ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่าน SuperFreakonomics หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีบทไหนพูดเรื่องเศรษฐกิจ แต่ชวนเราคิดแก้โลกร้อนด้วยการระเบิดภูเขาไฟแล้วหันไปส่องชีวิตโสเภณีมีการศึกษา

จริงๆ แล้วเราไปอ้อนเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมาเกือบ 2 ปี ให้ซื้อเล่มนี้ให้ หลังจากที่อ่านเล่มแรกจบไปอย่างรวดเร็วและรู้สึกว่าฉันต้องการเสพสิ่งนี้ต่อไปและต่อไปอย่างไม่มีจบสิ้น

เราเชื่อว่าหลังจากที่หลายคนอ่านพาดหัวกับคำโปรยแล้วก็คงจะเกิดความสงสัยว่า สรุปเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายการไม่ใช่ ‘คนดี’ มันเกี่ยวข้องอะไรกับการระเบิดภูเขาไฟช่วยโลกร้อน ไหนจะหัวข้อโสเภณีมีการศึกษา ที่ดูจะสะท้อนว่า ‘เรา’ ในฐานะคนเขียนบทความชิ้นนี้เป็นพวก ‘ชอบเหมารวม’ (stereotype) ว่าโสเภณีต้องไม่มีการศึกษา มากกว่าจะเป็นนักเขียนที่มาพูดเรื่องความเชื่อมโยงที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันสักนิด

ใช่! คุณคิดถูกแล้ว!!! หนังสือเล่มนี้มันไม่เชื่อมโยงอะไรกันทั้งนั้นแหละค่ะ มันอยากจะพูดเรื่องโสเภณีมันก็จะพูด แล้วมันอยากจะพูดเรื่องระเบิดภูเขาไฟมันก็พูดขึ้นมาดื้อๆ เช่นเดียวกัน ข้อดีคือ ถ้าคุณไม่ได้มีเวลาอ่านหนังสือนานๆ แล้วชอบลืมว่าอ่านอะไรไปแล้วในบทก่อนหน้าจนต้องย้อนกลับไปอ่านใหม่ คุณจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะแต่ละบทมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน

ข้อเสียคือ เราไม่ใช่คนแบบนั้นและว่ากันตามตรง ตอนอ่านแรกๆ เราก็ทรมานเพราะรู้สึกว่ามันตัดจบไปสะแล้วแต่ยังอยากอ่านต่อ

ส่วนอีกข้อสำคัญคือ “เราไม่ได้เป็นพวกชอบเหมารวม จริงๆ นะ”

SuperFreakonomics หรือ เศรษฐพิลึก (ชื่อภาษาไทย) เป็นหนังสือเล่มที่ 2 ในซีรีย์ทั้งหมด 3 เล่ม ที่ ‘สตีเวน เลวิตต์’ นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่โปรดปรานประเด็นอย่าง การเติบโตของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และอีกหลายหัวข้อที่ชวนงงแล้วงงอีก กับ ‘สตีเฟน เจ. ดูบเนอร์’ นักข่าว นักเขียน และนักวิทยุ ร่วมกันเขียนขึ้นมา ส่วนเล่มแรกคือ Freakonomics และเล่มล่าสุดคือ Think Like a Freak



อ่านยัง

ว่ากันตามสามัญสำนึก เราคงไม่อ่านเล่ม 2 ต่อ ถ้าเล่มแรกไม่สนุก แต่ถ้าถามว่าทำไมเราไม่มาเขียนรีวิวเล่มแรกก่อน อันนี้เรายังตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอข้ามไปที่เนื้องเรื่องในเล่ม 2 ตอนที่เราชอบที่สุดเลยดีกว่า ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ภายใต้คำถามว่า คุณคิดว่าคุณเป็นคนดีไหม ?

  • “เป็นระยะเวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง ที่พลเมืองผู้เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมด 38 คน เฝ้ามองฆาตกรติดตามและแทงผู้หญิง ในการทำร้ายร่างกายทั้ง 3 สถานที่ใน ‘คิว การ์เด้น’…โดยไม่มีพลเมืองดีแม้เต่คนเดียวโทรศัพท์แจ้งตำรวจขณะเกิดเหตุกาณ์ แต่มีผู้แจ้งความหนึ่งคนหลังผู้หญิงคนนั้นตายไปแล้ว”

สิ่งที่คุณอ่านด้านบน คือย่อหน้าแรกของข่าวบนหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ และคุณอยากรู้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่พลเมืองผู้เคารพกฎหมายเหล่านี้ตอบตำรวจในการสอบปากคำ “เราคิดว่ามันเป็นเรื่องในครอบครัว” “เราไปที่หน้าต่างเพื่อมองนะแต่แสงจากห้องนอนเรา ทำให้ยากที่จะมองเห็นถนน” และ“ฉันเหนื่อยอ่ะ ฉันเลยกลับไปนอน”

