ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยจากฮาร์วาร์ดระบุว่า หากอยู่ในเขตที่มีมลพิษทางอากาศสูง อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แม้บางพื้นที่จะยังมียอดผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ก็ควรเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุข

ฟรานเชสกา โดมินิชี ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันริเริ่มวิทยาศาสตร์ข้อมูลของมหาวิทยาลัย และทีมวิจัยค้นพบว่า อัตราการตายจากโควิด-19 สูงขึ้นในเขตที่คนเผชิญมลพิษทางอากาศสูงในระยะยาวของสหรัฐฯ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 1 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรในอากาศก็เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 15

งานวิจัยกำหนดว่า ระดับมลพิษในอากาศสูงในที่นี้คือ มีระดับฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหรัฐฯ ทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 8.4 ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2016 (พ.ศ. 2543-2559) จากนั้นจึงเทียบกับอัตราการตายจากโควิด-19 จนถึงวันที่ 4 เม.ย.

โดมินิชีเตือนว่า เขตที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงในช่วงที่ผ่านมาจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคระบาดนี้มากกว่าเขตอื่น แม้ปัจจุบันตัวเลขการเสียชีวิตในเขตนั้นจะยังไม่สูงก็ตาม แต่เธอก็มองว่า รัฐบาลกลาง มลรัฐ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นควรจะนำข้อมูลเหล่านี้ใช้ตัดสินใจมาตรการในการป้องกัน รวมถึงเตรียมโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขท้องถิ่นให้พร้อมรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจสูงขึ้นหรือมีอาการรุนแรงจนต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด เช่นใช้เครื่องช่วยหายใจ

เสี่ยวอู นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีวสถิติที่ร่วมเขียนงานวิจัยนี้กล่าวว่า พื้นที่ที่ยังมีอัตราการเสียชีวิตไม่มากควรต้องเตรียมตัว โดยเขตที่ระดับ PM2.5 ในอากาศสูงกว่า 13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและยังมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อย ควรมีการใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมที่เข้มงวดขึ้น และเตรียมโรงพยาบาลกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ 

อย่างไรก็ตาม วิจัยนี้ได้ออกมาเผยแพร่ก่อนที่จะมีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและยอมรับให้มีการตีพิมพ์ในนิตยสารทางวิชาการ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เริ่มมีมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาดเนื่องจากนักวิจัยต้องการจะนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการต่อสู้กับไวรัสนี้

แฮโรลด์ วิมเมอร์ ประธานสมาคมโรคปอดอเมริกัน ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ระบุว่า สหรัฐฯ มีปัญหามลพิษทางอากาศมายาวนาน ส่งผลให้อาการของโรคปอดย่ำแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงที่ปอดจะติดเชื้อส่งผลให้อาการหัวใจวายและเส้นเลือดอุดตัน และยังก่อให้เกิดมะเร็งปอดรายการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ด้าน ดร.จอห์น บาล์มส อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ระบุว่า การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลค่าเฉลี่ยของทั้งเขต หากมีข้อมูลระดับปัจเจกของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เช่น รู้ข้อมูลว่าคนนั้นสูบบุหรี่หรือไม่ ความดันสูง เบาหวาน หรือปัจจัยเสี่ยงอะไรหรือไม่ ก็จะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลน่าเชื่อถือขึ้น

นอกจากนี้ ดร.บาล์มส ยังแสดงความเห็นว่า ในเขตที่มีมลพิษทางอากาศสูง มักมีคนจนมากกว่า และมีคนจนที่เป็นคนผิวสีมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มนั้นอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก จึงควรใช้แผนที่เหล่านี้ในการมุ่งเป้าไปช่วยเหลือจุดที่ขาดแคลนทรัพยากร และช่วยเหลือด้านทรัพยากรในโรงพยาบาลที่คนจนผิวสีมักไปใช้บริการ

 ที่มา : CNN, Medrxiv