ไม่พบผลการค้นหา
"สุดารัตน์" ขอนายกรัฐมนตรี สั่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.แก้เพิ่มเติมพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับของพรรคเพื่อไทย หากมีความจริงใจใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้ อย่างโปร่งใส ไร้ทุจริต เพื่อเปิดโอกาสให้มีกลไกการตรวจสอบได้

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า วันนี้ พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้เพิ่มเติมพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ลล. เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนในสภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบการใช้เม็ดเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ ให้เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ต่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

เป็นเงินกู้ที่จะเป็นภาระหนี้ของประชาชนยาวนานไปถึงชั่วลูกชั่วหลานรัฐบาล จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบและดูแลเม็ดเงินจำนวนนี้

เราจึงเสนอให้ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ 4 คน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเสนอของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คนและฝ่ายค้าน 2 คน รวม 4 คน ทำหน้าที่เหมือนกรรมการฯ ทุกอย่าง เว้นแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงมติ และให้รายงานการใช้เงินต่อสภา ทุก 3 เดือน และให้อำนาจ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อร้องขอข้อมูลการกู้เงินและการใช้เงินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้

ส่วน พ.ร.ก.เอสเอ็มอี ควรจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประกาศผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เราคิดว่าควรจำกัดไว้ว่าแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และทุกแห่งรวมกันต้องไม่เกิน 1 พันล้านบาท และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมตามคำนิยามในกฎหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาขอสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ได้อย่างแท้จริง

ส่วนกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลหรือกำลังจะเป็น อยากให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางเหล่านี้ยังสามารถมีลมหายใจต่อไปได้ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจเหล่านี้อาจจะต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก

ส่วนร่าง พ.ร.ก.ตราสารหนี้ เสนอให้มีคณะกรรมการผู้สังเกตการณ์ โดยเป็นผู้ทรงวุฒิที่เสนอจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างละ 2 คน ไม่มีอำนาจในการลงมติ หลักการคือหุ้นกู้ออกใหม่ที่รัฐจะเข้าไปช่วยซื้อนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 60 และควรจะมีการรายงานให้สภาฯ ทราบทุก 3 เดือนว่าการลงทุนที่ทำไปเป็นอย่างไร รวมถึงให้โอกาส ส.ส. และ ส.ว.1 ใน 5 เข้าชื่อขอข้อมูลรายละเอียดในการลงทุน เพื่อมิให้นำเงินจำนวนนี้ไปอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่บางรายอย่างไม่เป็นธรรม

ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มีความจริงใจที่ต้องการจะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้อย่างโปร่งใส ไร้ทุจริต และมีประสิทธิภาพจริงตามที่ได้ประกาศไว้ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุน พ.ร.บ.ที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะเสนอในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีกลไกการตรวจสอบการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลได้