ไม่พบผลการค้นหา
"อดุลย์" ประสานเสียง "จตุพร" จี้ "พล.อ.ประยุทธ์" เคารพเสียงประชาชนหลังการเลือกตั้ง ให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล งดใช้ 250 ส.ว.ชิงเลือกนายกรัฐมตรี ก่อนขั้นตอนการโหวตของ ส.ส.

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมญาติวีรชน เข้าพบนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในฐานะบุคคลหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่คณะกรรมการญาติวีรชนเข้าพบเพื่อขอรับทราบจุดยืนทางการเมือง และขอให้ร่วมกันตรวจสอบการทุจริตคอรัปชันของรัฐบาล คสช.

นายอดุลย์ ระบุว่า รัฐบาล คสช. ได้สร้าง 3 เงื่อนไขสำคัญที่อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวของประชาชนได้ อันประกอบไปด้วย การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่เกินขอบเขต เกิดการทุจริตคอรัปชันเกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม และการด้อยความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน 

แต่เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องเดินสายเพื่อพบปะกับพรรคการเมืองต่างๆเพื่อขอให้ร่วมกันล้างระบบเก่า ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งตรงกับจุดยืนของญาติวีรชนที่ยืนยันมาตลอดว่า ไม่สนับสนุนเผด็จการรัฐประหาร ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนหลังการเลือกตั้ง พรรคใดที่ได้เสียงข้างมากต้องมีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน

โดยในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้า จะจัดเวทีใหญ่เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์เพื่อชาติ นำพาบ้านเมืองออกจากวิกฤต อย่างไรก็ตามหากฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่าที่แคนดิเดตนายกฯในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัวไม่เข้ามาร่วมในเวทีนี้ จะถูกการตั้งคำถามและถูกกดดันจากประชาชนเอง

ด้านนายจตุพร ตอบรับข้อเสนอของนายอดุลย์ พร้อมกับยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องยอมเสียสละเพื่อบ้านเมือง โดยฝ่ายผู้มีอำนาจต้องเป็นผู้เริ่มก่อน จึงขอแนะนำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯและหัวหน้า คสช. แล้วเข้ามาร่วมพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง อันจะนำไปสู่การจัดทำสัญญาประชาคมร่วมกัน โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมเป็นผู้เสียสละ ไม่ใช่กลไกของส.ว. 250 คนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก ต้องรอให้ผ่านขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรก่อน แม้รัฐธรรมนูญจะให้เอกสิทธิ์ส.ว.ไว้ก็ตาม 

นายจตุพร ระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังย้อนกับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ต่างกันเพียงรูปแบบและตัวบุคคล โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน แต่เรื่องของการใช้อำนาจเผด็จการยังคงเหมือนเดิม ซึ่งการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐเหมือนกับการก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรมในอดีต ทั้งนี้เชื่้อว่าทั้ง 4 รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมลาออก จนกว่าพลเอกประยุทธ์จะลาออก ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีทางการเมืองที่เรียกว่า "เฉลี่ยความชิงชัง"