ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'ราษฎรกำแหง' บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารยุค คสช. นักวิชาการ ชี้ไทยยังอยู่ใต้ระบอบรัฐประหาร ชูศูนย์ทนายฯ - ไอลอว์ เปรียบนิติศาสตร์เพื่อประชาชน หลังยุคนิติราษฎร์ พร้อมเสนอทำหอจดหมายเหตุการต้านรัฐประหาร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช" โดยนายนพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ หนึ่งในผู้เขียนและบรรณาธิการหนังสือ"ราษฎรกำแหง" กล่าวว่า ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งหลังรัฐประหาร 2557 เพียง 2 วัน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่จะถูกละเมิดสิทธิ ตลอด 5-6 ปีมีคดีรวม 198 คดี มีลูกความ 377 คน ขณะที่ลักษณะเด่นรัฐประหาร คือ การใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หรือใช้กฎหมายปิดปาก ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่เพื่ออำนวยความยุติธรรม 

นายนพพล ระบุว่า หนังสือมีเนื้อหา 2 ส่วน คือ เรื่องของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบรัฐประหาร กับเปิดเผยคำพิพากษา ที่จะเห็นบทบาทกระบวนการยุติธรรมหรือคำพิพากษายกเว้นการรับผิดของคณะรัฐประหารและรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหาร พร้อมยกคำกล่าวของ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หนึ่งในผู้ต้องขัง ที่ว่า "สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ดีกว่าแพ้ที่ไม่คิดสู้" ซึ่งสะท้อนจิตใจของจำเลยในคดีที่เกิดจากการต่อสู้กับคณะรัฐประหารได้เป็นอย่างดี

ยกบันทึกหลักฐานประวัติศาสตร์ต้านรัฐประหารโดยคนธรรมดา

ด้าน ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แนะนำให้อาจารย์โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ใช้หนังสือเล่มนี้ประกอบการเรียนการสอนด้วย พร้อมยืนยันว่า หนังสือเป็นพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าการต่อต้านรัฐประหารมีอยู่และเกิดขึ้นจริงโดยคนธรรมดา และหากไม่มีการบันทึกไว้ ในอนาคตอาจมีการอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารว่าคนยอมรับและไม่มีใครออกมาต่อต้านขัดขืน ซึ่งศาลเองเคยให้เป็นเหตุผลนี้ในการตัดสินบางคดีด้วย 

ขณะที่รัฐไทยเน้นความมั่นคงและมองประชาชนเป็นภัยคุกคามหรือศัตรู ทั้งที่สิ่งที่ผู้ตกเป็นจำเลยต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นเป็นสามัญสำนึกที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารและบอกสังคมว่าเป็นสิ่งที่ผิด, การจัดประชามติไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือ เรียกร้องการเลือกตั้ง แต่กลับโดนตั้งข้อหากลายเป็นคนผิดเสียเอง และหลังจากอ่านคำตัดสินของศาลในหนังสือนี้ ทำให้ยืนยันได้ว่า "มีระบอบรัฐประหารอยู่จริงและศาลเองก็ยอมรับ" ที่สำคัญในปัจจุบันผู้กุมอำนาจรัฐก็ยังมองประชาชนเป็นศัตรู ซึ่งสะท้อนว่าระบอบรัฐประหารยังคงอยู่ ไม่ได้สิ้นสุดไปตาม คสช.

ผศ.ประจักษ์ มองว่า บุคคลในหนังสือทั้ง "ไผ่ ดาวดิน" และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รู้ว่าสิ่งที่ทำไม่บังเกิดผลให้คณะรัฐประหารหมดอำนาจไปได้ แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่ามีคนไม่ยอมรับการรัฐประหารนั้นมีอยู่ แต่เสียดายที่มีคนอย่าง "ไผ่ ดาวดิน" หรือ "จ่านิว" มีน้อยเกินไปและมีผู้พิพากษาส่วนน้อยที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐประหารปี 2557 สำเร็จและครองอำนาจได้ยาวนาน และสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดปกติหรือผิดเพี้ยนของสังคมไทย ที่การปกป้องประชาธิปไตยที่ควรเป็นเรื่องปกติกลายเป็นอาชญากรรม แต่การปิดกั้นจับกุมการแสดงจองประชาชนเพื่อรักษาระบอบรัฐประหาร กลายเป็นสิ่งดีงาม พร้อมเสนอให้มีการจัดทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ และพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ว่าด้วยการต่อต้านรัฐประหารของประชาชา ซึ่งอาจย้อนไปไกลกว่ารัฐประหาร 2557 ให้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่นำสู่การเรียนรู้ได้

นางไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการด้านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิทธิมนุษยชน จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ระบุว่า หนังสือราษฎรกำแหง นอกจากจะได้บันทึกความเลวร้ายของรัฐ โดยเฉพาะการตัดสินอรรถคดีของศาล ที่ให้มีการลอยนวลพ้นผิด และบันทึกความกล้าหาญของประชาชน

พร้อมยกตัวอย่างคำกล่าวของ นายอันโตนีโอ กรัมชี นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอิตาลี่ ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่า "โลกเก่ากำลังตายจากไป และโลกใหม่กำลังฝ่าฟันเพื่อเข้ามาแทนที่ ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาของสัตว์ประหลาด" และข้อเขียนของนายสุพจน์ ด่านตระกูล นักคิดนักเขียนที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์การอภิวัฒน์ 2475 ในปทานุกรมการเมือง ฉบับชาวบ้าน ที่ระบุไว้ทำนองว่า "กฎหมายถูกตราโดยผู้แทนชนชั้นใด ย่อมนำมาเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น" ซึ่งล้วนสะท้อนสภาพของสังคมไทยห้วงนี้ได้เป็นอย่างดี

นางไทเรล กล่าวถึง การชูป้ายข้อความว่า "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" ของนายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งทำให้ถูกดำเนินคดี ทำให้เห็นว่า อะไรทำให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้ท่ามกลางความเสี่ยงต่อชีวิตและครอบครัว ซึ่งนายอภิชาติ ต่อสู้คดีถึงชั้นฎีกา ทั้งที่หยุดต่อสู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นได้ เเต่การตัดสินใจสู้ถึงที่สุดในกระบวนการยุติธรรมนั่น เป็นเพราะทนายความและเจ้าตัวเห็นว่า การตีความของศาลไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรม และถือเป็นร่องรอยแห่งความหวัง

นางไทเรล กล่าวด้วยว่า ถ้าศาลตัดสินอย่างมีความรับผิดชอบ ก็จะตรงข้ามกับการปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิด ต้องตีความหรือเอียงข้างประชาชนไม่ใช่เอียงข้างอำนาจรัฐ เพื่อยืนยันสิทธิ์ของประชาชนและให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคง 

'ยุกติ' ชี้รัฐละเมิดคนยิ่งทำประชาชนกำแหง ต้านรัฐมาก

รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในหนังสือจะเห็น 3 ตัวละครหลัก คือ ราษฎรหรือประชาชน ระบอบรัฐประหารและองค์กรภาคประชาชน และเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านหนังสือเล่มนี้ ในแง่ราษฎร เห็นลักษณะที่เป็นปฏิกิริยา คือยิ่งรัฐละเมิดประชาชนมากเท่าไหร่ ยิ่งเชิญชวนให้ประชาขนออกมากำแหงหรือต่อต้านรัฐมากเท่านั้น 

"ในแง่ระบอบรัฐประหาร ที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดสิมธิเสรีภาพประชาชน และกระบวนการยุติธรรมรองรับอำนาจรัฐประหาร จนกลายเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วนั้น ต้องได้รับการตั้งคำถามจากสังคมอย่างถึงที่สุด และเห็นว่า การปกป้องประชาชนโดยกระบวนการยัติธรรมไทยเท่ากับศูนย์หรือไม่มีเลย อย่างไรก็ตามใน 9 คดีนี้พบว่า การดำเนินคดีในศาลพลเรือนจะเห็นโอกาศต่อสู้ได้มากกว่าในศาลทหาร" รศ.ยุกติ

รศ.ยุกติ กล่าวถึงตัวละครสุดท้ายในเเง่องค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะศูนย์ทนายฯและโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw (ไอลอว์) ว่า มีบทบาทสูงมากและถือเป็น "นิติศาสตร์เพื่อประชาชน หลังยุคนิติราษฎร์" เพราะถ้าไม่มีองค์กรเหล่านี้ ผู้ต้องคดีความจะยากลำบากในการต่อสู้คดีกับอำนาจรัฐอย่างมาก และสังคมไทยต้องการองค์กรลักษณะนี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของประชาชนและเงื่อนไขของสังคมไทยที่รัฐคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายมากขึ้น

สำหรับหนังสือ "ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช." ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตแคนนาดาประจำประเทศไทย โดยหนังสือมี 355 หน้า ราคาเต็ม 350 บาทลด 10% เหลือ 315 บาท แต่สำหรับนักเรียนนักศึกษาจำหน่ายในราคา 250 บาท ผู้สนใจติดต่อซื้อได้ทางเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความฯ