ไม่พบผลการค้นหา
"สมลักษณ์ - วีระ - ณัฐพงษ์" ชี้ในยุค คสช.การเมืองแทรกแซง ป.ป.ช. จนหมดความน่าเชื่อถือ แนะต้องมีกระบวนการสรรหาใหม่ ยึดโยงประชาชน ด้าน " ส.ส.ก้าวไกล" เสนอ open government เปิดข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ทำให้คนโกงกลัว

กลุ่ม New Consensus Thailand จัดการเสวนาในหัวข้อ "องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี?" โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุย ประกอบด้วย นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอรัปชัน, และ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพ เขตบางแค พรรคก้าวไกล

"สมลักษณ์" หนุนประชาชนเลือกตั้ง ป.ป.ช.โดยตรง

นางสมลักษณ์ กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเริ่มต้นมาตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาฯ 2516 ถ้าเราย้อนไปดูก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีเหตุผลหนึ่งคือมีการทุจริตเกิดขึ้นมากจึงต้องเข้ามาจัดการ แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่าทุกคณะรัฐประหารต่างก็มีปัญหาการทุจริตเช่นกัน เรามักจะพบเสมอว่าบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังลงจากอำนาจ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้มีการตั้งองค์กรขึ้นมาคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ป.) ขึ้นมา ต่อมาจึงมีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540

แต่ปัญหาคือที่มาของกรรมการสรรหา มีการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายบริหารมากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน ในที่นี้ต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนสำคัญมาก แต่ส่วนตนที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน เห็นว่าแม้นักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลเข้ามายุ่งกับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถ้าตัวกรรมการไม่ยุ่งด้วย ไม่เปิดทางให้ การเมืองก็เข้ามายุ่งไม่ได้ ดังนั้น ตัวกรรมการก็มีความสำคัญ ถ้าใจแข็งเขาก็ยุ่งกับเราไม่ได้ ป.ป.ช.ต้องทำงานตามกฎหมาย ถ้าพยานหลักฐานมันไปไม่ถึงเราก็ไปกล่าวหาเขาไม่ได้ เราต้องธำรงความยุติธรรม ตายก็นอนตาหลับ

"เรื่องสำคัญ คือเราจะทำอย่างไรที่จะได้ผู้มาดำรงตำแหน่งที่เป็นคนดี ประเด็นก็คือ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพราะฉะนั้น จะเกี่ยวข้องกับรัฐไม่ได้เลย การที่เราจะได้กรรมการในองค์กรอิสระที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่กรรมการสรรหา ในรัฐธรรมนูญปี 40 กรรมการคัดสรรประกอบด้วยประธานศาล, อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน, และมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีผู้แทนในสภา เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน รวม 15 คน แต่ตอนนี้เรามีประธาน 3 ศาล ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน รวมแค่ 5 คน แต่ส่วนตัวคิดว่าทำไมเราไม่เลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกเลยทั้งหมด จนมีคนแย้งมาว่าให้ประชาชนเลือกเข้ามาไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบสภาผัวเมียขึ้นอีก แต่ส่วนตัวก็คิดว่าแล้วถ้าครอบครัวนี้เป็นคนดีทั้งครอบครัว ประชาชนเลือกเขามาแล้วทำไมจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าให้ประชาชนเลือกจะสวยงามมาก ไม่ได้มาจากคนมีอิทธิพล คนที่มาตรวจสอบอำนาจของรัฐจะให้คนของรัฐเลือกได้อย่างไร ไม่ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ” สมลักษณ์ กล่าว

สมลักษณ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งในอดีตกระบวนการตรวจสอบถอดถอน ป.ป.ช.เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ต้องรวมรายชื่อประชาชนไปยื่นที่สภา แต่ว่าการตรวจสอบวันนี้ ศาลฎีกาได้วางแนวทางไว้แล้วว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ ป.ป.ช.สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับศาลฎีกาได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่ศาลฎีกาได้ชี้ช่องเอาไว้แล้ว

"วีระ" อัด ป.ป.ช.ปัดตกทุกคดี ประวิตร-คสช.ทุจริต ท้าทายสังคม

นาฬิกา.jpg

ด้าน นายวีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ค่อยเห็นผลงาน ป.ป.ช.ที่เป็นโบว์แดง บางคนอาจจะบอกว่าคดีที่ ป.ป.ช.ตัดสินชี้มูล ดร.ทักษิณ ชินวัตร หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความสำเร็จ แต่ในความเห็นของตนยังไม่จัดว่าเป็นโบว์แดง เพราะในความรู้สึกของประชาชน เขามองเป็นเรื่องการเมือง เป็นการตัดสินลงโทษเพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่

ที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีล่าสุด นาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คนเขามองเป็นการเมืองหมด ประชาชนจะให้การยอมรับหรือจะให้ความเชื่อถือศรัทธาการทำงานของ ป.ป.ช.จะต้องไปดูว่าเจตนารมณ์ของการให้มี ป.ป.ช.เพื่ออะไรในอดีตเรามี ป.ป.ป.แต่ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าเป็นเสือกระดาษ เพราะไม่มีผลงานจริงๆ ไปอยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มาจนถึง ป.ป.ช.วันนี้ก็ยังถูกมองว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยว ความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.จะมีได้ต้องปลอดการเมือง ไม่มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีการเมืองเข้ามาตลอด โดยเฉพาะในระยะหลังยิ่งชัด นับจากวันที่ คสช.เข้ามามีอำนาจ

