ไม่พบผลการค้นหา
ฟังความเห็นอย่างรอบด้านทั้งจากผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยและวิศวกรยานยนต์ ภายหลังคำสั่งไฟเขียวให้รถตู้เปลี่ยนเป็นมินิบัส 'แบบสมัครใจ' กำลังถูกตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน 'กระทรวงคมนาคม' ทำให้ความปลอดภัยถอยหลังหรือไม่ ?

การประกาศไม่บังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะเปลี่ยนมาเป็น ‘รถไมโครบัส’ หรือ ‘มินิบัส’ และสั่งให้กรมการขนส่งทางบกศึกษาขยายอายุการใช้งานรถตู้จาก 10 ปี เป็น 12 ปี ของ 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

คำถามก็คือการตัดสินใจครั้งนี้ มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่ 


เปลี่ยนไม่ไหวเพราะ ‘ต้นทุนสูง’

รวดเร็ว ประหยัดเวลา คล่องตัวสูง กลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ส่งผลให้ 'รถตู้' ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'อันตราย' คือสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกหนีไม่พ้น โดยปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้ง จนนำไปสู่การประกาศจาก 'อาคม เติมพิทยาไพสิฐ' รมว.คมนาคม ในรัฐบาลก่อน โดยระบุ ไม่อนุญาตจดทะเบียนรถตู้โดยสารสาธารณะ เป็นรถโดยสารประจำทางอีกต่อไป เพื่อบีบให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรถมินิบัส ภายในวันที่ 13 ส.ค. 2562

'ทรงพล พวงทอง' รองนายกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัด ชี้แจงว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับรถทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะรถตู้เท่านั้น โดยอาจมีสาเหตุจาก 1. สภาพถนน 2. ไฟส่องสว่าง 3. ป้ายสัญญาณจราจร และ 4. คนขับรถทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันมีการอบรมคนขับเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนและการดูแลผู้โดยสาร เพื่อให้ห่างจากการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

ทรงพล บอกว่า ไมโครบัสและมินิบัสเป็นรถที่ดี แต่อาจไม่เหมาะสมกับการเดินทางบางพื้นที่ โดยเฉพาะระหว่างอำเภอที่มีผู้ใช้บริการน้อย 

รถตู้

'ปัญญา เลิศหงิน' นายกสมาคมรถตู้โดยสาร กรุงเทพฯ - ปริมณฑล กล่าวว่า รถตู้มีราคา 1.3 ล้านบาท ขณะที่มินิบัสมีราคาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ผู้ขับจึงไม่สามารถรับภาระการผ่อนส่งในระดับ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือนได้ 

"ทุกคนอยากได้รถใหม่ สภาพดี แต่พวกเราอยู่ไม่รอด กลางวันไม่มีคนหรือขึ้นไม่เต็ม ผมถามว่าคุ้มไหม" เขาบอกต่อ "ช่วงกลางวันบางสายใช้เวลานานเกือบชั่วโมงกว่าจะมีคนนั่งเต็ม รถถึงได้ออก ผู้โดยสารเบื่อกันมาก แต่ต้องทน"

ปัญญา แนะว่า หากต้องการประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือผ่อนชำระ เช่น ยืดระยะเวลาการผ่อน ในระยะ 15-20 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถลืมตาอ้าปากได้ 


ลดโอกาสตายด้วยมินิบัส  

'นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์' ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เผยว่า 3 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2559- 2561) แนวโน้มเกิดเหตุและเสียชีวิตของผู้โดยสารรถตู้สาธารณะดีขึ้นหลังจากที่รัฐมีมาตรการเข้มทั้งติดตั้งระบบ GPS ควบคุมความเร็วและชั่วโมงทำงานของคนขับ รวมถึงปรับเก้าอี้เหลือ 13 ที่นั่ง 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข "การตายต่อครั้ง" ยังลดลงไม่มากนัก จาก 0.54 เหลือ 0.44 หรือพูดง่ายๆ การชน 1 ครั้งตาย 0.44 คน การจะให้เป็น 0 ต้องไปเน้นปัจจัยหลังเกิดเหตุ เช่น ชนแล้วไม่เกิดเพลิงไหม้ หรือไฟไหม้ก็หนีทัน มีประตูออกได้สะดวก ซึ่งรถตู้ไม่สามารถทำได้

รถตู้

(ข้อมูลจาก - ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน)

'รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์' รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย "โครงการการศึกษาความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ" ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เมื่อปี 2559 ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารเส้นทางระหว่างเมือง (หมวด 2 และ 3) สูงกว่าคนใช้รถบัสโดยสารถึง 5 เท่า และความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุก็สูงกว่า 3-4 เท่า 

รถตู้ที่ให้บริการเส้นทางระหว่างเมือง มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุถึง 75 ครั้ง ต่อรถ 10,000 คัน ในระยะเวลา 1 ปี ขณะที่อัตราการตายอยู่ที่ 40 คน ต่อรถ 10,000 คัน ใน 1 ปี 

นอกจากนี้ยังมีงานวิชาการและเหตุผลอื่นๆ รองรับจำนวนมาก โดยการศึกษาของต่างประเทศพบว่า รถตู้มีปัญหาในเชิงความปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากโครงสร้างที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้โดยสารมากนัก มีปัญหาเรื่องความเสถียรที่เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ โดยเฉพาะเมื่อบรรทุกผู้โดยสารเต็มคันและเปลี่ยนทิศทางการขับขี่อย่างรวดเร็ว ขณะที่อุปกรณ์ภายในก็ไม่ได้รองรับความปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพมากเท่ากับรถยนต์ทั่วไป  

เดินทาง รถตู้ สังคมไทย คนไทย เศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย มองว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารมาจากการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ เนื่องต้องการวิ่งทำรอบ หรือเป็นพฤติกรรมส่วนตัวในการขับรถเร็ว แตกต่างกับมินิบัสที่สามารถทำความเร็วหรือการแซงได้ช้ากว่ารถตู้

ดังนั้นอุบัติเหตุรถตู้จึงเกี่ยวข้องกับยานพาหนะโดยตรง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายเคสอุบัติเหตุ เมื่อเกิดการชนเกิดขึ้น ถังน้ำมันและท่อน้ำมัน ซึ่งอยู่ข้างหน้าจะแตกทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ ส่งผลให้ผู้โดยสารกองไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของรถ ผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บอยู่แล้วจึงไม่สามารถหลบหนีออกจากเปลวเพลิงได้

ขณะที่มินิบัสเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่ภายในมากกว่า มีช่องทางเดินตรงกลาง หน้าต่างมีขนาดใหญ่กว่า มีประตูฉุกเฉินทางด้านขวา และส่วนใหญ่มักจะมีประตูฉุกเฉินบนหลังคารถด้วย จึงสามารถหนีออกมาได้เร็วกว่ารถตู้

รถตู้.jpg

การยกระดับความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ รัฐบาลต้องทำให้องค์ประกอบทุกด้านของการเดินทางนั้นปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น คนขับรถตู้ ยานพาหนะ อุปกรณ์นิรภัย ผู้โดยสาร สภาพถนนและสิ่งแวดล้อม ขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง การยกระดับความปลอดภัยจะล้มเหลวทันที กระทรวงคมนาคมจึงไม่สามารถที่จะไปมุ่งหวังเฉพาะตัวคนขับรถเพียงอย่างเดียวได้ แนวคิดนี้ได้ถูกพิสูจน์มาแล้วในหลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางด้านความปลอดภัยทางถนน


ความปลอดภัยคือฉันทามติ

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนรถโดยสารในระบบสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หากกระทบกับต้นทุนและค่าโดยสาร ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยอาจมีมาตรการและนโยบายช่วยเหลือและจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ เป็นต้น 

"ความปลอดภัยต้องเป็นฉันทามติของสังคมไทย ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรูปแบบไหนก็ตาม นโยบายต่างๆ ก็ควรจะเดินตามนี้ ไม่ใช่ใช้เหตุผลอื่นๆ แล้วบอกว่าความปลอดภัยเอาไว้ก่อน" เขาบอกต่อ 

"ถ้าการเดินทางที่เหมาะสมปลอดภัยมีต้นทุนสูง รัฐก็ควรยื่นมือเข้ามาช่วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการหรือผู้โดยสารแบกรับต้นทุน" 

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งเชื่อว่า การเปลี่ยนจากรถตู้ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 13 ที่นั่งเป็นมินิบัสที่มีความจุ 18-24 ที่นั่ง อาจกระทบกับความถี่ในการเดินรถบ้าง แต่ไม่น่าเป็นปัญหามากนักและคุ้มค่าเมื่อต้องแลกกับความปลอดภัย 

หมอชิต-รถตู้-รถโดยสาร

นอกจากนั้น รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ยังแนะนำให้ปรับปรุงพื้นที่สถานีขนส่งในต่างจังหวัดให้มีความสะดวก เอื้อต่อการเข้าถึงและการเดินทางต่อเนื่องของประชาชน จากสถานีสู่บ้านเรือน ที่ผ่านมารถตู้กลายเป็นที่นิยม เนื่องจากมีความคล่องตัวและสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้หลากหลายกว่ารถโดยสารขนาดใหญ่ 

"ปัญหาคือไทยไม่ลงทุนกับสถานีขนส่งสาธารณะ มีหลายแห่งถูกย้ายออกไปนอกเมือง นำไปสู่การเดินทางที่ไม่สะดวกสบายของประชาชน" เขาบอกถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนนิยมรถตู้  

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ ยืนยันว่า ยิ่งอายุรถเพิ่ม ยิ่งรุนแรง โดยการศึกษาของกระทรวงคมนาคมสหรัฐ (USDOT) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบรถอายุ 15 กับ 10 ปี มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40

รถตู้

"คนขับ" เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุเพียงส่วนหนึ่ง แต่เราจำเป็นต้องมุ่งเป้า ลดเกิดเหตุ และลดการตายด้วย ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยเรื่องโครงสร้างรถมาช่วย 

หากต้องการการเปิดช่องให้รถตู้เปลี่ยนมินิบัส "สมัครใจ" ถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ม เช่น อนุญาตให้เฉพาะเส้นทางใก���้ๆ ในเขตเมืองเท่านั้น และรถที่อายุเกิน 10 ปี ก็ต้องเข้มทั้งเส้นทางที่วิ่ง ความเร็ว การตรวจสภาพรถ ระบบการดูแลรักษา ที่เข้มงวดกว่ารถที่ยังไม่ครบ 10 ปี


คุ้มค่า – แพ็กเกจพิเศษ   

"คุ้มกว่า สบายกว่า ปลอดภัยกว่า" ณัฐ วินิจธรรมกุล วิศวกรยานยนต์ จากบริษัท VECOVT Group Co., Ltd. ตอบ 'วอยซ์ออนไลน์' เมื่อถูกถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัส 

เขาขยายความว่า หากประเมินอย่างรอบคอบ ราคาต่อที่นั่งมินิบัสถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบรถตู้ โดยมีถึง 18-20 ที่นั่งไม่รวมคนขับ ขนาดความยาว 6-7 เมตร ในราคา 1.5-1.6 ล้านบาท หรือประมาณ 8 หมื่นบาทต่อที่นั่ง ขณะที่รถตู้มี 13 ที่นั่ง ในราคา 1.3 ล้าน หรือคิดเป็น 1 แสนบาทต่อที่นั่ง 

สบายกว่า ในแง่ของขนาดความกว้างของห้องโดยสารและพื้นที่การเดินขึ้น-ลง 

ปลอดภัยกว่า มีประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง อุปกรณ์ทุบกระจก และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง ก็สามารถหลบหนีได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะบริเวณหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่มาก รวมถึงด้านบนหลังคา

"มินิบัสไม่สามารถขับซิกแซกแซงได้รวดเร็วเหมือนกับรถตู้ เนื่องจากขนาดของตัวรถ นั่นหมายความว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุก็ลดน้อยลง"

รถตู้

(ภาพจาก บริษัท VECOVT Group Co., Ltd. ผู้จัดจำหน่ายมินิบัส)

ณัฐระบุว่า อุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัสคือ 'เงินทุน' ซึ่งปัจจุบันผู้ขายบางแห่งมีวิธีการที่เอื้ออำนวยแก่ผู้ประกอบการเป็นพิเศษ มีแพ็กเกจลดภาระในการดาวน์และมูลค่าการผ่อนชำระต่อเดือน หรือแม้แต่ขยายเวลาการผ่อนให้ยาวนานกว่าปกติ 

"เราอาจเคยชินกับรถตู้ แต่จริงๆ การขนส่งสาธารณะในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เขาใช้มินิบัส ไมโครบัสกันหมด มันเป็นรถ 6 ล้อที่ออกแบบโครงสร้างมาเพื่อใช้ขนส่งคนจริงๆ ครับ" วิศวกรยานยนต์ทิ้งท้าย 

สกู๊ปมินิบัส


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog