ไม่พบผลการค้นหา
ส่งครู 4 แสนคน เยี่ยมบ้านนักเรียน คัดกรองเด็กยากจนกว่า 2 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เข้าโครงการรับเงินอุดหนุน กสศ. เผย ปี 2562 จับมือ สพฐ – อปท.– ตชด. ให้ทุนนักเรียนเสมอภาค แก้เหลื่อมล้ำไม่น้อยกว่า 8 แสนคน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กล่าวว่า โครงการรณรงค์จดหมายลาครู ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องลาออกไปหารายได้ เป็นเสาหลักของครอบครัว 

โดยจากฐานข้อมูล กสศ. และกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาความยากจนและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่ไปโรงเรียน เช่น ความห่างไกลของสถานศึกษา ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอาหาร หรือมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

ในปีการศึกษา 2562 กสศ.ได้ขยายความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อขจัดอุปสรรคในการมาเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 510,000 คนในปีการศึกษาที่ผ่านมาเป็นประมาณ 800,000 คน

56470.jpg

นพ.สุภกร กล่าวว่า สิ่งสำคัญยิ่งกว่าเงินอุดหนุน คือ การเยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนที่สุดตามเกณฑ์ของกสศ. โดยในปีนี้ จะเป็นการรวมพลังของคุณครูทั้ง 3 สังกัด รวมแล้วกว่า 4 แสนคน ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพ เกิดผลยั่งยืนที่สุด และยังมีกระบวนการติดตามนักเรียน ที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80 ตลอดปีการศึกษา 2.น้ำหนักส่วนสูง การมีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อมั่นใจว่าเป็นการช่วยเหลือที่เด็กได้ประโยชน์อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษากับ กสศ. ได้ หากพบเห็นเรื่องราวของเด็กๆ เหล่านี้ สามารถแจ้งไปยังโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ รวมถึงสายด่วนกสศ. 020795475 กด 1

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 สพฐ. และ กสศ. ร่วมมือกันสำรวจและคัดกรองนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถช่วยบรรเทาอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ในการไปเรียน เพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนได้จำนวน 510,040 คน เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของ กสศ. ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15  

ขณะที่ โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 388 โรงเรียน อย่างไรก็ตามในปีนี้ สพฐ.ได้กำชับ ให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัด สถานศึกษา และคุณครูทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกหล่นอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายังมีนักเรียนกว่า 1 แสนคนที่น่าจะเข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุน แต่ไม่ได้รับโอกาสนี้

56469.jpg

นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ทุกวินาที หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ทันท่วงที ในช่วงเดือนกรกฎาคม ครูสังกัดอปท.จำนวน 377 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี นนทบุรี สระแก้ว ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และยะลา จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล - ม.ต้นจำนวนมากกว่า 120,000 คน เพื่อแก้ปัญหาได้เป็นรายคน ตามบริบทพื้นที่ได้อย่างแท้จริง โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทางกสศ.อำนวยความสะดวกให้  ทั้ง 10 จังหวัดนำร่องของ อปท. จะเป็นตัวแบบเพื่อขยายผลการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดอปท.ทั่วประเทศทั้งหมดในปีต่อไป

ด้านพล.ต.ต.วันชาติ คำเครือคง รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า นักเรียนในสังกัด กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) มีจำนวนทั้งสิ้น 26,552 คน จาก 218 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 78 โรงเรียน ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 52 โรงเรียน ภาคกลาง 46 โรงเรียน และภาคใต้ 42 โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และด้อยโอกาส จากนี้ครูในสังกัด ตชด. จะลงพื้นที่ เยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองอย่างรัดกุมให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่กำลังเดือดร้อนตามเกณฑ์ของกสศ. เงินอุดหนุนนี้แม้จำนวนไม่มากแต่อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ ทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ ความร่วมมือระหว่าง บช.ตชด. และ กสศ.จะไม่ใช่งานเฉพาะหน้า ระยะสั้นแต่จะเป็นการช่วยเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ในระยะยาว และมีความยั่งยืน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :