ไม่พบผลการค้นหา
ประสบการณ์และโอกาสครั้งใหม่ของอดีตผู้ต้องขังหญิง 3 เรือนจำ 'ติ๊ก ธิดารัตน์' ผู้หญิงที่เคยมีรายได้นับแสน แต่ต้องไปอยู่เวรในคุกแลกเงินชั่วโมงละ 10 บาท

เมื่อราวปี 2556 'ติ๊ก' ธิดารัตน์ ศักดิ์คำดวง ตกใจกับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุหลายข้อหา ทั้ง ฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน หลังเปิดบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการมีส่วนรู้เห็นในกระบวนการค้าประเวณี  

“ตกใจมากเลยค่ะ เราเลิกเป็นนายหน้ามาหลายปีแล้ว แต่หมายเรียกเพิ่งมา” ติ๊ก ธิดารัตน์ ย้อนถึงอดีต สมัยมีอาชีพเป็น ‘นายหน้า’ ส่งคนไปทำงานนวดแผนไทยที่ประเทศออสเตรเลีย

ท้ายที่สุด แม้จะรอดพ้นในข้อหาค้าประเวณี แต่เธอก็ถูกจำคุกในฐานฉ้อโกงประชาชน และส่งแรงงานไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้ชีวิตในเรือนจำเกือบ 4 ปี ใน 3 ทัณฑสถานหญิง

ต่อไปนี้คือบทเรียนชีวิตของอดีตนักโทษ จากคนปากร้ายๆ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ สู่ผู้หญิงใจเย็น มีสติ และพูดขอโทษได้อย่างจริงใจ 

“เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมนะ” ติ๊ก ธิดารัตน์ ยิ้มกว้างให้กับชีวิต


จากเงินเดือนนับแสนเหลือ ชม.ละ 10 บ.

ติ๊ก ธิดารัตน์ เป็นลูกสาวพนักงานรัฐวิสาหกิจ ชีวิตสุขสบายและคิดอยากเป็นนายตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก โดยอายุ 20 กลางๆ เริ่มทำธุรกิจเป็นนายหน้าจัดหา ‘หมอนวด’ ส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่เข้าข่าย ‘ผิดกฎหมาย’ เพราะไร้ใบอนุญาต

“เราไม่ได้ส่งเขาไปค้าประเวณีนะ รับเฉพาะคนที่มีใบผ่านหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทยมาแล้วเท่านั้น” 

ติ๊ก เจอแจ็กพอตเอาเมื่อตอนที่เพื่อนสนิทโกงเงินลูกค้าผ่านบัญชีของเธอ และมีผลพาไปถึงคุก แม้ขณะนั้นจะลาวงการนี้ไปแล้วถึง 3 ปี 

ศาลสั่งลงโทษ 3 คดีด้วยกัน 

1.ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯ เจอคุก 2 ปี ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง 

2.ความผิดฐานฉ้อโกง เจอคุก 1 เดือน ที่เรือนจำ จ.นครสวรรค์

3.ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 2 ปี ที่เรือนจำ จ.เชียงราย 

“เจ้าทุกข์ 3 คน เขาอยู่กันคนละจังหวัดเลยต้องติดคุก 3 ที่ เป็นเวลาทั้งหมด 3 ปี 9 เดือน”

เมื่อรู้ว่าต้องติดคุกแน่ๆ สิ่งที่ติ๊กคิด คือ ต้องอยู่ ต้องทน ปรับตัวให้ไวที่สุดกับสภาพแวดล้อมใหม่  

“ไม่ได้ห่วงตัวเองเลย ห่วงลูกที่อายุแค่ 5 ขวบ เพิ่งเรียนอนุบาล และแม่ที่เป็นอัมพฤกษ์ ใครจะดูแลแม่เรา ตัวเองนี่คิดอย่างเดียว ต้องปรับตัวให้ได้”

กุญแจมือ จับกุม ต้องสงสัย ผู้ต้องหา

ช่วงเวลาแรกๆ ของการเปลี่ยนเสื้อผ้าเดินเข้าคุกอารมณ์ 'ฟ้าถล่มดินทลาย' นั้นเกิดขึ้นกับเธอ 

“ตอนเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าครั้งแรก ต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ผู้หญิงนี่เขาให้ขึ้นขาหยั่ง เราต้องนุ่งกระโจมอกเข้าไปยังแดนแรกรับ มันก็กระทบกับความรู้สึกเราเหมือนกันนะ 

“พอเราได้เข้าไปอยู่ในนั้น ก็แปลกหูแปลกตา แต่ต้องอยู่ให้ได้ ทำอะไรให้ทันกับเวลา กิจวัตรคือตื่นประมาณตี 5 ครึ่ง เจ้าหน้าที่มาเช็กยอดคนในห้อง แล้วก็ทำความสะอาดห้อง ลงมาอาบน้ำ ไปกินข้าว แยกย้ายเข้ากองงานที่แต่ละคนเลือก ช่วยลดความฟุ้งซ่านลงได้ ตอนเย็นก็ออกกำลังกาย สวดมนต์ และขึ้นเรือนนอนทำธุระส่วนตัว วนเวียนอยู่อย่างนี้” 

“มีทุกข์ไหม มีแน่นอน ถึงเวลาขึ้นห้องมันก็เป็นอะไรที่บีบใจเราเหมือนกัน แต่เราไม่ทำให้ใครเห็นว่าเราอยู่ในอาการโศกเศร้า สามี ลูกมาเยี่ยมก็ไม่ร้องไห้ให้เขาเห็น”

จากเจ้าของธุรกิจจัดหาแรงงาน และผู้รับเหมาดูแลเครื่องปรินเตอร์ให้กับธนาคารและบริษัทหลากหลายแห่ง สัมผัสแบงค์พัน เงินเดือนหลักแสน กลายเป็นนักโทษหญิงได้ค่าแรงอัตราชั่วโมงละ 10 บาท 

“ครอบครัวส่งเงินมาให้เดือนละพันบ้าง ห้าพันบ้าง เราอยู่ข้างในก็หารายได้เสริม รับจ้างทำความสะอาด 

“ห้องนอนจะมีเวร 2 คนผลัดกันตั้งแต่สามทุ่มถึงตีห้า ดูแลความเรียบร้อย เพื่อนๆ ในห้อง ใครเจ็บป่วย บางคนเข้าไปใหม่ๆ ยังรับไม่ได้กับตัวเอง มีอาการเครียด เขาก็กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น เหมือนคอยเป็นหูเป็นตาให้กัน ได้ชั่วโมงละ 10 บาท บางทีนั่งสามชั่วโมงรวด หาเงินไว้ซื้อของใช้ ของกินนิดๆ หน่อยๆ” 

สิ่งที่ติ๊กจดจำและได้เรียนรู้มากที่สุดในคุก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่มีทั้งดีและร้าย 

“เราเจอทั้งคนที่มีน้ำใจกับเราและคนที่เอาเปรียบ ได้เห็นหัวจิตหัวใจ เรื่องแย่ๆ ข้างใน สำหรับเรามันเป็นเรื่องคนมากกว่าสภาพแวดล้อมนะ บางคนเข้ามาเพราะคดียาเสพติด ทำตัวเป็นขาใหญ่ มันก็มี แต่ไม่ถึงกับฆ่ากันตาย มีเถียงกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล” เธอบอกว่า เพื่อนสนิทหลายคนในคุกที่พ้นโทษออกมา ทุกวันนี้ยังคบหากันอย่างจริงใจและช่วยเหลือกันมาเสมอ 

เรื่องอาหารการกินข้างในก็แย่อย่างที่ร่ำลือกัน “สุนัขไม่รับประทานเลย” ติ๊กยิ้มแหยๆ “มันไม่มีรสชาติ จืดๆ” 

จากประสบการณ์ เธอตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่รับหน้าที่อยู่ ‘กองเลี้ยง’ มักตัดตอนนำวัตถุดิบเนื้อสัตว์เก็บไว้กินเอง ทำให้ปริมาณสารอาหารที่นักโทษส่วนใหญ่ได้รับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 

“เนื้อไก่จะเห็นน้อยมาก ส่วนมากจะเป็นซี่โครง กระดูก อย่างเนื้อหมูก็น้อย ส่วนใหญ่เป็นมัน เราไม่รู้มาตรฐานอยู่ตรงไหน แต่คิดว่าพวกนักโทษด้วยกันเองเนี่ยแหละ เป็นคนตัดตอน กันไว้กินเอง เห็นแก่ตัว พวกผู้ช่วย ได้รับตำแหน่งหน้าที่ดูแล” เธอเล่าว่า ทัณฑสถานหญิงกลาง รสชาติอาหารแย่สุด เมื่อเทียบกับ เรือนจำ จ.นครสวรรค์ และเชียงราย ที่รสชาติพอใช้ได้

เธอยืนยันว่า นักโทษบางคนนำตำแหน่งหน้าที่หรือสิทธิที่ได้รับมอบหมายจาก ‘เจ้าหน้าที่’ มาหาผลประโยชน์ ข่มเหงหรือเอาเปรียบผู้อื่น โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่รับรู้ 

ชีวิต-โอกาสอดีตคนคุกหญิง

โอกาส จาก โอกาส 

4 เดือนสุดท้ายในคุก เป็นช่วงเวลาสำคัญของนักโทษหลายๆ คน เพราะไม่ใช่ทั้งหมดจะรู้สึกแฮปปี้ยินดีปรีดา เนื่องจาก บางคนไม่รู้ว่าออกไปแล้วจะหาเลี้ยงชีพยังไง บางคนไร้ครอบครัว บางคนกลัวไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและนายจ้าง 

“นอนไม่หลับเลยนะ คิดอยู่นั่นแหละจะไปทางไหนดี งานก็หายาก สามีก็ไปมีครอบครัวใหม่แล้ว หายไปตั้งแต่ 2 ปีแรกที่เราติดคุก ดีที่ได้กำลังใจจากแม่ เขียนจดหมายมาหาตลอด ทั้งๆ ที่ใช้มือขวาข้างถนัดไม่ได้ ก็ใช้มือซ้าย ไม่เคยด่าเราสักคำที่เราก้าวพลาด”

วันแรกๆ ที่ออกมาจากคุก ติ๊กไม่กล้าสบตามองหน้าใคร ไม่มั่นใจในตัวเอง และอยู่ระหว่างตั้งสติว่าจะเลือกเส้นทางที่คุ้นเคยหรือเริ่มต้นใหม่กับความสุจริตที่แท้จริง  

“มันมีอยู่แวบหนึ่ง เราคิดว่าจะกลับไปทำแบบเดิมหรือเปล่า หาได้เดือนละ 2-3 แสน แต่แม่บอกว่า อย่าไปยุ่ง ยอมลำบากหน่อย อดทน มันไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเรา เดี๋ยวมันจะมีหนทางและหาทางออกได้เอง เราก็ฟังสิ่งเหล่านี้เตือนสติ” 

ติ๊กได้พบกับ โครงการ 'โอกาส' กิจการเพื่อสังคมที่ 'หางาน' ให้อดีตผู้ต้องขัง โดยเข้ารับการอบรม ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 7 วัน เปิดโอกาสไปสู่การทำงาน

"แม่บอกว่า ลองดูสิ 7 วันเอง เสียเวลาไป 4 ปียังอยู่ได้เลย"

อดีตนักโทษหญิง

โครงการนี้เปรียบได้กับการชะล้างสมองและจิตใจของเธอ กลายเป็นคนใหม่ที่เธอคาดไม่ถึง

"สิ่งที่เราคิดชั่วๆ ล้างออกได้หมดเลย การวางตัว ความคิด จากเมื่อก่อนไม่เคยคิดจะใช้คำว่าขอโทษ ขอบคุณกับใคร และคิดว่าเราเป็นคนหาเงินเอง สามารถด่าและทำโน่นทำนี่กับคนอื่นได้ จนมาใช้คำขอโทษกับคนอื่นๆ แล้วสิ่งที่เราได้รับกลับมาคือ เขาก็คุยกับเราดีให้สิ่งดีๆ กับเรา ก็เพิ่งรู้ว่า คำๆ นี้มันใช้แล้วเกิดประโยชน์กับเราจริงๆ 

“เราได้เรียนรู้ว่าการรับฟังคนอื่นมากขึ้นมันดีต่ออีกฝ่ายขนาดไหน เรากลายเป็นคนที่รับฟังคนรอบๆ ข้างคนในครอบครัวมากขึ้น โดยไม่ต้องไปโต้แย้งหรือตั้งแง่ และเราจะได้รับรู้ความต้องการของเขาอย่างแท้จริง กล่อมเกลาจิตใจให้มีพลังคิดบวกมากขึ้น ไม่ทำให้เราคิดจะกลับไปทำในแง่ลบอีก”  

หลังจากได้ผ่านการอบรม กำแพงที่เคยมีในใจระหว่างผู้พ้นโทษและคนในสังคมนั้นทลายหายไป กล้าที่จะออกมายืนในสังคมบนความเป็นมนุษย์เต็มขั้น 

“เขาสอนเราเสร็จ ไม่ได้ทิ้งเราไปเลย แต่ยังตามว่า เราเป็นยังไงบ้าง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เขาช่วยเหลือเราตลอด” 


คุกเรียกสติ 

งานแรกหลังพ้นโทษของติ๊กคือ การเย็บกระเป๋าแฮนด์เมด ซึ่งที่ได้วิชาติดตัวมาจากเรือนจำสมัยอยู่ จ.เชียงราย ต่อมาเป็น ‘งานแพ็กหนังสือ’ ให้กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นเวลา 6 เดือน และล่าสุดเธอได้เข้าทำงานให้กับ Go Organics Thailand คือธุรกิจเพื่อสังคม โดยรับหน้าที่ดูแลออเดอร์สินค้าและจัดส่ง

“เจ้าของให้โอกาสเราได้ทำ ได้คิด และออกแบบการทำงานด้วยตัวเอง สิ่งที่เราได้รับจากในคุกคือ ความอดทน เราเหมือนใจเย็น นิ่ง มีสติมากขึ้นและยอมรับสิ่งที่เป็นไป เมื่อมองย้อนกลับไปไม่เห็นตัวเองในวันนี้แน่นอน ไม่เคยคิดจะเป็นลูกจ้างคนอื่นเขา” เธอบอกและว่าการได้รับโอกาสจากสังคมเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะมีอดีตที่เลิศเลอหรือแย่ต้องการ 

นอกจากวิธีคิดในเชิงความสัมพันธ์และการทำงานแล้ว มุมมองต่อการใช้เงินก็เปลี่ยนไป 

“ก่อนหน้านี้เราใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย เราเคยหาเงินเก่ง สบายๆ คิดจะทำอะไรก็ได้ มั่นใจว่าตัวเองหาเงินได้ ไปข่มทุกๆ คน ทุกๆ อย่าง ข่มแม้กระทั่งพี่น้อง โดยไม่ต้องสนใจใคร

“วันนี้วิธีการใช้เงินของเราไม่เหมือนเดิม คิดรอบคอบมากขึ้น เมื่อก่อนมีรายรับหลายแสนบาท มีบ้าน มีรถ พร้อมทุกอย่าง แต่พออยู่ในคุก บาทหนึ่งก็ไม่มีเข้าไป ต้องมานั่งหาเงินชั่วโมงละ 10 บาท”

เวลานี้อดีตนักโทษวัย 42 ปีรับเงินเดือนหลักหมื่นกลางๆ แต่กลับมีความสุขและสามารถจัดการชีวิตได้ยอดเยี่ยมกว่าอดีตอย่างน่าเซอร์ไพรส์  

“ตอนนั้นมันทำให้เรานิสัยเสีย เราหาได้ ใช้ง่าย เก็บไม่เป็น แต่พอหมื่นห้า เราบริหารได้ยันแม่ ยันลูก ยันพี่น้อง เราทำได้ หมื่นห้านี่มันอุ่น มันกินอิ่มนอนอุ่นอยู่ในใจเราอ่ะ ไอ้แสนห้าที่หามาเราเครียด พรุ่งนี้จะทำยังไงให้เราได้เงินแสนอยู่ในกระเป๋า แต่หมื่นห้าอยู่ได้สบาย

“พอมีเงินอยู่ในตัวเราอยากได้สิ่งนั้น จะเอาให้ได้ และต้องทำให้สำเร็จภายในวันสองวันเลย ไม่ปรึกษาใครด้วย” 

อดีตนักโทษหญิง

เมื่อถามว่า คุกทำให้เป็นคนที่ดีขึ้นไหม ? 

“สำหรับเรานะ ใช่ มันเป็นที่เปลี่ยนนิสัยเรา มันล้างความคิดเก่าๆ จนมาเจอศูนย์จิตตปัญญาศึกษา นั่นล้างทุกๆ อย่างของเรา เรื่องแย่ๆ มันหมดไปเลยจากสมองของเรา” เธอบอกต่อ “เราได้สติมากขึ้นจากก่อนหน้านี้ไม่ฟังใคร คิดอะไรภายในนาทีเดียวตัดสินใจเลย ตอนนี้เป็นสัปดาห์ ไม่มั่นใจโทรปรึกษาผู้รู้ คนที่ปลอดภัยสำหรับเรา” 

ผู้ต้องหาบางคนพ้นโทษออกมาแล้ว กลับเลือกเดินเส้นทางเดิมๆ และวนกลับเข้าไปในห้องขังอีกครั้ง ซึ่งติ๊กบอกว่า เข้าใจผู้คนเหล่านั้น บางคนอยู่ในคุกมาหลายสิบปี สภาพแวดล้อมข้างในตามไม่ทันข้างนอก เมื่อออกไปเจอโลกกว้าง ปรับตัวไม่ได้ บ้านไม่มี ครอบครัวแยกย้าย ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ไม่แคล้วนึกถึงที่ๆ ตัวเองเคยมีที่ยืน

“ยังไงคุกก็มีที่นอน มีข้าวกิน ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนข้างนอก” เธอบอกถึงทัศนะของนักโทษบางคน อย่างไรก็ตามติ๊กแนะนำว่า ต้องเริ่มจากให้โอกาสตัวเอง อดทนหางาน และมีแน่นอนที่พร้อมยอมรับความสามารถ โดยไม่สนอดีตความผิดพลาดของเรา 

สิ่งที่อดีตนักโทษหญิงรายนี้อยากฝากเอาไว้คือ ชีวิตทุกขณะมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะรวยหรือจน สำคัญคือ “อย่าประมาท” และพาตัวเองไปสู่ความเสี่ยง 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog