ไม่พบผลการค้นหา
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในวัย 58 ปี แต่ยังใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมงต่อวันลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง 'ความผูกพันกับชาวบ้าน-ความรักในครอบครัว' คือขุมพลังของหญิงแกร่งคนนี้ที่พา ส.ส. พรรคออกลุยงานแบบไม่มีวันหยุด

ภาพของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่พบประชาชน ปรากฎอยู่ตามสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หรืออย่างช่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในขณะนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าภาพเหล่านั้นมาจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของหญิงแกร่งวัย 58 ปีที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อรับฟังปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านแทบทุกวัน วันละอย่างน้อย 12 ชั่วโมง พร้อมกับทีม ส.ส. ของพรรคที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมขบวน จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า 'อะไรคือขุมพลังที่ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์แรงไม่เคยตก?'

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (7-8 กันยายน 2562) ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้ตามติดประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคอีสาน ตั้งแต่จังหวัดเลย-กาฬสินธุ์-ยโสธร-อำนาจเจริญ-อุบลราชธานี เริ่มตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินตอนเวลา

9.30 น. ของวันเสาร์ที่ 7 กันยายน พอถึงสนามบินจังหวัดเลยก็​เดินทางไปตลาดค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่อำเภอวังสะพุง โดยมีข้าวเช้าเป็นข้าวเหนียวหมูและน้ำพริกใส่กล่องมาให้กินบนรถ

10.45 น.​ เปิดเวทีรับฟังปัญหาจากชาวบ้านทั้งเรื่องการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จนถึงเที่ยงครึ่งก็เดินทางไป อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬิสินธุ์ ระยะทางกว่า 290 กิโลเมตร และแน่นอนว่าข้าวเที่ยงก็ต้องกินบนรถเช่นเดียวกัน

สุดารัตน์ เพื่อไทย วัดสว่างเหล่าอ้อย กาฬสินธุ์ .jpg

16.00 น. ​ถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวให้กำลังใจและมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่บ้านธนบุรี ต. โพนงาม อ. กมลาสัย ชาวบ้านหลายคนเข้ามากอดคุณหญิงสุดารัตน์แล้วร้องไห้ เล่าถึงความลำบากตั้งแต่ภัยแล้ง จนถึงน้ำท่วม แต่ก็ยังมีน้ำใจเตรียมผ้าขาวม้ามาผูกเอวให้กับ ส.ส. และแกนนำพรรค แถมยังมี 'ผักกระเฉดชะลูดน้ำ' พืชที่ขึ้นได้ดีในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งถือเป็นอาหารที่หาได้ง่ายไม่กี่อย่างในช่วงน้ำท่วม มาฝากคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งเธอรับมาแล้วก็ชิมตรงนั้น ก่อนที่จะเอามาผัดที่โรงแรมเป็นอาหารเช้าวันพรุ่งขึ้น

17.00 น.​​ เดินทางไปจุดที่ 2 บ้านเหล่าอ้อย ต. เหล่าอ้อย อ. ร่องคำ จ. กาฬสินธุ์ ซึ่งจุดนี้จะเห็นน้ำท่วมนอกกำแพงวัดชัดเจน และจุดนี้หลังจากมอบถุงยังชีพจาก โครงการ 'เพื่อไทยช่วยไทย รวมใจช่วยน้ำท่วม' คุณหญิงสุดารัตน์และทีมพรรคเพื่อไทยก็ร่วมทานอาหารเย็นกับชาวบ้านในวัดเหล่าอ้อย ก่อนเดินทางกลับไปพักที่จังหวัดยโสธร ด้วยระยะทางกว่า 95 กิโลเมตร ประกอบกับน้ำท่วมถนนบางสาย ก็จำเป็นต้องเลี่ยงทางหลัก ทำให้ถึงโรงแรมและกว่าทุกคนจะได้เข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์.jpg

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน

07.00 น.​​ ออกจากโรงแรมและเดินทางไปให้กำลังใจอาสาสมัครที่วัดดอนกลอย และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม บ้านดอนกลอย ต. ค้อเหนือ อ. เมือง จ. ยโสธร ก่อนที่จะเปลี่ยนรองเท้าขึ้นรถ 6 ล้อไปสำรวจพื้นที่น้ำท่วมและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม บ้านคำน้ำสร้าง ซึ่งถูกน้ำท่วมตัดขาดจากภายนอก ไม่มีน้ำและไฟฟ้า

11.30 น. ทานข้าวเที่ยงบนรถเพราะต้องนั่งรถข้ามอำเภอไปมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม บ้านทรายงาม ต.กุดกุง อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร จุดนี้ต้องนั่งเรือเข้าไปเกือบ 10 นาทีท่ามกลางแดดจ้าเวลาเที่ยงตรง

13.00 น. ออกมาจากหมู่บ้านและนั่งรถไปต่อที่บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งหมู่บ้านนี้ต้องนั่งเรือเข้าไปเช่นกันและน้ำท่วมสูงกว่าหมู่บ้านที่แล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังยิ้มแย้มในการต้อนรับด้วยความจริงใจ สังเกตได้ว่าสองหมู่บ้านนี้ต้องตากข้าวเปลือกไว้หน้าศูนย์พักพิงฯ เพราะนาข้าวถูกน้ำท่วม ข้าวที่พอจะเหลือเก็บไว้กินจำนวนน้อยนิดก็เปียกชื้น

16.00 น. กว่าจะออกมาถึงจุดที่น้ำลดก็ใช้เวลาพอสมควร ก่อนที่จะขึ้นรถไปจุดต่อไป ส.ส. สมหญิง บัวบุตร เจ้าของพื้นที่พาเราไปที่ บ้านหนองแสง ต. หัวตะพาน อ. หัวตะพาน จ. อำนาจเจริญ ระหว่างที่ขึ้นเรือเธอเล่าให้ฟังว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้ไปประชุมสภา ส.ส. เพราะน้ำท่วมตัดขาดถนน ไม่มีน้ำใช้ เธอเองเพิ่งได้อาบน้ำและต้องเตรียมศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ที่น่าเสียใจกว่านั้นคือชาวบ้านที่เจ็บป่วยไม่สามารถไปหาหมอได้ทันเวลา เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย เพราะบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญใกล้กับแม่น้ำลำเซบายที่เป็นจุดที่น้ำท่วมรุนแรงที่สุดจุดแรก ชาวบ้านไม่ทันได้เตรียมตัว

ระหว่างนั่งเรือกลับออกจากหมู่บ้านหนองแสง เวลาก็จวนใกล้ค่ำ ซึ่งคุณหญิงต้องนั่งเครื่องบินกลับที่สนามบินอุบลราชธานี เวลา 19.30 น. แต่ยังเหลืออีก 1 หมู่บ้านที่รอให้เธอไปเยี่ยม แต่ด้วยเส้นทางที่ต้องอ้อมหนีน้ำท่วมทำให้เวลาไม่เป็นไปตามกำหนดการ คุณหญิงสุดารัตน์ ตัดสินใจให้ทีมงานทั้งหมดเดินทางกลับไปก่อนเหลือแค่เธอ ช่างภาพ 1 คน และเลขาฯ ไปจุดสุดท้ายที่บ้านนาอุดม ต. ไร่ขี อ. ลืออำนาจ จ. อำนาจเจริญ แล้วค่อยซื้อตั๋วกลับรอบสุดท้าย เพราะชาวบ้านกำลังรอ

19.00 น. คุณหญิงสุดารัตน์และทีมงานอีก 2 คนพร้อม ส.ส. ในพื้นที่ถึงที่หมายสุดท้าย ชาวบ้านต้องอพยพมาพักที่โรงเรียนนาอุดม พวกเขามีร้อยยิ้มขึ้นมาทันทีที่ทีมงานเข้าไปถึง คุณหญิงและ ส.ส. ได้พูดคุย ไถ่ถามปัญหา และนำถุงยังชีพไปมอบให้ ก่อนกลับชาวบ้านยังมีดอกไม้ และกล้วยตากมอบให้เป็นน้ำใจ พร้อมให้กำลังใจคุณหญิงสุดารัตน์ให้ สู้ๆ และอย่าทิ้งชาวบ้านที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาเป็นผู้แทนฯ

คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์.jpg

ก่อนจะออกเดินทางไปขึ้นเครื่องกลับที่สนามบินฯ อุบลราชธานี ด้วยเวลาฉิวเฉียด ซึ่งระหว่างทางก็ได้มีเวลาคุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ ถึงกำลังใจในการทำงาน ที่ขนาดเราเป็นเด็กวัยรุ่นยังเหนื่อยแทบลากเลือด แต่ทำไมผู้หญิงวัย 58 ปี คนนี้ถึงไม่ยอมหมดแรง

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไม่รู้เป็นอะไร เวลาลงพื้นที่จะยิ่งมีพลังยิ่งมีกำลัง ยิ่งเจอชาวบ้าน มากๆ ยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีพลังมากๆ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เป็น ส.ส. สมัยแรกๆ ตั้งแต่ปี 2535 ก็เป็นคนชอบลงพื้นที่ชอบหาชาวบ้าน เวลาเป็นรัฐมนตรีเบื่อมากทำงาน 5 วัน ต้องประชุมต้องทำโน่นนี่ สองทุ่มสามทุ่มถึงจะออกจากกระทรวง แบตจะหมด แล้วก็พอเสาร์อาทิตย์ได้ลงพื้นที่ได้ไปเยี่ยมชาวบ้าน จะเป็นวันที่มีความสุขมาก มีความรู้สึกว่าได้ไปชาร์ตแบต

เมื่อถามต่อว่า แต่ตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็ถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำงานอย่างนี้จะมีกำลังใจไหม คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบว่า ถือว่าวันนี้พี่น้องประชาชนเลือกเรามากที่สุดในประเทศไทย แม้ไม่ได้ตำแหน่งก็ไม่ได้เสียใจ มันไม่สำคัญเลย เพราะอย่างที่บอกว่าหัวใจเราอยู่ที่ประชาชน แต่ที่เราเสียดายก็คือว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลเราก็จะสามารถทำงานแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มากกว่านี้ เพราะมีอำนาจรัฐมีเงินมีงบประมาณ ฝ่ายค้านไม่ได้อะไร แค่ตรวจสอบ แต่เราก็ไม่ได้ท้อถอย ก็พยายามทำอย่างเต็มที่ จี้รัฐบาล ขอรัฐบาล คุณหญิงสุดารัตน์ ยังเล่าให้ฟังต่อว่า มีเรื่องน่าแปลกที่ทุกครั้งที่ลงพื้น เราลงไปถึง กำลังจะเอ่ยปากว่าว่าสู้ๆ เด้อแม่ ปรากฎว่าชาวบ้านมากอดแล้วบอกว่าสู้ๆ เด้อ ชาวบ้านมาบอกเราว่าอย่าท้ออย่าทิ้งเขานะ แล้วก็เป็นรัฐบาลให้ได้ แทนที่เราจะไปปลอบเขา เขามาปลอบเราแทน 

ขณะเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดเผยว่า ทำงานการเมืองและลงพื้นที่มาเกือบ 30 ปีแล้วและไม่รู้สึกเบื่อ เพราะถ้าใครมาทำงานแบบนี้แล้วเห็นความทุกข์ของประชาชนที่อยู่ข้างหน้า พี่น้องที่อยู่ข้างหน้า ก็คงจะเข้าใจ เธอบอกว่าความสุขอยู่ที่ว่าเราทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้สำเร็จ แต่ถ้ามันยังไม่สำเร็จหรือมันช้าก็จะทุกข์ เห็นเขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย หลายครั้งที่มีคนมากอด มาร้องไห้ กลับไปเราก็เอาความทุกข์ของเขากลับไปคิดว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหาให้เขาได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราอาสามาทำ

อย่างไรก็ตามเวลาภาพการทำงานลงสื่อ ลงเฟซบุ๊ก หรือไลฟ์ ก็จะมีคนมาคอมเม้นต์ว่าสร้างภาพบ้าง แสดงละครบ้าง ตรงนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะให้คนรักทุกคนมันก็ไม่ได้ แล้วยิ่งในภาวะที่การเมืองมันแบ่งเป็นสีเสื้อ ก็ต้องเข้าใจ แต่ส่วนตัวไม่ได้สนใจหรอกว่า เราจะเหนื่อยจะหนักแค่ไหน แต่สิ่งที่ทำก็คิดแล้วว่าแม้มันจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยได้น้อย แต่ดีกว่าไม่ทำ ส่วนคนที่ไม่ชอบเรา วิพากษ์วิจารณ์เรา เราก็น้อมรับก็ฟังไว้ แต่เรารู้ตัวเองว่าเราทำอะไร แล้วก็ชาวบ้านที่เราไปสัมผัสเขารู้ ว่าเราทำอะไร เราทำจริงหรือทำไม่จริง หรือว่าเราแค่มาถ่ายหนัง ของจริงมันจะตอบด้วยตัวเอง

จินนี่และสุดารัตน์ จินนี่

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่าการมาทำงานแบบนี้ไม่เหนื่อย แต่ถ้าพูดถึงกำลังใจส่วนตัวก็คือลูกๆ และสามีที่จะรอรับอยู่ที่บ้าน แต่สำหรับวันนี้ (8 กันยายน) เราขึ้นเครื่องกลับไปก็จะเจอจินนี่ที่ดอนเมืองพอดี เพราะว่าจินนี่ก็มาอีสานเหมือนกัน เนื่องจากปีที่แล้วเขามาออกค่ายที่มหาสารคาม ปีนี้เขาก็นัดกับเพื่อนๆ ไปเยี่ยมแม่ๆ เขาที่หมู่บ้านที่เขาเคยไปอยู่ ไปช่วยซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่โดยน้ำท่วม เขาไปตั้งแต่วันศุกร์ แล้วก็ส่งรูปมาว่าไปกินอึ่งอ่าง ไปอยู่กับชาวบ้านโน่นนี่นั่น ก็ต้องขอบคุณด้วยที่พี่น้องดูแลลูกให้ในสองสามวันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวด้วยรอยยิ้มก่อนลงจากรถรีบขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