ไม่พบผลการค้นหา
'อีเอสเอ' ออกมาเตือนปริมาณขยะในอวกาศ ชี้ความเสี่ยงกระทบสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมเตรียมนโยบายรับมือ

องค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เผยผลศึกษาตัวเลขขยะในวงโคจรของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น อยู่ที่ประมาณ 34,000 ชิ้นส่วน โดยเป็นดาวเทียมที่ปลดประจำการประมาณ 3,500 ดวง รวมไปถึงชิ้นส่วนเล็กๆ อีกกว่า 750,000 ชิ้น ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้เดินทางด้วยความเร็วถึง 20,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง 

ขยะในอวกาศ - AFP

ภาพจำลองปัญหาจำนวนขยะในอวกาศเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อดาวเทียมของอีเอสเอต้องพยายามหลบหลีกกับยานอวกาศให้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทสเปซเอ็กซ์

'โยฮัน วอร์เนอร์' อธิบดีอีเอสเอ กล่าวว่า สถานการณ์ในวงโคจรโลกปัจจุบันมีความอันตรายของจำนวนเศษขยะบนอวกาศเทียบเท่ากับการล่องเรือในทะเลหลวง (ขอบเขตของทะเลหรือมหาสมุทรที่อยู่นอกน่านน้ำอาณาเขตของประเทศที่เป็นเจ้าของ) ท่ามกลางซากเรือทั้งหมดที่หายสาบสูญไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

แม้ว่าจำนวนการเกือบชนกันของยานอวกาศหรือดาวเทียมในวงโคจรโลกจะเคยเกิดขึ้นในจำนวนเท่าๆ ปัจจุบันมาก่อน แต่เมื่อผนวกกับโครงการโครงข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของ 'อีลอน มัสก์' ที่ตั้งเป้าว่าจะปล่อยดาวเทียมกว่า 12,000 ดวงขึ้นไปบนวงโคจร อาจจะทำสถานการณ์ต่อจากนี้ 'ฉุกเฉิน' กว่าเดิมมาก

อีลอน มัสก์.jpg

นอกจากนี้ 'โฮลเกอร์ คลัก' ฝ่ายความปลอดภัยทางอวกาศของอีเอสเอ ชี้ว่า ในมิติที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หากไม่มีใครจัดการกับปัญหาที่มีอยู่ต้อนนี้ "เรากำลังเดินหน้าสู่หายนะ" 


เครื่องเก็บขยะอวกาศ

การทำลายเศษซากบนอวกาศไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหานี้ เนื่องจากจะเป็นการก่อให้เกิดเศษขยะชิ้นเล็กๆ เพิ่มขึ้นแทน อีเอสเอจึงวางแผนที่จะส่ง 'หุ่นยนต์เก็บขยะสี่แขน' ขึ้นไปในวงโคจรนอกโลกแทน 

'เคลียร์สเปซ-1' ที่จะถูกปล่อยในปี 2568 ใช้งบประมาณสูงถึง 120 ล้านยูโร หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนวิธีการทำงานของหุ่นยนต์นี้ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด คือการขึ้นไปเก็บขยะอวกาศทีละชิ้น โดนอีเอสเอหวังว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะไปปูพื้นฐานให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกลับมาผลิตหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บขยะได้มากขึ้น 

เป้าหมายของ 'เคลียร์สเปซ-1' คือการเก็บเศษขยะอวกาศที่ชื่อว่า 'เวสปา' ซึ่งลอยอยู่บนวงโคจรของโลกในความสูงประมาณ 800 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก โดยขนาดของ 'เวสปา' จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดโดยเฉลี่ยของดาวเทียมขนาดเล็ก

โครงการหุ่นยนต์เก็บขยะดังกล่าวได้รับการอนุมัติและได้เงินสนับสนุนในที่ประชุมสภารัฐมนตรีอีเอสเอ หรือ สเปซ19+ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ เมืองเซบิยา ประเทศสเปน โดยมี 'เคลียร์สเปซ' สตาร์ทอัพจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ดำเนินการ


'ปากีสถาน' โทษ 'อินเดีย'

ภายหลังจากที่อีเอสเอออกมาเปิดเผยสถานการณ์ความน่าเป็นห่วงของขยะอวกาศ 'ฟาวาด เชาด์รีย์' นักการเมืองอาวุโสชาวปากีสถานซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมากระตุ้นให้ต่างประเทศเข้ามาสอบสวนการ "ไร้ความรับผิดชอบ" ของโครงการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของสำนักงานโครงการเศษซากของนาซ่า ชี้ว่า ขยะอวกาศที่เกิดจากอินเดียยังคงน้อยกว่า ที่มาจาก รัสเซีย สหรัฐฯ และจีน แต่อัตราการเติบโตของการสร้างขยะอวกาศของอินเดียก็เติบโตจาก 117 ชิ้น ในปี 2561 เป็น 163 ชิ้นในปี 2562 

สุดท้าย สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นตัวการของปัญหาทั้งหมดอาจจะไม่ใช่อินเดียแต่เพียงประเทศเดียว เพราะ อีเอสเอ ออกมากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ใดออกมาเพื่อปกป้องพื้นที่บนอวกาศ ทุกประเทศมีเสรีภาพในการใช้พื้นที่บนอวกาศทั้งสิ้น และสุดท้ายหากยังไม่มีกฎเกณฑ์ใดออกมา ก็อาจต้องฝากความหวังไว้กับความรับผิดชอบของผู้สร้างดาวเทียม

อ้างอิง; BBC, EN, The Guardian, Science Alert