ไม่พบผลการค้นหา
หลังมีผู้เสียชีวิตบนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ถึง 11 คนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนปาลเตรียมออกกฎกำหนดประสบการณ์ ให้นักปีนต้องผ่านการพิชิตเขาสูงกว่า 6,500 เมตรมาก่อน จึงจะอนุญาตให้ท้าทายเอเวอร์เรสต์ได้

ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขาเอเวอร์เรสต์ถึง 11 ราย โดยเสียชีวิตในฝั่งเนปาล 9 ราย และเสียชีวิตในฝั่งทิเบต 2 ราย รัฐบาลเนปาลถูกบรรดานักปีนเขาและไกด์วิพากษ์วิจารณ์ที่ปล่อยให้ใครก็ตามที่จ่ายเงิน 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 340,000 บาท) สามารถปีนเขาเอเวอร์เรสต์ได้ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐของเนปาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการปีนเขา และหน่วยงานตัวแทนกลุ่มนักปีนเขา

ทางคณะกรรมการได้ยื่นรายงานเสนอต่อรัฐบาลให้ออกข้อกำหนดว่าผู้ใดที่ต้องการจะปีนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ซึ่งมีความสูง 8,848 เมตร จะต้องผ่านการปีนยอดเขาในเนปาลที่มีความสูงกว่า 6,500 เมตรมาอย่างหน่อยหนึ่งลูก จึงจะได้รับการอนุญาตให้ปีนเขาเอเวอร์เรสต์ได้ รวมถึงต้องมีใบรับรองสมรรถภาพทางกาย และจ้างไกด์ผู้มีประสบการณ์ชำนาญด้วย

กันชาม อุปัชฌายะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบินพลเรือนประเทศเนปาล กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ข้อนำเสนอต่างๆ จะถูกนำไปบังคับใช้ รัฐบาลจะปรับแก้กฎหมายและข้อบังคับการปีนเขาที่จำเป็น

นอกจากนี้ ในรายงานของคณะกรรมการยังเสนอให้ขึ้นค่าธรรมเนียมอนุญาตการปีนเอเวอร์เรสต์เป็น 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้าน 8 หมื่นบาท) เป็นอย่างต่ำ และค่าธรรมเนียมสำหรับการปีนเขาลูกอื่นๆ ที่สูงกว่า 8,000 เมตร เป็น 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 620,000 บาท) โดยเนปาลซึ่งเป็นบ้านของยอดเขาที่มีความสูงกว่า 8,000 เมตรถึง 8 จากทั้งหมด 14 ยอดในโลก

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการอนุญาตปีนเขาปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 11,000 ดอลลาร์ฯ นั้นเป็นแหล่งรายได้ก้อนโตของประเทศเนปาล ทางรัฐบาลได้ออกใบอนุญาตให้นักปีนเขาท้าทายความสูงของเอเวอร์เรสต์ถึง 381 คน และส่วนใหญ่ก็มักปีนกันในเดือนพฤษภาคมซึ่งแสงแดดและสภาพอากาศโหดร้ายน้อยที่สุด

นักปีนเขาจำนวนมากในเดือนพฤษภาคม ทำให้นักปีนเขากว่าร้อยชีวิตเกิดภาวะแออัดติดขัดเป็นคอขวดที่ระยะสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนเบาบางเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และบางกรณีก็เกิดเหตุออกซิเจนในถังออกซิเจนก็หมดระหว่างที่คนนับร้อยต่อคิวกันเพื่อรอขึ้นสู่ยอดเขา

อย่างไรก็ตาม มิรา อาจารยา หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการนำเสนอข้อบังคับการปีนเขาใหม่นี้ ชี้ว่าสาเหตุที่นักปีนเขาเสียชีวิตนั้น เป็นเพราะการป่วยจากความดันอากาศในที่สูง โรคหัวใจร่างกายอ่อนแอหรืออ่อนล้า ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะการจราจรที่หนาแน่นบนยอดเขา

ทางด้าน ไซมอน โลว กรรมการผู้จัดการบริษัทแจ็กต์โกลบ (Jagged Globe) บริษัทนำท่องเที่ยวปีนเขา ก็ชี้ว่าการกระจุกตัวของนักปีนเขาเอเวอร์เรสต์จำนวนมากในปีนี้ ทำให้คนมองข้ามประเด็นของการขาดประสบการณ์ไป โดยยกตัวอย่างว่าหากนักปีนเขานำออกซิเจนสำรองติดตัวไปในปริมาณขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อต้องรอคิวผู้รอขึ้นสู่ยอดเขาเป็นเวลานานย่อมเกิดปัญหาเพราะนำออกซิเจนสำรองมาไม่เพียงพอ

ที่มา: BBC / Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: