ไม่พบผลการค้นหา
เวทีวิชาการอุบัติเหตุโลก เผยพลัดตกหกล้มรั้งอันดับสอง สูญเสียชีวิตมากกว่า 1,000 รายต่อปี รองจากอุบัติเหตุทางถนน

เวทีประชุม Safety 2018 ชี้ไทยเผชิญความท้ายในการลด เจ็บ - ตาย เผย 2 ปัจจัย “อุบัติเหตุทางถนน” และ “พลัดตกหกล้ม” ต้องเร่งวางมาตรการลดความสูญเสีย แนะมาตรการ “โฮม เซฟตี้” - “ออกกำลังกาย” เพิ่มความสามารถในการทรงตัว ตามรอย ญี่ปุ่น - จีน รับสังคมสูงอายุ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การตายจากโรคไม่ติดต่อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ภายในงานประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาและความท้าทาย ในการลดและป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1. อุบัติเหตุทางถนน ที่แม้ว่าทุกหน่วยงานจะร่วมวางมาตรการต่างๆ แต่ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คน ต่อประชากร 100,000 คน 


E2F5B0CD-D975-44EC-9081-4B98C1E7D807.jpeg


และ 2. การพลัดตกหกล้ม โดยจากสถิติปี 2560 ของ สพฉ. พบว่าสายด่วน 1669 มีผู้แจ้งให้รับผู้สูงอายุถึง 100,000 ครั้ง และมีเสียชีวิต 6,000 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มของการตายจากการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจรองจากอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่ภาพรวมทั่วโลกพบว่ามีผู้ประสบเหตุไม่ต่ำกว่า 600,000 กรณี และเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 3 ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการวางมาตรการต่างๆ เพื่อลดและป้องกันความสูญเสีย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงอายุ หากไม่เร่งดำเนินการอย่างเป็นระบบจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตประชาชน เพราะนอกจากการเสียชีวิตแล้วยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ของความพิการ อัมพฤกษ์อัมพาต และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด กระทบต่อภาระงานด้านสาธารณสุขและก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในระยะยาว

“เนื่องจากการพลัดตกหกล้มเกิดขึ้นภายในบ้านเป็นหลัก ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงที่พักอาศัยให้ปลอดภัย หรือ โฮม เซฟตี้ โดยเฉพาะในจุดที่มีพื้นต่างระดับ เช่น บันได ต้องมีราวจับที่มั่นคง ระยะความกว้างและความชันต้องเหมาะสม ห้องน้ำพื้นควรเรียบเสมอกันไม่ลื่น ใช้ชักโครก และหากมีราวจับ จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว” นพ.อนุชา กล่าว

สอดคล้องกับ นพ.อิซูมิ คอนโดะ (Izumi Kondo) แพทย์ผู้เชี่ยชาญสำนักเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การพลัดตกหกล้มกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ส่งผลให้การบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตอันมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการตายจากอุบัติเหตุทางถนนที่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น มาตรการสำคัญนอกเหนือไปจากการการทำที่พักอาศัยให้ปลอดภัย เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ขณะเดียวกันครอบครัวและชุมชนยังมีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลช่วยเหลือและเฝ้าระวังด้วย นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มาช่วยฝึกการทรงตัวในผู้สูงอายุด้วย ซึ่งผลปรากฎว่าประชาชนมีวินัยและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

FF0B9CB5-7907-476F-B150-B9BE1864B733.jpeg

ด้าน นางสาวดวน ลี่ลี่ (Duen leilei) ผู้เชี่ยวชาญสำนักโรคไม่ติดต่อ ประเทศจีน กล่าวว่า เนื่องจากประเทศจีนมีผู้สูงอายุจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงให้ความสำคัญกับการลดและป้องกันการพลัดตกหกล้ม โดยมีการทำวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 1,500 คน ด้วยการออกกำลังกาย “ปาต้วนจิ่น” หรือศิลปะการยืดเส้นแบบจีน พบว่า การออกกำลังกายเพ่ิมสมรรถนะการทรงตัว ช่วยลดการพลัดตกหกล้มและการบาดเจ็บในผู้สูงอายุลงได้ โดยพบว่ามีความแตกต่างกันในช่วงระยะของการฝึก ผู้ที่ไม่ฝึกเลยจะทรงตัวต่ำกว่าผู้ที่ได้รับการฝึกฝนในระยะเวลา 3 เดือนถึง 2 เท่า และต่ำกว่าผู้ฝึกระยะ 6 เดือนถึง 3 เท่า

1FC15CD8-9E15-42F9-BA6E-08D03A0570F5.jpeg