ไม่พบผลการค้นหา
นับถอยหลัง 4 ตุลาการชุดเก่า ล่าสุดที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ 4 ตุลาการศาล รธน.คนใหม่ ขณะที่ 'ชั่งทอง' ซึ่งได้รับเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งต้องสรรหาใหม่ใน 60 วัน ด้าน 4 ตุลาการใหม่ต้องประชุมร่วมกับชุดเก่าโหวตเลือกประธานศาล รธน.คนใหม่

ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ได้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาจำนวน 4 คน ซึ่งได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 125 คะแนน ประกอบด้วย 1. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้รับความเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง

2. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้รับความเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง

3. นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้รับความเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง

4. นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหารตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 4 เสียง

สำหรับ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) โดยได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ได้รับความเห็น 52 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 139 เสียง ไม่ออกเสียง 28 เสียง ซึ่งได้คะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (คือน้อยกว่า 125 เสียง) จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมและรายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 16 ครั้ง ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

วุฒิสภาฯ ขยายเวลาสอบประวัติ 4 ครั้งก่อนโหวตเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2562 ได้มีมติตั้ง กมธ.สามัญเพื่อตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 2.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 4.นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ และ 5. นายนภดล เทพพิทักษ์ โดยกำหนดเวลาปฏิบัติงานภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.สามัญ และจะครบกำหนดในวันที่ 16 ต.ค. 2562

หลังจากนั้นวุฒิสภาได้มีมติให้ขยายเวลาการตรวจสอบอีก คือวันที่ 20 ต.ค. 2562 และวันที่ 3 ธ.ค. 2562 ซึงได้ขยายเวลาครั้งละ 30 วัน และจะครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. 2562 โดยการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2562 ได้ขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 4 อีก 15 วัน และครบกำหนดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้รวบรวมข้อเท็จริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นเสร็จเรียบร้อย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ประชุมวุฒิสภาจึงลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนใหม่ 4 คน และไม่เห็นชอบ 1 คน

สำหรับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกและสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด 5 ราย ดังนี้แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร ตุลากาศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5.นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับ 5 ตุลาการชุดปัจจุบัน คณะกรรมการสรรหาได้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้อยู่ในตำแหน่งก่อนหน้านี้ แม้จะอยู่เกินวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 ยังคงให้ 5 ตุลาการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) จะเข้ารับหน้าที่ และให้เป็นอำนาจคณะกรรมการสรรหาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าตุลาการทั้ง 5 คนจะต้องมีการคัดเลือกและสรรหาตามประเภทใด

ต้องสรรหาตุลาการสายศาลปกครองใหม่ใน 60 วัน

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 กำหนดในกรณีวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น ซึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป 

โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกในครั้งใหม่นี้ไม่ได้ และเมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับตุลาการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับตุลาการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจํานวนถึง 7 คน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้

และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลประกอบด้วยตุลาการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง