ไม่พบผลการค้นหา
เอไอไม่เพียงทำให้ช่องว่างด้านรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายเพิ่มสูงขึ้น เรายังอาจจะต้องเผชิญกับเอไอที่มีความลำเอียงด้านเพศด้วย

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และการนำเครื่องจักรมาใช้งานแทนคน มักถูกหยิบยกมาพูดถึงว่าเป็นการก้าวกระโดดไปข้างหน้าของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัววัดความก้าวหน้าทางสังคม โดยเฉพาะช่องว่างด้านค่าแรงระหว่างเพศ

รายงานชิ้นใหม่จากเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ( World Economic Forum; WEF) บ่งชี้ให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของงานในอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างเทคโนโลยีและวิศวกรรม มีความไม่สมดุลกันระหว่างสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งส่งผลต่อความพยายามในการลดช่องว่างความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้

ความแตกต่างระหว่างรายได้โดยเฉลี่ยระหว่างผู้หญิงและผู้ชายแคบลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานในการทำให้ความแตกต่างหายไป ซึ่งมีการประเมินว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 202 ปี และเวลาที่คาดการณ์นี้จะขยายออกไปอีก หากไม่สามารถทำให้เพิ่มตำแหน่งงานให้แก่ผู้หญิงได้มากขึ้น

2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่องว่างกว้างขึ้น

ซาร์เดีย ซะฮิดี กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าแผนปฏิบัติงานด้านสังคมและเศรษฐกิจของ WEF กล่าวถึงปัจจัย 2 ประการที่จะยิ่งทำให้ความพยายามลดช่องว่างทางด้านรายได้บรรลุเป้าหมายช้าลงไป ประการแรก คือ อาชีพหลายอย่างในปัจจุบันที่มีผู้หญิงทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น งานในสายบริหารหรืองานบริการลูกค้า กำลังถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีเอไอ ประการที่สอง คือ อาชีพสำคัญที่กำลังเติบโตและต้องการแรงงาน เช่น งานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในฝั่งไอที มีสัดส่วนผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาก

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว

ปัญหาการขาดแรงงานหญิงในอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งมาจากภาพจำในอดีตที่คนทำงานในสายนี้มักเป็นผู้ชาย ส่งผลต่อช่องว่างค่าแรงระหว่างเพศ

ขณะที่อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นแวดวงที่เกิดช่องว่างระหว่างค่าแรงมากถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมเอไอในปัจจุบันมีสัดส่วนแรงงานผู้หญิงเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น

ความไม่สมสัดส่วนระหว่างแรงงานเพศชายและเพศหญิงไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสำคัญของปัญญาประดิษฐ์คือการคิดและเลียนแบบการกระทำของมนุษย์ หากความฉลาดนั้นถูกออกแบบโดยเพศชายเพียงฝ่ายเดียว ความเสี่ยงที่จะเกิดการสร้างโปรแกรมที่มีความลำเอียงทางเพศย่อมมีสูงขึ้นไปด้วย

ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมไอที

จากรายงานของ WEF จะพบว่าในปัจจุบัน หลายภาคส่วนมองเห็นความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมของแรงงานเพศชายและเพศหญิง และมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาในวงการไอทีมากขึ้น ท่ามกลางความพยายามจากหลายภาคส่วน การศึกษา ระบบสาธารณสุข และองค์กรไม่แสวงผลกำไรดูจะมีผลลัพธ์ดีที่สุด โดยมีสัดส่วนผู้หญิงในด้านปัญญาประดิษฐ์มากกว่าผู้ชาย แต่ก็ยังมีงานอีกหลายอย่างต้องทำต่อไป

เอสจีอินโนเวท (SG Innovate) เครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ ผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมไอทีมากขึ้น โดยมีทั้งการสนับสนุนการฝึกงานและการจ้างงาน สตีฟ เลนเนิร์ด ซีอีโอ ของเอสจีอินโนเวท กล่าวว่า วิธีการที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาในวงการเทคโนโลยีคือการให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ตรงกับงานเพื่อทำลายภาพจำเก่าๆ ทิ้งไป

"ยังมีอะไรต้องทำอีกมากในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาในสายงานที่เกี่ยวกับ สเต็ม (STEM: Sciences Technology Engineering and Math) ผู้ก่อตั้งบริษัทฉลาดๆ หลายคนที่เราสนับสนุนเป็นผู้หญิง และพวกเธอทำงานอยู่ในสายงานเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ และเทคโนโลยีการแพทย์ ผมมั่นใจว่าเราจะเห็นผู้หญิงเข้ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกที่เราอยู่" สตีฟ กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว หากต้องการให้ช่องว่างต่างๆ หายไป จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทั้งชายและหญิง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำให้สำเร็จฝ่ายเดียวได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางแห่งความพยายามไปถึงผลลัพธ์ปลายทางนั้น เพศหญิงจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ไม่ติดภาพว่าอาชีพหรือสายงานเหล่านั้นมีเพียงเพศชายเท่านั้นที่ทำได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สำเร็จได้ หากมีความมุ่งมั่นที่จะทำ

อ้างอิง; CNBC