มาถึงตอนนี้ มีสักเสี้ยววินาทีไหมที่คุณแอบด่าเหล่าพลเมืองผู้เห็นเหตุการณ์ทั้ง 38 คน ว่าการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแจ้งตำรวจมันไม่ได้ยากเย็นอะไรขนาดนั้นนะเว้ย แล้ว 38 คน คือไม่มีใครมีสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตสำนึก’ ‘ความไม่เห็นแก่ตัว’ หรือ ‘การเห็นแก่ผู้อื่น’ กันเลยหรือ

อย่าลืมว่านี่คือหนังสือเศรษฐศาสตร์นะ เพราะฉะนั้นมาใช้เศรษฐศาสตร์หาคำตอบเหล่านี้กันดีกว่า เราอยากให้คุณลองคิดตามเกมนี้ เกมมีอยู่ว่า ผู้เล่นคนที่ 1 สามารถตัดสินใจได้ว่าจะแบ่งเงินจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ กับผู้เล่นคนที่ 2 เท่าไหร่ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้เล่นคนที่ 2 ยอมรับส่วนแบ่งก็จะแบ่งเงินกันตามที่ผู้เล่นคนที่ 1 ตัดสินใจ แต่ถ้าผู้เล่นคนที่ 2 ไม่ยอมรับเงื่อนไขนั้นจะไม่มีใครได้เงินไป แล้วถ้าเราให้คุณเล่นเกมนี้เป็นผู้เล่นคนที่ 1 และเราเป็นผู้เล่นคนที่ 2 คุณจะแบ่งเงินให้เราเท่าไหร่หรอ

แม้เงินแม้แค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะมากกว่าการไม่ได้อะไรเลย แต่ผลปรากฏว่า ผู้เล่นคนที่ 2 ส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับส่วนแบ่งที่ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ และผู้เล่นคนที่ 1 ส่วนใหญ่ ก็แบ่งเงินให้กับผู้เล่นคนที่ 2 ถึง 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วคุณคิดว่าการแบ่งเงินให้ถึงเกือบ 1 ใน 3 กับใครก็ไม่รู้เป็น ‘การเห็นแก่ผู้อื่น’ ไหม

คำตอบคือไม่เลย ผู้เล่นคนที่ 1 ไม่ได้ใจดี หรือ เห็นอกเห็นใจ ผู้เล่นคนที่ 2 แต่อย่างใด สิ่งที่เดียวที่ผลักดันให้พวกเขายอมแบ่งเงินก็คือ ‘การหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธ’

ในบทนี้หนังสือยังบรรยายเพิ่มอีกหลายหน้าว่านักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเอาเกมนี้ไปพัฒนารูปแบบเพื่อปรับให้สามารถตอบคำถามว่ามนุษย์เราเป็นคนดีไม่เห็นแก่ตัวได้อย่างไร และส่วนตรงนั้นเราจะปล่อยให้พวกคุณไปอ่านกันเอาเอง

เราจะสรุปให้ฟังง่ายๆ แล้วกัน มนุษย์ก็คือมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเป็นคนดีหรือเลว มนุษย์แค่ตอบสนองต่อแรงจูงใจเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้หรือจะไม่เห็นอกเห็นใจใครก็ได้เช่นเดียวกัน ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้ง 38 คน เลือกที่จะโทรศัพท์หาตำรวจได้ในวินาทีที่ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือได้และพวกเขาก็เลือกที่จะไม่ทำได้เช่นเดียวกันแม้การยกหูโทรศัพท์จะไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

เรื่องทั้งหมดที่เราเล่าให้ฟังเป็นเพียงแค่เสี้ยวนึงจากบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ดูเหมือนจะไม่สามารถตอบได้ด้วยเศรษฐศาสตร์อัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้ รวมถึงเล่มแรกด้วน เราไม่รู้ว่าเล่มที่ 3 เป็นยังไง แต่เดี๋ยวจะไปอ่านแล้วมาเล่าให้ฟังแล้วกัน

บางทีถ้าคุณลองไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน คุณอาจจะเข้าใจว่าทำไมการระเบิดภูเขาไฟอาจจะช่วยภาวะโลกร้อนได้ แม้จะไม่ได้หมายถึงให้ไประเบิดจริงๆ หรอกนะ แล้วการตามติดชีวิตการหาเงินของโสเภณีมีการศึกษามันสนุกดีจริงๆ เพราะมันสะท้อนเลยว่าคนฉลาดมีวิธีทำงานอย่างไร และเขาจะเลือกวางมือตอนไหน

หรือพวกคุณคิดว่าการจะยืนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่การให้บริการเรื่องเพศไม่ต้องมีกลยุทธ์กันนะ ?