ไม่พบผลการค้นหา
อย. ร่วมกับ สตช. เปิดปฏิบัติการยุทธการฟ้าสาง เข้าตรวจค้นแหล่งผลิตและจำหน่ายยาลดอ้วนมรณะ 33 จุดทั่วประเทศ พบผสมสารไซบูทรามีน เบื้องต้น ดำเนินการยึดของกลางทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.62) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สืบเนื่องมาจากคดีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน “ลีน” เมื่อปี 2561 ซึ่งพบว่ามีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน เป็นสารอันตรายจนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคถึงแก่ความตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบค้นอย่างละเอียดจนทราบว่ามีการลักลอบนำเข้า สารดังกล่าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวเขตชายแดนแล้วส่งกระจายไปผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดได้เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนที่จังหวัดอ่างทอง พบการเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีน จึงเป็นการเปิดยุทธการฟ้าสาง ซึ่ง พล.ต.อ. ดร.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปูพรมนำกำลังเข้าตรวจค้นกว่า 33 จุดทั่วประเทศ พบการกระทำความผิด 25 จุด ที่ไม่พบเป็นบ้านพักอาศัย จุดสำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้ได้ประสานไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดที่เกี่ยวข้องให้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทำการตรวจค้นเป้าหมายทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตาก จังหวัดพัทลุง จังหวัดปทุมธานี และ กรุงเทพมหานคร โดยละเอียด ซึ่งจากการปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ชุดตรวจวิเคราะห์สารเบื้องต้น (Test Kit) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้สามารถพิสูจน์หาสารไซบูทรามีนในเบื้องต้นได้ และ พบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งได้เข้าร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุด จำนวน 13 จุด ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการตรวจค้นพบวัตถุดิบไซบูทรามีนและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีไซบูทรามีนผสมอยู่ ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 1 โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว อย. ได้เคยแจ้งเตือนและดำเนินคดีมาก่อนแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์ลิโซ (Lishou) ผลิตภัณฑ์บาชิ (Baschi) ผลิตภัณฑ์นิวควีน (New Queen) ผลิตภัณฑ์กาแฟลดความอ้วน รวมทั้งวัตถุดิบสารไซบูทรามีนจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากลวง ซึ่งจัดเป็นอาหารปลอม หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ยาไม่มีทะเบียน เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้ ฉลากพร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์เตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งบรรจุ พร้อมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตด้วย

พร้อมกันนี้ยังพบยาจุดกันยุงที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าจาก อย. เพราะยาจุดกันยุงจะต้องมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องกับ อย. ซึ่งมีสารอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของคนที่สูดดมเข้าไปได้ เบื้องต้นได้ดำเนินการยึดของกลางทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

 ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังนี้

  • พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท
  • พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
  • พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  •  พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า ไซบูทรามีนถือเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เบื่ออาหารและกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย จึงมีผู้นำมาลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากไซบูทรามีนมีผลข้างเคียงสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เกิดภาวะไตวาย ผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบตัน เป็นต้น ไซบูทรามีนจึงจัดเป็นสารที่ต้องควบคุมโดยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 จึงขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มาใช้ เพราะส่งผลข้างเคียงเป็นอันตรายต่อชีวิต ดังที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :