ไม่พบผลการค้นหา
เหตุฆาตกรรมในหนังบางเรื่องอาจไม่โหดร้ายเท่ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ ซึ่ง Wind River (ชื่อไทยคือ 'ล่าเดือด เลือดเย็น') ก็เป็นหนังเรื่องหนึ่งในจำนวนนั้น

'วินด์ ริเวอร์' เป็นหนังฟอร์มไม่ใหญ่ของผู้กำกับ 'เทย์เลอร์ เชอริแดน' ซึ่งเพิ่งกำกับหนังเต็มตัวครั้งแรก หลังจากที่เขียนบทภาพยนตร์มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ (Sicario และ Hell or High Water) และหนังสามารถคว้ารางวัล Un Certain Regard จากการเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ของฝรั่งเศสเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

เนื้อหาของ 'วินด์ ริเวอร์' เกี่ยวกับการสอบสวนสาเหตุการตายของเด็กสาววัย 18 ปี เชื้อสายอาราปาโฮ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอเมริกา ซึ่งถูกพบเป็นศพอยู่กลางหิมะ ห่างไกลที่พักอาศัยในเขตสงวนอินเดียน 'วินด์ ริเวอร์' ในไวโอมิงส์ของสหรัฐฯ และพบร่องรอยว่าเธอถูกข่มขืน รวมถึงแผลที่ศีรษะที่เกิดจากการกระแทกของแข็ง

หนังถูกจัดอยู่ในหมวดฆาตกรรมและสืบสวนสอบสวน เรื่องราวจึงพุ่งเป้าไปที่การค้นหาความจริงที่ทำให้เด็กสาวเสียชีวิต ก่อนจะได้พบกับความเลือดเย็นของกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว การเพิกเฉยต่อความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และความไม่เป็นธรรมของระบบที่ถูกกำหนดโดยคนผิวขาว ซึ่งทำให้ลูกหลานของชนพื้นเมืองอเมริกันถูกปล้นโอกาสในชีวิตไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า 

ตัวละครสำคัญ คือ 'เจน แบนเนอร์' (แสดงโดยเอลิซาเบ็ธ โอลเซน) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอสหรัฐฯ เป็นหญิงสาวหน้าใหม่ ไม่มีประสบการณ์ภาคสนามอะไรมากนัก เห็นได้จากที่เธอยอมรับกับตำรวจประจำเผ่าและนายพรานที่เป็นผู้พบศพตรงๆ ว่าไม่รู้จะเริ่มต้นแกะรอยการเสียชีวิตที่ผิดปกตินี้ได้อย่างไร และเหตุผลที่ถูกส่งมารับผิดชอบคดีนี้เป็นเพราะเธอคือคนที่อยู่ใกล้กับเขตสงวนมากที่สุด

การส่งเจนมาสืบคดีทำให้เห็นได้ว่าการตายของเด็กสาวชาวอาราปาโฮอาจไม่ใช่คดีสำคัญนักในสายตาของเอฟบีไอที่มากประสบการณ์ เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ผู้กำกับจงใจใส่ไว้ท้ายเรื่องว่า "แม้จะมีการเก็บบันทึกสถิติคนหายในกลุ่มประชากรทั่วสหรัฐฯ แต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลสูญหายของประชากรพื้นเมืองอเมริกันเอาไว้เลย"


18558737_1823001088017794_6667479388369591624_o.jpg

ประโยคท้ายเรื่องได้รับการยืนยันจากผู้กำกับผ่านบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ใน Newsweek ว่าเขาต้องการอ้างอิงสถิติสูญหายของผู้หญิงพื้นเมืองอเมริกันลงไปด้วย แต่หลังจากนักกฎหมาย 2 คนไปค้นหาสถิติอยู่นานหลายเดือนก็ยังไม่พบข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ และข้อเท็จจริงที่พบก็สะเทือนใจไม่แพ้ชะตากรรมของตัวละครในหนัง

คนดูจะได้รู้ตั้งแต่ต้นว่า 'คอรี แลมเบิร์ต' (แสดงโดยเจเรมี เรนเนอร์) ผู้พบศพคนแรก เป็นนายพรานนักแกะรอยซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานสัตว์ป่าและประมง และเขารู้จักดีว่าเด็กสาวคนดังกล่าวคือใคร เพราะเขาเป็นเพื่อนกับพ่อของผู้ตาย ทำให้เขารับปากจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่หน้าใหม่อย่างไม่ลังเลใจ ก่อนที่หนังจะค่อยๆ เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าคอรีก็มีเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้เขายอมช่วยสืบคดี และเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความตายของลูกสาวคนโตของเขาที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อนหน้านี้

การแกะรอยเงื่อนงำของคดีมีฉากหลังเป็นบรรยากาศในเขตสงวนวินด์ ริเวอร์ ซึ่งถือว่าหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ เพราะภูเขาและที่ราบในเขตสงวนแห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยหิมะหนาสุดลูกหูลูกตา และบางทีก็มีพายุหิมะตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เรื่องราวในหนังดูขาวหม่นๆ ไม่เข้ากับบรรยากาศเดือนธันวาคมที่หลายคนเริ่มตั้งตารอเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีสักเท่าไหร่ แต่หนังก็มีประเด็นน่าสนใจที่ไม่ควรจะถูกมองข้าม 

ขณะที่ฉากเปิดของหนัง มีภาพธงชาติสหรัฐฯ กลับหัวถูกชักขึ้นบนยอดเสา และเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเขตสงวนวินด์ ริเวอร์ ได้เป็นอย่างดี เพราะธงกลับหัวเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ร้ายแรงที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่กรณีของวินด์ ริเวอร์ จะเห็นได้ว่าดินแดนแห่งนี้ไม่มีใครผ่านมาสนใจนานแล้ว เพราะสภาพเสื่อมโทรมของบ้านเรือนนั้นหนักหนาพอๆ กับความรู้สึกเปล่าประโยชน์และไร้โอกาสในชีวิตของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว 

แม้หนังจะไม่ได้บอกอะไรมากนัก แต่ก็มีการพูดถึงกฎหมายสหรัฐฯ ที่กำหนดขอบเขตการอยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ลูกหลานชาวอาราปาโฮที่เติบโตมาในเขตสงวนไม่มีหนทางประกอบอาชีพอื่นใดมากนัก ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี อาชีพที่เห็นในหนังเรื่องนี้จึงมีแค่ปศุสัตว์ นายพราน และตำรวจประจำเผ่า ที่เหลือก็เป็นพ่อค้ายาเสพติดที่ติดยาเสียเองด้วย 

อีกอาชีพที่เห็นคือพนักงานในแปลงสัมปทานขุดเจาะเชื้อเพลิงของรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่าจะจ้างแต่คนนอกพื้นที่ และคนเหล่านี้ก็สาปส่งความหนาวเย็นกับความว่างเปล่าไร้สิ่งบันเทิงใจของวินด์ ริเวอร์เช่นเดียวกัน ตอนหนึ่งของหนังจึงได้เห็นคอรีตอกย้ำกับคนต่างถิ่นว่า 'ดินแดนที่ไม่มีใครอยากอยู่' แห่งนี้ คือดินแดนที่ลูกหลานชนพื้นเมืองดั้งเดิมถูกคนผิวขาวผู้รุกราน 'บังคับ' ให้ต้องอยู่กันมาจนปัจจุบัน

ปมที่คลี่คลายในตอนท้ายของหนังจึงอาจจะไม่โหดร้ายเท่ากับความเป็นจริงที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันในสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ และผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีทางออกอะไรให้ เพราะเจ้าตัวบอกเองในบทสัมภาษณ์ว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของผู้กำกับหนังที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาสังคม" และ "ไม่มีใครอยากเสียเงิน 15 ดอลลาร์เพื่อมาดูหนังเทศนาหรอก" 

แต่สุดท้ายผู้กำกับก็ยอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่เขาคาดหวังจากการทำหนังเรื่องนี้ก็คือ-มันอาจจะจุดประกายให้คนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวว่าควรจะเป็นอย่างนี้ต่อไปจริงหรือ?

คำพูดหนึ่งของคอรีที่บอกกับเจนก็คือว่า "สิงโตไม่ได้ฆ่ากวางที่โชคร้าย แต่มันฆ่ากวางตัวที่อ่อนแอ" 

การจะอยู่ได้ในโลกป่วยๆ ก็คือต้องเข้มแข็ง ต้องสตรอง ไม่ต้องถึงขั้นลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก แต่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสถานการณ์อันโหดร้ายและยากลำบาก และถ้ารอดมาได้ จะยื่นมือไปช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็อาจจะทำให้โลกโหดร้ายน้อยลงกว่าเดิม


WR-1.jpg

บทความ Why Are Indian Reservations So Poor? A Look At The Bottom 1% ในเว็บไซต์ฟอร์บส์ตั้งคำถามว่า "ทำไมประชากรในเขตสงวนอเมริกันที่คิดเป็น 1% ของประชากรกว่า 325 ล้านคนของสหรัฐฯ ถึงได้ยากจนและไร้การศึกษา" ซึ่งเหตุผลหนึ่งในบทความระบุว่า เป็นเพราะ 'กฎหมายไม่เป็นธรรม' เนื่องจากชาวพื้นเมืองอเมริกันที่อยู่ในเขตสงวน 'ไม่มีสิทธิ์' ถือครองที่ดิน ทำให้ผู้คนขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาต่อยอดใดๆ หรือต่อให้ต้องการลงทุนพัฒนาท้องถิ่นขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมกับสถาบันการเงินได้ ส่วนกิจการต่างๆ ก็ไม่อยากเสี่ยงลงทุนในเขตสงวน เพราะประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่า ทำให้ไม่มีการสร้างงานในพื้นที่ และผู้ที่ย้ายออกจากเขตสงวนก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยเพิ่มเติม

ส่วนรายงานของเดอะการ์เดียนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุด้วยว่า ชาวพื้นเมืองอเมริกันมากกว่า 75% ไม่ได้อยู่ในเขตสงวนอีกต่อไป แต่ถูกย้ายมาอยู่ในเขตเมือง เป็นผลพวงจากนโยบายย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ.1950 ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ลูกหลานชนพื้นเมืองย้ายถิ่นฐานเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมเมือง และกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคม แต่การบังคับให้คนที่มีแนวคิดและวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาตลอดให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้ากับสังคมสมัยใหม่เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีทักษะการอยู่รอดในเมือง ไม่ได้รับการศึกษาในระบบมาตั้งแต่ต้น จึงขาดความรู้ที่จะแข่งขันกับคนอื่นๆ ส่วนเด็กพื้นเมืองอเมริกันหลายคนในยุคนั้นก็ถูกพรากจากญาติมิตรและถูกส่งไปให้ครอบครัวคนผิวขาวเลี้ยงดู ทำให้ถูกตัดขาดจากสังคมเดิมอย่างสิ้นเชิง

ผลจากนโยบายที่ไม่เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ลูกหลานชาวพื้นเมืองอเมริกันได้รับผลกระทบทั้งทางสังคมและจิตใจ เพราะต้องเติบโตขึ้นท่ามกลางความแปลกแยกทางวัฒนธรรม และหลายคนไม่อาจเรียนต่อจนจบการศึกษาได้ ลงท้ายด้วยการติดยา ติดเหล้า เพราะเมื่อไม่มีความรู้ ก็ไม่มีทางเลือกใดเหลือมากนัก ขณะที่เด็กบางส่วนหนีออกจากบ้านและสูญหายไปโดยไม่มีใครตามหา และในบางกรณีตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ โดยเฉพาะวัยรุ่นอายุเกิน 18 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้ที่หายไปจากบ้านอาจถูกดึงเข้าสู่แวดวงอาชญากรรมอื่นๆ โดยไม่มีใครคุ้มครองช่วยเหลือ

ส่วนกรณีของวินด์ ริเวอร์ แม้จะไม่มีการบันทึกสถิติผู้สูญหาย แต่นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า อายุขัยประชากรในเขตสงวนแห่งนี้อยู่ที่ประมาณ 49 ปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวอิรักถึง 20 ปี ขณะที่สถิติอาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และคดีค้ายาเสพติด โดยรวมแล้วสูงกว่าสถิติเฉลี่ยในพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ราว 7 เท่า