ไม่พบผลการค้นหา
แนะผู้ประกอบการรับมือ 'ทางสี่แพร่ง' ธุรกิจยุคโควิด-19 "ช้าตาย เร็วตาย อ้วนตาย ประหยัดตาย" ชี้พลังการเลือกจะกลับไปอยู่ในมือลูกค้า แบรนด์อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป ต้องวัดกันที่ความคุ้มค่าของเงิน เตือนทำอะไรซ้ำๆ คือโศกนาฏกรรม

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ถูกยกให้เป็น New Normal ในยุคโควิด-19 แพร่ระบาดนั้น จะเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ส่วน New Normal ที่แท้จริงคือการใช้ระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์บังคับ

ด้วยธรรมชาติของมนุษย์คืออยากอยู่ใกล้ชิดกัน ฉะนั้นเมื่อใดที่มีวัคซีนคนจะกลับมากอดกัน หรือปฏิบัติต่อกันเหมือนเดิม ฉะนั้นการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงไม่ใช่ New Normal ที่แท้จริง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ สถานการณ์บังคับให้เราวิ่งเข้าสู่ 4.0 หรือที่เรียกว่า disruption ทุกคนถูกบังคับให้ดิจิทัลเข้ามาเป็นวิถีชีวิต โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ทำให้เกิดการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation เร็วกว่าที่ควร 

เมื่อดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลในภาคธุรกิจมากขึ้น พลังการเลือกจะกลับไปสู่ลูกค้า เทียบกับสมัยก่อนเราไม่มีทางเลือก ป้าร้านอาหารหน้าบ้านจะบูดบึ้งอย่างไรเราต้องกินของเขา เราจะไม่ทะเลาะกับป้า ทั้งที่กระเพราของป้าอาจจะไม่อร่อยที่สุด แต่ตอนนี้เรามีดิจิทัลอยู่ในมือ มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถสั่งอาหารได้ เราสามารถสั่งกะเพราจากสมุทรปราการมากินได้โดยที่ไม่ต้องง้อป้า คู่แข่งป้าก็จะไม่ใช่ร้านอาหารที่มันอยู่รอบตัว แต่คือกลุ่มธุรกิจเดียวกันทั้งกรุงเทพและปริมณฑล 

"การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น แล้วลูกค้าก็จะมีสิทธิเลือกมากขึ้น ช่วงโควิดเป็นคอร์สภาคบังคับที่เราต้องเสิร์ชตลอดเวลา วันนี้จะกินอะไรดี วันนี้จะสั่งอะไรดี ลูกค้าเริ่มเห็นความสำคัญของการลำดับข้อมูล อำนาจการเลือกจะไปอยู่กับลูกค้า ลูกค้าก็จะเลือกมากขึ้น ธุรกิจที่ไม่ดีก็จะตายเร็ว ธุรกิจที่ดีที่คุ้มค่าต่อราคาก็จะไปต่อได้ ลูกค้าเป็นคนคัดสรร ตรงนี้เป็นประชาธิปไตยในการเลือก เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีสิทธิเลือกข้อมูลที่ครบถ้วนขึ้น ฉะนั้นธุรกิจก็ต้องปรับตัว" เกียรติอนันต์ กล่าว

แบรนด์อาจไม่สำคัญเท่าความคุ้มค่าของเงิน

พร้อมกับให้ความเห็นว่า ในอดีตเราบอกว่าแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันอาจไม่สำคัญกับสินค้าบางประเภท มีผู้ประกอบการหลายรายที่เติบโตด้วยการไม่มีแบรนด์แต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าตัวเองมีคุณภาพ ฉะนั้นหลังจากนี้จะเป็นธุรกิจสองโลก โลกของทุนเก่าหรือแบรนด์จะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ กับโลกที่เกิดขึ้นใหม่ที่วัดจากความคุ้มค่าของเงิน ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวตรงนี้และต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารให้ดียิ่งกว่าเดิม

สำหรับทิศทางธุรกิจในอนาคต เกียรติอนันต์ กล่าวว่า คงไม่ใช่เพียงแค่ขายเก่งหรือวางคอนเทนต์เป็นแล้วจะขายของได้ แต่จะต้องมีลูกค้ากลุ่มเฉพาะที่สนใจสินค้า ซึ่งความเฉพาะดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณากันอีกว่าเฉพาะขนาดไหน เช่น เมื่อก่อนขายอาหารแมวให้เฉพาะคนเลี้ยงแมว แต่ทุกวันนี้จะทำคอนเทนต์ขายอาหารแมวเฉยๆ คงไม่พอ มันต้องเจาะจงไปว่าแมวพันธุ์อะไร หรือในอนาคตไม่แน่ใจว่าต้องระบุถึงขั้นเพศอะไรด้วยหรือไม่ นี่คือการลึกลงไปเพื่อจับตลาดให้ได้ 

"นี่คือสิ่งที่ผมห่วงมากคือธุรกิจตอนนี้เกินครึ่งหนึ่งที่ทำอะไรซ้ำๆ กัน การแห่ตามกันมันจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ พอขายไม่ได้ก็จะเกิดการตัดราคา สุดท้ายก็จะกินเข้าเนื้อหมด มันก็จะไม่โต นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด" เกียรติอนันต์ กล่าว

ปรับตัวช้าตายไว เร็วไปก็ตายก่อน

อีกทั้งภาคธุรกิจยุคหน้าเป็นยุคที่ช้าตาย คือทำอะไรช้ากว่าชาวบ้านตาย แต่เร็วก็ตาย คือคิดไม่ดีก่อนก็ตาย อ้วนก็ตาย อุ้ยอ้ายแบกต้นทุนไว้เยอะก็ตาย และถึงประหยัดเกินไปคุณภาพไม่ดีก็ตาย ทางตายมันมีสี่แพร่ง ธุรกิจต้องสมดุลให้ได้ว่าฉันจะอยู่ยังไง เพราะคนที่ขายของคนแรกไม่ใช่คนที่ขายของได้ดีที่สุด พฤติกรรมลูกค้าคือเขาจะรอคนต่อๆ ไป ชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิด commercial speed ลูกค้าจะมองจนครบสิ่งที่ต้องการ ไม่ต้องช้าแต่ไม่ใช่อืดเป็นเรือเกลือ

สำหรับทางรอดของคนหรือนักศึกษาหลังจากนี้คือ ต้องค้นหาตัวเองให้พบ เพราะยุคต่อไปเป็นยุคที่เราใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานสร้างอาชีพได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเหมือนคนอื่น ที่สำคัญคือหาตัวเองให้พบแล้วฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองชอบให้ถึงที่สุด 

อ.เกียรติอนันต์ 1.jpg
  • เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.