ไม่พบผลการค้นหา
อดีตประจําสํานักเลขาธิการนายกฯ มองวิจารณ์ภาพลักษณ์ภายนอก สร้างวาทกรรมเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง แนะก้าวข้ามเหมารวมภาพลักษณ์มองสาระพัฒนาประเทศชาติในเชิงนโยบาย ยกรัฐสภาไทยติดอันดับ 10 ของอาเซียนให้พื้นที่สตรีเข้าไปมีบทบาทน้อย

น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและอดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักษาชาติ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงกรณีการวิจารณ์ผู้หญิงว่าคนสวยไม่มีสมอง ว่าเป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นว่ามองผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นคำจำกัดความที่คนบางคนในสังคมวาดภาพไว้แบบนั้นว่ารูปลักษณ์ภายนอกมักจะไม่มากับความคิด ทั้งที่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคน ส่วนเรื่องความคิดความอ่านแล้วแต่สถานการณ์ที่คนจะแก้ปัญหา ไม่ควรเอามาเชื่อมโยงกัน เพราะมันคือการนิยามให้ผู้หญิงมีความด้อยค่าลงไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเพศไหนก็ไม่ควรไปเหมารวมหรือคาดหวังใครให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่นว่า คนจะดีได้ต้องไปเดินขบวน ครอบครัวจะสมบูรณ์แบบได้ต้องมีพ่อแม่ลูก ทั้งที่ความเป็นจริงครอบครัวก็มีได้หลายแบบ การทำความดีก็มีหลายรูปแบบ

"เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างวาทกรรมว่าคนดีคืออะไร ครอบครัวสุขสันต์เป็นยังไง ควรจะเปิดใจยอมรับว่าสังคมเรามีหลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกันเวลาที่มีคนทักเธอว่าอ้วน ผอม สวย ไม่สวย ก็เป็นมุมมองของแต่ละคนที่จะมองเรา แล้วสะท้อนออกมา เนื่องจากความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เรารู้ว่าตัวเราเป็นยังไง แค่นั้นก็พอ"

น.ส.ชยิกา ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในห้าเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) คือความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งการมีนักการเมืองหญิงเข้าไปในระบบรัฐสภาและการบริหารท้องถิ่น รวมทั้งมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่ตัดสินใจได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่าการที่มีสัดส่วนของผู้หญิงมาก ก็จะทำให้มีความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น เข้าถึงความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยอมรับว่าผู้หญิงในการทำงานการเมืองจะมีความยาก เนื่องจากหลายคนมีภาระหน้าที่ในการเป็นแม่ พี่สาว น้องสาว ที่ต้องดูแลครอบครัว

น.ส.ชยิกา ระบุว่า ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาทำงานในวงการการเมืองเพื่อที่จะพัฒนานโยบายที่แตกต่างจากผู้ชาย เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้หญิงมักจะเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอีกมุมหนึ่งที่ผู้ชายอาจจะคิดไม่ถึง และนโยบายนั้นจะมีความหลากหลายทางเพศ ทั้งเพศสภาพและเพศวิถีมากขึ้น เช่น นโยบายกองทุนสตรี นโยบายฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ หรือนโยบายคนไข้ฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลใกล้ตัวได้ฟรีในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผู้หญิงเห็นต่างออกไป ถือเป็นการทำงานที่เดินคู่กันไปกับผู้ชาย

จากข้อมูลในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประเทศไทยมีสัดส่วนของนักการเมืองหญิงประมาณร้อยละ 26 แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้หญิงในระบบรัฐสภาร้อยละ 15 และเป็นเพียง ร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นอันดับสิบของอาเซียน และอันดับที่ร้อยแปดสิบกว่าของโลก ซึ่งถือว่าอยู่ในลำดับท้ายๆ ขณะเดียวกันนโยบายคุณภาพชีวิตบางนโยบายก็ยังไม่ละเอียดครอบคลุม เช่น นโยบายสงเคราะห์บุตร ที่ให้สิทธิแก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่ครอบคลุมผู้ที่เสียภาษีรายอื่น เช่น คนที่เพิ่งเริ่มทำงานประจำ หรือคนที่ไม่มีเงินเดือนสูงมาก ความเท่าเทียมในการนำนโยบายปฏิบัติต้องปรับปรุงให้ละเอียดและครอบคลุมอีก เธอเห็นว่าถ้านักการเมืองหญิงในปัจจุบันช่วยลงไปดูแก้ไขนโยบายเหล่านี้ให้ละเอียดครอบคลุมก็จะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้นอีก

น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์


ประชุมสภา

นอกจากนี้ ในการเมืองไทยยังมีการรังแก หรือบูลลี่กันเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งหญิงและชาย เช่น เรื่องการแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ถูกนำมาใช้เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือสาระสำคัญ เช่น การนำเสนอนโยบาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า เธอมองว่าบางคนมีภาพลักษณ์ดีแต่เนื้องานที่จะทำอาจไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาครบถ้วน เพราะถูกการนำเสนอภาพลักษณ์ไปกลบ ยิ่งไปกว่านั้นการบูลลี่รูปลักษณ์ภายนอก หลายครั้งยังกลายเป็นการสร้างวาทกรรมที่ให้เกิดความเกลียดชัง ลดทอนคุณค่าของบุคคลลงไป ทั้งที่ประเทศเรามาถึงในจุดที่สาระสำคัญควรจะเป็นแก่นที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า ส่วนตัวเธอเองก็ถูกบูลลี่เรื่องภาพลักษณ์มามาก แต่เธอคิดว่าถ้าเราคิดดี ทำดี และมองโลกในมุมที่สร้างสรรค์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อสังคมก็จะสามารถก้าวข้ามการบูลลี่กันเรื่องภาพลักษณ์ภาพนอกไปได้

อย่างไรก็ตาม น.ส.ชยิกา ย้ำว่า เรื่องสิทธิทางการเมือง ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ไม่ควรถูกแบ่งแยกด้วยเรื่องภาพลักษณ์ภายนอก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง