ไม่พบผลการค้นหา
เจ.พี.มอร์แกน ปล่อยกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วอย่างน้อย 12 ราย ด้วยมูลค่าราว 3,700 ล้านบาท แต่ธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ อีกมากไม่ได้รับความช่วยเหลือ และถูกขัดขวางจากนโยบายที่ไม่มีความเป็นธรรม

บรรดานักกฎหมายในสหรัฐฯ กำลังเร่งมืออย่างหนักเพื่อทำให้โครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก (พีพีพี) กลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้งหลังจากเงินทุนในระยะแรกหมดไปตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายธนาคารหลายคนออกมายอมรับว่าแม้รัฐสภาจะผ่านเงินก้อนใหม่อีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.7 ล้านล้านบาท มาภายในสัปดาห์นี้ เงินจำนวนดังกล่าวก็จะระเหยหายไปในชั่วพริบตาเช่นเดียวกัน เมื่อคำนวณจากอัตราการปล่อยสินเชื่อที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

หากต้องการจะปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดนั้น รัฐบาลกำลังพูดถึงเงินราวๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.54 ล้านล้านบาท 

AFP - ค้าปลีก สหรัฐฯ

'ริชาร์ด ฮันต์' ประธานสมาคมธนาคารผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ชี้ว่า "เงินนี่จะหมดไปภายใน 72 ชั่วโมง แต่มองว่าน่าจะหมดตั้งแต่ 48 ชั่วโมงแรกแล้ว"

นอกจากเม็ดเงินสนับสนุนที่กำลังจะออกมาชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงพอกับความต้องการ การเร่งหารือในครั้งนี้ของเหล่านักกำหนดกฎหมายก็ไม่ได้เข้าไปจัดการปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับเงินรอบที่ผ่านมา อย่างความไม่ชอบธรรมในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดใหญ่และละเลยธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบมหาศาลจากวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน 


มาก่อนได้ก่อน-ยิ่งใหญ่ยิ่งได้

'พีเอ็นซี' หนึ่งในธนาคารผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ที่สุดขงสหรัฐฯ ออกมาประกาศต่อผู้ยื่นคำร้องขอสินเชื่อผ่านธนาคารว่า "ไม่ใช่คำร้องที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจะได้เงินกู้ยืนตรงนี้ แม้ว่ารัฐสภาจะออกเงินสนับสนุนก้อนใหม่มาก็ตาม"

กระแสความไม่พอใจและความโกรธเคืองเกิดขึ้นมากมายในหมู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ทราบข่าวว่าบริษัทรายใหญ่ที่อาศัยช่องว่างในเกณฑ์เงินกู้ที่ออกมาเข้ามาขอรับสินเชื่อระยะแรกไปในมูลค่าอย่างต่ำในหลักสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

แท้จริงแล้ว โครงการสินเชื่อกู้ยืมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กนี้มีเป้าหมายคือกลุ่มบริษัทที่มีพนักงานทั้งสิ้นไม่เกิน 500 คน แต่ช่องโหว่ที่นักกฎหมายเอื้อเอาไว้ระบุว่า บริษัทในเครือโรงแรมหรือร้านอาหารที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน/สาขา สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอสินเชื่อได้เช่นเดียวกัน

ความไม่เป็นธรรมในการปล่อนสินเชื่อเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านกรณีของ เจ.พี.มอร์แกน ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งตามข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนพบว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,700 ล้านบาท ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 12 แห่ง

ธนาคารออกมาแก้ตัวในภายหลังว่า ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบริษัทใหญ่มากกว่าบริษัทเล็กแต่อย่างใด เพียงแต่สาเหตุที่เกิดการปล่อยกู้เช่นนั้นมาจากการที่บางหน่วยงานของธนาคารทำงานได้เร็วกว่าหน่วยงานอื่นๆ อาทิ หน่วยที่ดูแลลูกค้าขนาดใหญ่ได้รับคำร้องในจำนวนที่น้อยกว่าหน่วยที่ดูแลธุรกิจขนาดเล็กจึงสามารถดำเนินเรื่องได้เร็วกว่า

เจพี มอร์แกน - AFP

ด้าน 'เชก เชก' ธุรกิจเครือเบอร์เกอร์ที่ได้รับสินเชื่อจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 325 ล้านบาทจาก เจ.พี.มอร์แกน เลือกออกมาแก้ตัวหลังมีเสียงวิจารณ์อย่างหนักด้วยการสัญญาจะคืนเงินกู้ดังกล่าวนั้นให้กับธนาคาร แต่นั่นก็เป็นการตัดสินใจภายหลังจากที่บริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมา ณ 4,880 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ก่อน 

ขณะที่โฆษกของซิตี้กรุ๊ป เครือธุรกิจธนาคารออกมาชี้แจงผ่านอีเมลว่า ธนาคารจัดการกับคำร้องตามลำดับการส่งเข้ามา และ "เสียใจที่ลูกค้าบางรายไม่ได้รับสินเชื่อก่อนที่เงินกองทุนจะหมดไป" หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารเพิ่งปล่อยสินเชื่อในจำนวน 6.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 214 ล้านบาท ให้กับลินบลาด เอ็กเพดิชัน โฮลดิงส์ บริษัทด้านธุรกิจเรือสำราญมราญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และส่งคำร้องขอสินเชื่อในโครงการนี้ก่อนที่ธนาคารจะเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ให้แก่ธุรกิจทั่วไปด้วยซ้ำ 

ฝั่งโฆษกของบริษัทออกมาชี้แจงว่า ลินบาร์ดฯ สมัครเข้าโครงการสินเชื่อดังกล่าวเนื่องจากธุรกิจไม่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา และยังต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงพนักงานที่บริษัทเลือกจะไม่ปลดออกหรือลดเงินเดือนลง 

นอกจากช่องโหว่เหล่านี้จะช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถมาผลาญเงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก สิทธิประโยชน์ด้านสินเชื่อของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ก็ยังมีจากโครงการสินเชื่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีชื่อว่า 'เมนสตรีท' ในมูลค่าอีกกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19.5 ล้านล้านบาท 

'แดน โอ-มัลเลย์' ผู้อำนวยการบริหารของนูเมอเรต บริษัทเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาระบบการยื่นคำร้องให้กับธนาคารต่างๆ ชี้ว่า "ธุรกิจขนาดใหญ่ยื่นได้คิวเร็วกว่าเพราะพวกเขาดูเลิศหรูกว่า" อีกทั้งในมิติของธนาคาร เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด ตัวเลือกจึงจำเป็นต้องให้ผลตอบแทนที่ใหญ่ที่สุด 


อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในสัมภาษณ์พิเศษกับ 'โจแอนนา แมนน์' เจ้าของธุรกิจขนมพายในรัฐโอไฮโอที่ยื่นคำร้องของสินเชื่อในโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ข้างต้น พบว่า หลังผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ตั้งแต่ยื่นเรื่องเข้าไป เธอยังไม่ได้รับคำอนุมัติสินเชื่อกลับมาแต่อย่างใด

พาย Unsplash

ปัญหาสำคัญสำหรับเจ้าของธุรกิจพายคือธนาคารที่เธอเข้าไปยื่นเรื่องอย่างบักคาย คอมมูนิตี แบงก์ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อพีพีพีนี้กับรัฐบาลตั้งแต่ต้น และการจะไปยื่นขอสินเชื่อใหม่กับธนาคารที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เคยมีประวัติกู้ยืมมาก่อนก็เป็นเรื่องที่ยากมากเช่นเดียวกัน 

ด้วยเหตุนี้ 'โจแอนนา' ยอมรับว่าเธอจำเป็นต้องปลดพนักงานจำนวน 5 จากทั้งหมด 20 คน ออก และเธอ "รู้สึกเป็นไอโง่คนนึงเพราะก่อนหน้านี้ฉันบอกพวกเขาว่าทุกอย่างจะต้องโอเค"

'ฮอลลี เวด' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์นโยบายจากสภาธุรกิจอิสระแห่งชาติ ชี้ว่า ปัญหาที่ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้กำลังเผชิญเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะมันเหมือนว่า "พวกคุณถูกกำจัดไม่ให้เข้าถึงโครงการช่วยเหลือเลย" 

'โจแอนนา' ทิ้งท้ายว่า ถ้ายังไม่มีธนาคารไหนรับคำร้องของเธอสักที ธุรกิจนี้ก็คงอยู่ได้แค่อีกหนึ่งเดือนเท่านั้น 

อ้างอิง; WSJ, NPR, Politico, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;