Clip
Jan 24, 2020 14:44

รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563

นักวิเคราะห์ Talking Thailand ถึงกับร้อง โอ้โห! หลังฟัง “รองนายกฯ วิษณุ” ที่โลกโซเชียลขนานนาม “บิดาแห่งการยกเว้น” มองปมเสียบบัตรแทนกันให้ดูที่เจตนา ทั้งที่ ส.ส.รัฐบาล [กดบัตรลงคะแนน แต่ไม่อยู่ในสภา] ทุจริตในการลงมติชัดเจน จนอาจทำร่างกฎหมายงบฯ ล่ม เจ้าตัวยันมีทางออกเพียบ ทั้งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แถมมองถ้าใช้มาตรฐานนี้ตอน พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ป่านนี้มีไฮสปีดใช้แล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ต้องรอ 2 อย่างคือ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาผู้แทนราษฎร และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องรอผลตรวจสอบของสภาฯ ก่อน โดยบัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณี ได้แก่ แสดงตนและลงมติ ปัญหาคือมีการแสดงตนและกดลงมติหรือไม่นั้น การลงมติในวาระ 2 ร่าง พรบ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไป ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไร ว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมา เป็นการแสดงตน จากนั้น เด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ ถ้าตอนแสดงตนไม่มีการแสดงตน ตอนลงมติก็จะไม่เกิด หากเจ้าตัวไม่อยู่แล้ว บัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น 

ดังนั้น ต้องให้เขาตรวจสอบ เมื่อถามว่าบางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่า เจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่มีการฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้ ได้เท่าไรก็เท่านั้น

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีการใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่แน่ใจแม้จะได้ยินเรื่องนี้ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่ว่าผลสอบของสภาฯ จะออกอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จ ระหว่างนี้จะมีการลงมติอีกหลายครั้ง ต้องระมัดระวังไม่ให้ใครที่มีเจตนาร้าย หรือไม่ได้เจตนาร้ายแต่เลินเล่อ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ไม่ควรจะเกิดขึ้น ต้องป้องกันเมื่อถามว่ามีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทางออกของร่าง พรบ.งบประมาณฯแล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าทางออกมันมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เราจะได้รู้ว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไขเสีย วันนี้ความกังวลคือการล่าช้า แต่ถ้ากังวลว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงนั้นมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ จึงย้ำว่าไม่วิบัติ อย่างไรก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณได้เตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว พอดีพอร้ายเผลอๆ โครงการต่าง ๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก

เมื่อถามว่ารัฐบาลมีทางออกอยู่แล้วใช่หรือไม่ แต่ไม่มั่นใจจึงประสานวิปรัฐบาลให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ส่วนความจำเป็นเร่งด่วนนั้นศาลรัฐธรรมนูญรู้อยู่แล้วเพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเหมือนกับทุกคน ส่วนจะรวดเร็วแค่ไหนนั้น ก็ไม่ควรจะเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ร่าง พรบ.งบประมาณฯนั้น ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะเขากลัวสภาฯ แช่ไว้ แปรญัตติกันไปกันมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้น จึงเป็นความต่างอยู่ แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พรบ.งบประมาณฯ ที่เสนอในวาระที่ 1 ทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณฯ ตัดๆ ไปจะกลับไปสู่ร่างแรก

นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรา 143 ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยว่าร่าง พรบ.งบประมาณฯ เป็นโมฆะ รัฐบาลต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รับผิดชอบอย่างไร งบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog