ไม่พบผลการค้นหา
คำแนะนำจากนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ต่อการบริจาคเงินเพราะความน่าสงสาร ซึ่งหนุนให้เกิดการทารุณกรรม และมากกว่านั้นยังเท่ากับละเลยปัญหาเชิงระบบที่ล้มเหลวของรัฐบาล

การบริจาคเงินแค่จิ๊บจ๊อยสำหรับบางคน เพียงเพราะรูปภาพ สเตตัสหรือข้อความที่น่าสงสารในสื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นการส่งเสริมการทารุณกรรมและอาชญากร ทำร้ายใครคนใดคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

ต่อไปนี้คือคำแนะนำและประสบการณ์จาก 'กนกวรรณ ด้วงเขียว' นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เพื่อเตือนสติผู้ใจบุญ โอนไวทั้งหลาย อย่าได้ตกเป็นเหยื่อพวกโกหกดราม่าหาเงินเลี้ยงชีพ 


หากินง่ายๆ ผ่านการบริจาค 

ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ตกตาข่ายสำรวจการช่วยเหลือและเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

“กลุ่มที่ต้องดิ้นรนพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดมันมีอยู่จริงๆ ในสังคมไทย เหตุฆาตกรรม จี้ปล้นชิงทรัพย์ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนใหญ่มีที่มาจากความยากจน พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด” กนกวรรณ ที่เป็นหนึ่งในแอดมินเพจ ‘นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง’ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมในภาพใหญ่ 

โดยหนึ่งในวิธีหาเงินที่ง่าย รวดเร็วและลงทุนน้อยที่สุดคือ “การรับบริจาค” ซึ่งถูกนำมาใช้ในหลากหลายระดับ ตั้งแต่ โรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน โรงพยาบาล มูลนิธิ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ของเหล่าคนดังศิลปินดารา ไปจนกระทั่งรัฐบาล 

“รัฐบาลยังขอรับบริจาคเลย แล้วทำไมประชาชนจะทำบ้างไม่ได้ นี่ก็กลายเป็นหนึ่งในวิธีคิดและช่องทางหาเงินของกลุ่มผู้แสวงประโยชน์จากความใจบุญของคนไทย”

เธอบอก เมื่อบวกรวมกับนิสัยและความเชื่อเรื่องบาปบุญตามหลักศาสนาพุทธ การบริจาคจึงได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย

ความเหลื่อมล้ำ-คนจน-ผู้มีรายได้น้อย-สวัสดิการ-ผู้ยากไร้


เบื้องหลัง “ความสงสาร” ที่ไม่น่าสงสาร  

คดี ‘แม่ปุ๊ก’ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายลูกและโกงเงินบริจาค สั่นสะเทือนขวัญสังคมและทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ‘สมควรแล้วหรือ ? ที่จะโอนเงินให้กับใครสักคนที่รู้จักกันเพียงเล็กน้อยจากเรื่องราวไม่กี่บรรทัดและภาพน่าเศร้าสลดที่ไม่รู้เบื้องหลัง 

กนกวรรณ บอกว่า คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าบ้านเรามีระบบสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สิ้นไร้ไม้ตอกอยู่แล้ว หลายเคสไม่จำเป็นต้องถึงขั้นระดมเงินบริจาคเลยด้วยซ้ำ 

โดยขั้นตอนการรักษาพยาบาล ไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ เป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับคนไทยทุกคน สามารถรักษาฟรีได้ตามโรงพยาบาลของรัฐ และหากมีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน เดือดร้อนไม่มีเงินเพียงพอ ทุกโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ ต่างมีนักสังคมสังเคราะห์ ทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือ ตลอดจนให้คำปรึกษาเพื่อหาทางออกให้กับคนไข้และครอบครัว 

“เคสไหนมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ถูกส่งมาปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยประสานทางกับทางโรงพยาบาลพิจารณาลดหย่อนค่าใช้จ่ายหรือดูแล”

พฤติกรรมเบื้องหลังที่ กนกวรรณ พบเจอบ่อยๆ คือการถ่ายภาพผู้ป่วยขณะนอนอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รอบๆ เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ สายระโยงระยาง ก่อนนำไปโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ประกอบกับแคปชันน่าสงสาร ทุกข์ทรมาน เพื่อเปิดรับบริจาคจนนำไปสู่ยอดเงินถล่มทลาย 

“บางเคสที่เปิดรับบริจาค ทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ลงไปเช็กจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามีส่วนเกินแค่ 15 บาท แต่คุณได้รับเงินมหาศาล” เธอบอก “รพ.ช่วยค่ารักษาแล้วส่วนหนึ่ง และยังได้รับเงินบริจาคอีก รับไปเต็มๆ” 

กนกวรรณ ด้วงเขียว
  • กนกวรรณ ด้วงเขียว

หลังจากนี้เธอแนะนำว่า ผู้ให้ควร ‘เอ๊ะ’ ไว้ก่อน ถ้าเจอใครตกทุกข์ได้ยาก โดยวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องคือการหยิบโทรศัพท์โทรหา 1300 “ไม่ต้องโอนเงินค่ะ” เธอบอก "หยุด" บริจาคเข้าบัญชีส่วนตัว ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบและให้การช่วยเหลือ ถ้าอยากบริจาค แนะนำให้บริจาคผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ

“เวลาเห็นรูป เอ๊ะไว้ก่อนเลย คนไข้คนนี้น่าจะอยู่ในกลุ่มไหน เข้ารับการรักษาตามสิทธิของตัวเองหรือเปล่า ถ้าถูกต้องรู้ไว้เลยว่ายังไงเขาก็ต้องรักษาฟรี บ้านเรามีหน่วยงานช่วยเหลือทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัด ประสานไปเลยที่ สายด่วน 1300 เขาจะจัดการดูแลตามระบบอย่างถูกต้อง ป้องกันปัญหาที่อาจคาดไม่ถึงได้ในอนาคต ลดปัญหาการซ้ำเติมส่งเสริมอาชญากรหรือทารุณกรรมด้วย” เธอย้ำว่า อย่าตกเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นผู้ส่งเสริมให้ใครตกอยู่ในวงจรที่ไม่เป็นสุข 

https://scontent.fbkk12-1.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/74328063_536832903545106_865947157281112064_n.png?_nc_cat=106&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeHbiB3RbqmIbMafghwcgcODawgggGaSeXBrCCCAZpJ5cBDkw30Y5xStghBzAbFkvqo&_nc_ohc=Hk-FKHZV9ZYAX_g8rcz&_nc_ht=scontent.fbkk12-1.fna&oh=0dc5ce5c5582ebb58e57a5a1bae10cbd&oe=5EF2860B

รัฐบาลอย่าลอยตัว  

ประชาชนบริจาคเงินช่วยเหลือซึ่งกันและกันดูเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจไม่น่าภาคภูมินักของรัฐบาล เพราะสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายหรือกระบวนการที่รัฐทำนั้นเข้าไม่ถึงผู้คนหรือเกิดความล้มเหลวในเชิงระบบ

“รัฐบาลเห็นปัญหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน” กนกวรรณตั้งคำถาม 

เธอบอกว่า การบริจาคเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ได้รับการแก้ไข ถูกหมกเม็ดและวนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด จากคนที่ 1 2 3 4 และ 10 ยาวไปเป็นร้อยเป็นพัน เพราะโครงสร้างและระบบยังคงเหมือนเดิม 

“หลายคนบอกว่ารอรัฐบาลไม่ไหว พึ่งพาไม่ได้ ทำงานช้า มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน บริจาคแล้วเงินไม่ถึงปลายทาง เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการขยับตัวและพัฒนาให้ประชาชนยอมรับและเกิดความไว้วางใจ เพราะคุณมีหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหาชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิการของประชาชน”

นักสังคมสงเคราะห์รายนี้ยืนยันว่า “ไม่ได้ห้ามบริจาค” เพียงแต่อยากเน้นย้ำให้ตระหนักว่าเสียงของประชาชน มีพลังมากกว่าแค่การช่วยเหลือเพียงคนๆ เดียวให้รอดพ้นจากความยากลำบาก เสียงของเราควรไปถึงรัฐบาล และรัฐบาลควรลงมาดูปัญหาที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา 

“แทนที่จะบอกว่าฉันช่วยคนนี้แล้วได้บุญ อิ่มใจจังเลย จริงๆ เสียงของคุณ คุณ และคุณมีพลังมากกว่านั้น ส่งไปยังรัฐและผู้มีอำนาจ รัฐจะอยู่เฉยได้ยังไง คุณต้องเข้าไปดูเคสแบบนี้สิ มันคือหน้าที่ของคุณ” เธอกล่าวน้ำเสียงจริงจัง ดวงตาเป็นประกาย 

“ทำไมเราต้องรอให้เคสๆ หนึ่งเป็นข่าวก่อน ทั้งๆ ที่นักสังคมสงเคราะห์หรือหน่วยงานอื่นๆ เบื้องหลังเขาทำงานกันเกือบตาย แต่ทำไมพอเป็นข่าว รัฐบาลสามารถจัดการตู้มเดียวเรียบร้อย ทำไมไม่ทำตั้งแต่แรก มันแสดงว่า จริงๆ คุณทำได้แต่ไม่ทำนั่นเอง” เธอทิ้งท้ายว่า หากมีระบบที่ยอดเยี่ยม โครงสร้างที่แข็งแรง ความรู้สึกลบและความเหน็ดเหนื่อยใจของประชาชนก็จะจางหายไป 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog