ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจพบ 1 ใน 5 ของชาวอเมริกันวัยทำงานมีอาการทางจิต แต่ไม่กล้าลางานไปรักษาตัว เพราะกลัวถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความก้าวหน้าทางอาชีพ ด้านที่ปรึกษาสมาพันธ์จิตเวชแนะพนักงานรู้จักใช้สิทธิลาป่วยทางจิตเพื่อไปรักษาตัว

บาร์บารา ริชชี ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพฤติกรรมและสุขภาพของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และสมาพันธ์จิตเวชแห่งสหรัฐฯ เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว ระบุว่าประชากรอเมริกัน 43.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 18.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต โดยอ้างอิงข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐฯ (NAMI) 

อาการทางจิตที่ส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคเครียด โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์แปรปรวน แต่ผู้มีอาการเหล่านี้มากกว่าครึ่งไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพราะกลัวว่าการยอมรับว่าตัวเองป่วยจะส่งผลต่อหน้าที่การงาน เช่น ไม่ได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้น หรือเพื่อนร่วมงานรังเกียจ จึงไม่กล้าลางานไปรักษาตัว ขณะที่พนักงานบริษัทบางคนระบุว่าการลาป่วยไปรักษาอาการทางจิตต้องเปิดเผยรายละเอียดให้นายจ้างทราบ จึงรู้สึกไม่อยากไปรับการรักษา

อย่างไรก็ตาม ริชชียืนยันว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานของสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่าพนักงานที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชต่างๆ ไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย สามารถใช้สิทธิลางานได้โดยบริษัทจะต้องเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไปจะต้องมีโครงการช่วยเหลือพนักงาน หรือ EAP ซึ่งครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาและบริการด้านจิตเวชแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หากนายจ้างใช้เหตุผลดังกล่าวในการเลิกจ้างหรือระงับการขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและมีความผิด

ด้านเว็บไซต์แกลมมัวร์ของสหรัฐฯ รายงานเช่นกันว่า ชาวอเมริกันจะต้องพูดคุยเรื่องแนวทางแก้ปัญหาพนักงานป่วยด้วยโรคทางจิตในที่ทำงานกันมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าการทำงานจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้พนักงานป่วยทางจิต แต่เห็นได้ชัดว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น 

เบ็ธ ซัลเซโด ประธานบริหารสมาคมโรคเครียดและโรคซึมเศร้าแห่งสหรัฐฯ ย้ำกับแกลมมัวร์ว่า ผู้ที่มีอาการทางจิตจำนวนมาก 'ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย' ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการไปจนถึงระดับซีอีโอ เพราะสภาพการทำงานที่บุคลากรคนหนึ่งต้องรับมือโดยเฉลี่ยในปัจจุบันเทียบได้กับงานที่ต้องใช้คน 3 คนจัดการเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้พนักงานป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ไม่มีเวลาไปออกกำลังกายหรือจัดการความสมดุลในชีวิต ความสัมพันธ์ในครอบครัวได้รับผลกระทบ และผู้มีภาวะเครียดจะเริ่มนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ ซึ่งยิ่งทำให้อาการทางจิตรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะกระทบต่อเพื่อนร่วมงานและบรรยากาศในการทำงานโดยรวม การปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้คนกล้าพูดเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น จะนำไปสู่การรักษาเยียวยาอาการอย่างทันเวลาและถูกวิธี

นอกจากนี้ รายงานของ NAMI ยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยทางจิตที่ไม่ได้รับการรักษาจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 25 เท่าของผู้ที่ไม่ได้ป่วย และการรักษาอาการผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังจะต้องใช้งบประมาณต่อเนื่องกว่า 1.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 64 แสนล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม: