ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตฝุ่น คนกรุงฯ เริ่มตระหนักหันมาใส่หน้ากากอนามัย N95 มากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้น

'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่สอบถามนักท่องเที่ยวย่านแหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พบว่านักท่องเที่ยวบางส่วนรับรู้ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 แต่ไม่ได้มองว่ามีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ และไม่กระทบแผนการท่องเที่ยวของตน ขณะที่บางส่วนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นฝุ่นละอองขนาดเล็กเลย

จากการสุ่มสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว 6 ราย พบว่า นักท่องเที่ยวจำนวน 5 ราย ได้แก่ ไคร่า โธห์ นักท่องเที่ยวชาวเนเธอร์แลนด์ มาร์ธา จากอาร์เจนตินา ลูซ จากเนเธอร์แลนด์ อิวาน และ อลิซ จากสโลวาเกียทราบถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ มาบ้าง แต่ทั้ง 5 ไม่ได้มองว่าปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพรวมถึงการท่องเที่ยวของตน

ลูซ กล่าวว่า เธอเพิ่งมาถึงเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวาน และวันนี้เป็นวันแรกที่เธอออกมาเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยเธอยังคงมีความสุขกับการท่องเที่ยว 


"ฉันมาถึงเมื่อวาน และวันนี้เป็นวันแรกที่ออกมาเดินเที่ยวรอบๆ แต่มันยอดเยี่ยมมาก" ลูซ กล่าว


ขณะที่ ลาร์เชอร์ มาแอล นักท่องเที่ยวฝรั่งเศสกล่าวว่าเธอไม่เคยได้ยินข่าวเรื่องปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ มาก่อน แต่แนะนำว่าการนำพลังงานสีเขียวมาใช้ในเมืองน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี


"อาจจะนำพลังงานสีเขียวเข้ามาใช้ในเมืองเพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่มันแย่สำหรับนักท่องเที่ยว" มาแอล กล่าว

ฝุ่นร้ายทำลายเศรษฐกิจ เสียโอกาสปั๊มการท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ และ ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว

สำหรับส่วนแรก หรือค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ

หากประเมินโดยใช้สมมติฐานว่า ประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจมีอาการเจ็บป่วยจนจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และมีค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ และค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพการงานเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับหน้ากากอนามัยนั้น เฉลี่ยขั้นต่ำที่ 22.5 บาท/วัน ในกรอบเวลา 7-30 วัน คำนวณจากร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ และร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรในปริมณฑล ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกันในเบื้องต้นคิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600-3,100 ล้านบาท

ฉีดน้ำลดฝุ่นละอองแยกอโศก.jpg

ท่ามกลางความพยายามในการแก้ปัญหาฝุ่นควันตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ายังไม่สามารถหาหนทางแก้ปัญหาได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาและการป้องกันด้วยการหันมาดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง โดยวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

ฝุ่นละออง-มลพิษ-หน้ากาก

ในขณะที่ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวจากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย โดยในกรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่สามารถปรับแผนการเดินทางได้ เปลี่ยนเส้นทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน

ในกรณีหลังนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งล่าสุดสื่อต่างประเทศก็เริ่มมีการกล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในไทยหลังจากที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก 

นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องทำประกันก่อนเข้าไทย

ในการคำนวนความเสียหายเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกำหนดให้ราวร้อยละ 1-2 ของนักท่องเที่ยวมีการหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ขณะที่กลุ่มที่มีแผนเดินทางมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ อาจจะปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบแทน ส่งผลให้เม็ดเงินค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,500 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 2.5-4.5 ของรายได้ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่ประเมิน

ส่วนผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณ คือไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561  

แม้การมาเยือนของนักท่องเที่ยวจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเดียวสร้างเงินให้ไทยถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แต่การไม่ให้ข้อมูลที่จำเป็นด้านสุขภาพแก่นักท่องเที่ยวให้เพียงพอไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือความไม่ตั้งใจ ล้วนเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ทั้งนั้นในแง่สิทธิมนุษยชน เราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศเราแต่ต้องกลับประเทศไปมีปัญหาสุขภาพและไม่กลับมาอีกเลย