ไม่พบผลการค้นหา
พท.-อนค. อัดงบกองทัพ งบผูกพันไม่โปร่งใส ดูแลนายพลตำแหน่งพิเศษ เสนอลดขนาดกองทัพ ตัดงบมาพัฒนาประเทศด้านอื่น

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายงบกระทรวงกลาโหมว่า ขอตั้งสังเกตการจัดสรรงบประมาณกองทัพไว้ 3 ข้อได้แก่ 1. งบกระทรวงกลาโหมในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยเฉพาะโครงการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ 19 โครงการ วงเงิน 16,567 ล้านบาท ไม่มีการแสดงรายละเอียดการใช้งบประมาณต่างจากกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยที่ลงรายละเอียดลึกถึงระดับจังหวัด 2. การตั้งงบผูกพันของกระทรวงกลาโหมปี 2562-2569 ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพไทย ตั้งงบผูกพันไว้สูงถึง 87,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการสร้างหนี้ให้คนไทยล่วงหน้าในอนาคตถึง 7 ปี และ 3. สังคมให้ความสงสัยการจัดซื้ออาวุธของกองทัพว่าโปร่งใสเพียงใด 

ล่าสุด ป.ป.ช. ได้ประเมินความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า กระทรวงกลาโหมได้คะแนนต่ำสุดในเรื่องคุณธรรมและความโปร่งใส ตนขอยกตัวอย่างการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH 6I จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2557 ซาอุดิอาระเบียจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวในราคาลำละ 300 ล้านบาท แต่ประเทศไทยซื้อในปี 2562 ราคาลำละ 528 ล้านบาท แพงกว่ากันถึง 228 ล้านบาท ขณะที่กองทัพเรือจัดซื้อเรือลำเลียงพลมือ 2 จากสหรัฐฯ ในราคาลำละ 6,200 ล้านบาท ทั้งที่ราคาตลาดอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศไทยมีเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือลำเลียงพลอยู่แล้ว และยังใช้งานได้ดีอยู่ แสดงให้เห็นว่าใช้เงินโดยไม่มีความจำเป็น ควรเอาเงินไปแก้ปัญหาด้านราคาพืชผลการเกษตร การศึกษา สาธารณสุขจะเหมาะสมกว่า

ด้านนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการตรวจดูงบด้านความมั่นคงพบว่า มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าตอบแทนของนายพลที่มีตำแหน่งระดับสูง มากถึง 70% และมีเพียง 30% ใช้สำหรับงาน ขณะนี้ตำแหน่งนายพลมีจำนวนมาก เพราะมีการเพิ่มตำแหน่งพิเศษ คาดว่าจะมีค่าตอบแทนเดือนละ 7,000 ล้านบาท หรือปีละ 80,000 ล้านบาท สมัยนายชวน หลีกภัย และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ มีแนวคิดลดขนาดกองทัพ แต่ปัจจุบันมีการสวนทาง ตนเชื่อว่านโยบายด้านความมั่นคงมาผิดทาง และสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตอบให้หายข้องใจ

คือ ปัญหางบประมาณรั่วไหล ทั้งเรือเหาะตรวจการณ์ มูลค่า 350 ล้านบาท จอดมากว่า 8 ปี ขึ้นบินเพียง 20 เที่ยวแล้วตก, โครงการ GT200 นายกฯ ต้องชี้แจงให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเจอการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือน พ.ย. แน่นอน ขอเรียนด้วยความเคารพ ว่าบุคคลที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปคือ ผบ.ทบ. แต่วันที่ ผบ.ทบ. พูดเรื่องการแบ่งฝ่าย ถือว่าเป็นสิ่งที่แย่ แต่นายกฯ​ ให้ท้ายว่าดี ดังนั้นจะปล่อยให้ใช้งบประมาณสุรุ่ยยสุร่ายไม่ได้ ไม่ต้องซื้ออาวุธ แต่ควรเอาเงินดูแลเด็ก ให้ประชาชน โรงพยาบาลดีกว่า 

ขณะที่ พล.ท.พงศกร รอดชมพู ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงงบประมาณของกองทัพด้วยว่าหลังการรัฐประหาร พบการตั้งงบประมาณลักษณะเป็นงบผูกพัน ที่มีตัวเลขล่าสุด ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถใช้ได้ทัน คล้ายกับคนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ติดต่อกันหลายงวด ทำให้เงินล้น และไม่รู้จะนำไปใช้อะไร ซึ่งตนมองว่าหากตัดงบประมาณผูกพันของกระทรวงกลาโหมเพียง 10% จะสามารถจัดสรรให้กับกระทรวงที่ดูแลประชาชนได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น 

“ผมมองว่าการก่องบผูกพันตั้งแต่รัฐประหาร เพิ่มปีละ 1% เพราะรู้ว่าเมื่อมีรัฐสภาที่สามารถปรับลดงบประมาณได้ จึงพยายามทำงบประมาณผูกพันข้ามปี เหมือนเป็นราชาเงินผ่อน ล่าสุดตั้งงบผูกพันรวมแล้ว 1.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณที่ใช้ดำเนินการส่วนใหญ่ ใช้เพื่อก่อสร้างอาคาร ค่าเช่ารถยนต์ ผมมองว่าหากบำรุงรักษาตึกเก่าแทนสร้างตึกใหม่ จะมีงบประมาณเพื่อดำเนินการอื่นๆ ดังนั้นผมขอให้ออกแบบยุทธศาสตร์ของกองทัพให้มีภารกิจที่ชัดเจน ส่วน กอ.รมน. นั้นแม้มีภารกิจที่ชัดเจน แต่ได้รับงบประมาณน้อย อย่างไรก็ดีผมมีข้อเสนอเพื่อให้ใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ให้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาวิจัยให้เป็น 5% จากเดิมที่จัดสรร 0.5% และรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” พล.ท.พงศกร อภิปราย