ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เผย ครม.เห็นชอบ 7 โครงการดูแลราคายางพารา ตั้งเป้าดันไปที่กิโลกรัมละ 65 บาท เคาะลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบลง 200,000 ตัน ด้านโฆษกรัฐบาล ระบุ คสช.จ่อใช้อำนาจ ม.44 ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อยางไปทำถนนได้ ตั้งเป้า 2 แสนตัน

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบแนวทางการดูแลราคายางพารารวม 7 โครงการโดยมีราคาเป้าหมายราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท เพื่อเป็นการทบทวนมติ ครม.เดิม 2 โครงการและโครงการตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เมื่อวันที่ 15ธ.ค.ที่ผ่านมา

อีก 5 โครงการ โดยโครงการที่ทบทวนมติครม. 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ให้กับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางชั้นปลายน้ำ

 ส่วนนี้ครม.เคยอนุมัติวงเงินสินเชื่อไว้แล้ว 15,000 ล้านบาท และกำหนดให้สมัครเข้าร่วมโครงการถึงเดือนก.ย.2559 ขณะนี้ยังเหลือวงเงินอยู่ 6,112 ล้านบาท จึงให้ขยายเวลารับสมัครไปถึงเดือน มิ.ย.2561 และอีก 5 โครงการตามมติกนย.

สำหรับอีกโครงการคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้สถาบันเกษตรกร ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อไว้ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3 เปอร์เซ็นต์ และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สนับสนุนดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร 0.49 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) วันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยขณะนี้มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบกว่า 500,000 ตัน ส่งผลทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางแก้ไขโดยลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบลง 200,000 ตัน ภายในเดือน ธ.ค.2560 แบ่งเป็นให้ผู้ส่งออกและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 100,000 ตัน

และให้กระทรวงพลังงานประสานงานกับผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลจำนวน 100,000 ตัน ส่วนการช่วยเหลือเกษตรรายย่อย ให้องค์การคลังสินค้า(อคส.)หารือร่วมกับเกษตรกรและโรงสกัดน้ำมันปาล์มกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรขายปาล์มน้ำมันได้ราคาดีขึ้น โดยเน้นการผลิตปาล์มคุณภาพ

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า ที่ประชุม คสช.เห็นชอบในหลักการให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาการจัดซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อยางไปทำถนนได้ โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการซื้อให้ได้ 2 แสนตัน

ซึ่งคำสั่งดังกล่าว จะเข้าไปปลดล็อกเงื่อนไขทางกฎหมาย ให้หน่วยงานของรัฐสามารถซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นกันได้ ทั้งนี้ การพิจารณาใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ฉบับดังกล่าวจะต้องรอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ความเห็นก่อนว่า หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อพัสดุของรัฐได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่