"ผลงานที่ออกมาประชาชนไม่ยอมรับเลย โดยเฉพาะคดีหลังๆ มา ทุกเรื่องที่คนใน คสช.ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.ปัดตกหมด ไม่เคยรับไว้ไต่สวนเลย ผมเป็นคนที่ยื่นมากที่สุดคนหนึ่ง ป.ป.ช.ตีตกหมดไม่ว่าเรื่องนาฬิกา เรื่องจงใจแจ้งบัญชีทรัพยสินหนี้สินเป็นเท็จ เรื่องความร่ำรวยผิดปกติของ พล.อ.ประวิตร ที่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังอยู่ในชั้นตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นอยู่เลย ซึ่งเรื่อง พล.อ.ประวิตรนี้ท้าทายสังคมมาก ถึงขนาดบัญญัติศัพท์ใหม่ ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ป.ป.ช. ในเรื่องของการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือความร่ำรวยผิดปกติและความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน เดี๋ยวนี้ไปไกลมาก เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต่อไปจะไม่มีคนที่จะผิดแล้ว จะผิดเฉพาะคนที่เขาอยากให้ผิด ใครก็ตามที่ไม่ใช่พวกเขา ถ้าใครเป็นพวกเขาก็จะไม่ผิด” นายวีระกล่าว

นายวีระ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นแบบนนี้มันจะทำลายศรัทธาและความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.ในที่สุด มีหลายคนมาถามตนว่าล้ม ป.ป.ช.ไปเลยดีไหม ตนแย้งว่าไม่ได้ ถ้าจะไม่มี ป.ป.ช.เราจะใช้ใครมาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชันของประเทศ เราต้องแก้ที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ตัวองค์กร ตัวบุคคลที่เข้าไปเป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ต่างหากที่เป็นปัญหา การได้คนไม่ดี ไม่ทำตามกฎหมาย ไปบิดเบือดกฎหมายต่างหากที่ทำให้เกิดความเสียหาย มันมีวิธีแก้ไขอยู่ ที่เราต้องมาคิดกัน ที่สำคัญสังคมและประชาชนต้องแสดงออก คนที่รักษากฎหมายถ้าทำตัวไม่ดีแล้วประชาชนพากันเพิกเฉย ปล่อยปะละเลย มันจะไปกันใหญ่ แต่ถ้าสังคมไม่ยอม ลุกขึ้นมาพร้อมๆ กันคนพวกนี้ก็จะอยู่ไม่ได้

"ณัฐพงษ์ ก้าวไกล" ชูโมเดล "หุ่นไล่กา" ทำ open government ให้ประชาชนเข้าถึงได้

timeline_20200704_163252.jpg

ขณะที่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการตรวจสอบก็คือการทำให้โปร่งใส โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องมาคิดกันว่าจะปรับปรุงอย่างไร ทำให้ตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น สิ่งที่เราเรียกร้องคือ open government หรือ open data คือการเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงดูได้ ทุกวันนี้รัฐอ้างว่ามีการเปิดเผยอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมันเปิดเผยในรูปแบบของข้อมูลที่เครื่องไม่สามารถอ่านออกได้ การเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่แค่การเปิดสัญญาจ้างเป็นไฟล์ .pdf แล้วจบ การเปิดเผยข้อมูลต้องอยู่ใน format เดียวกันที่ทุกคนอ่านได้ ข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ขั้นตอนการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมดถ้าอยู่ใน format เดียวกันที่อ่านได้ การตรวขสอบจะง่ายขึ้นและวัดผลได้มากขึ้น ปัจจุบันเรามีโปรแกรมนี้อยู่แล้ว แต่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐกันเองและไม่เปิดเผยให้ประชาชน สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเห็น ทุกคนเข้าไปช่วยกันตรวจสอบได้

"การเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นวิธีการที่จะทำให้นักการเมือง ข้าราชการ มีความกลัวมากขึ้น ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการออกระเบียบ สร้างอุปสรรคต่างๆ ที่มีความซับซ้อนเกินพอดี เหมือนเอาตาข่ายไปดักนก แต่นกก็หาทางบินอ้อมไปได้อยู่ดี สิ่งที่นกกลัวไม่ใช่ตาข่าย แต่กลัวคนเขาถึงทำหุ่นไล่กาไว้ไล่นก เช่นกัน ถ้าเราทำให้คนโกงรู้สึกว่ามีคนเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เปิดเผยข้อมูลให้คนทั้งประเทศเอาไปตรวจสอบได้ คนโกงจะกลัว ทำอะไรได้ยากขึ้น ผมเชื่อว่านี่ป็นเครื่องมือที่จะป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยึดในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่ต้องทำให้ทุกคน check and balance กันได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดกลไกกระบวนการตรงนี้ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบถอดถอนองค์กรอิสระได้ ถ้ามีคนบิดเบือนกฎหมาย ต้องมีช่องทางให้ประชาชนข้าไปแก้ไขตรงนั้นได้

นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทุกวันนี้ตนเหนื่อยหน่ายมากเวลาภาครัฐเปิดเผยข้อมูลออกมา โดยให้มาเป็นกระดาษแล้วให้ประชาชนมานั่งตรวจเอง ประชาชนจะตั้งใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้นถ้าภาครัฐทำให้มันง่ายขึ้น และนี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากเข้าไปผลักดัน ทำให้เกิดการเผิดเผยข้อมูลในลักษณะที่อ่านง่ายและประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

อ่านเพิ่มเติม