ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมาประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่วันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งถูกมองเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของ ‘อองซาน ซูจี’

ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งสหภาพประกาศว่า จะมีการจัดเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบททดสอบสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของเมียนมาที่พยายามถอยห่างจากการปกครองโดยตรงของกองทัพ โดยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ที่นำโดย ‘อองซาน ซูจี’ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคว้าชัยชนะได้อย่างถล่มทลาย หากแต่รัฐบาลพลเรือนของนางซูจีก็เผชิญแรงกดดันจากนานาชาติจากปฏิบัติการปราบปรามของกองทัพเมียนมาที่ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องลี้ภัยข้ามไปยังบังกลาเทศเมื่อปี 2560 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้นางซูจีต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เพื่อปกป้องกองทัพเมียนมาจากข้อกล่าวหาข่มขืน วางเพลิงและสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ว่าเหตุดังกล่าวว่าเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประเด็นนี้ก็ถูกมองว่าไม่น่าจะมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญนักต่อการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น 

แม้นางซูจียังคงได้รับความนิยมอย่างสูงในเมียนมา แต่ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบรรลุแผนให้อำนาจการปกครองตนเองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน รวมถึงยังมีการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ในบางกรณี ก็ถูกมองว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกบาดหมางทางการเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ และน่าจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีแนวโน้มส่งเสริมพรรคการเมืองของตัวเองมากกว่าเป็นพันธมิตรกับพรรคเอ็นแอลดี ขณะเดียวกัน อิทธิพลของกองทัพยังคงถูกมองเป็นอุปสรรคอีกประการของนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดี เพราะถึงแม้เมียนมาจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ยังคงให้โควตากองทัพได้มีที่นั่ง 1 ใน 4 ในรัฐสภา และมีอำนาจยังยั้งการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงคนจากกองทัพยังสามารถนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ  

‘โมนยวา ออง ชิน’ สมาชิกอาวุโสของพรรคเอ็นแอลดีเผยว่า พรรคเอ็นแอลดีจะส่งผู้สมัครลงชิงชัยทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศและกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายชื่อผู้สมัคร โดยคาดการณ์ว่าพรรคจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายเหมือนกับเมี่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีน่าจะทำผลงานดีกว่าพรรคอื่นๆ และน่าจะกวาดชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าจำนวนเสียงข้างมากในสภาของเอ็นแอลดีอาจจะลดลง 

ขณะที่ ‘แมทธิว สมิธ’ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรสิทธิมนุษยชน ‘ฟอร์ติฟายไรท์’ (Fortify Rights) เรียกร้องรัฐบาลเมียนมาให้รับรองสิทธิในการเลือกตั้งของพลเรือนที่ต้องพลัดถิ่นหลายแสนคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงในรัฐยะไข่ คะฉิ่น ฉานและชิน ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่ที่ความขัดแย้งยังดำเนินอยู่ มิเช่นนั้นก็จะถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและยุติธรรม 

อ้างอิง Aljazeera / The Washington Post