ไม่พบผลการค้นหา
ต่างจังหวัดที่ขาดแคลนอุปกรณ์และงบประมาณ ทำให้ประยุกต์ใช้ทรัพยากรจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่อายที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรทั้งในและนอกประเทศ โดยไม่ห่วงหน้าตาหรือภาพลักษณ์

ในห้วงเวลากว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วทั้งประเทศไทยและเกือบทั้งโลกต่างเอาใจช่วยกับภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จนประสบความสำเร็จพบตัวเด็กชาย 12 คนและโค้ช ในดึกคืนวันที่ 2 กรกฎาคม และช่วยเหลือนำตัวทั้ง 13 คนออกมาได้ครบทั้งหมดในค่ำวันที่ 10 กรกฎาคม สร้างความปิติยินดีและชื่นใจต่อคนทั้งโลก

ความสำเร็จในการกู้ภัยระดับโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นในบริเวณชายแดนรอยต่อไทย-เมียนมา ห่างไกลกรุงเทพมหานครหลายร้อยกิโลเมตร ย่อมเป็นไปไม่ได้หากขาดการกำกับดูแล ประสานงาน และสั่งการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่หลากหลาย ต้องใช้ความรู้สหสาขาเข้าร่วมมือ วิเคราะห์ และลำดับขั้นตอนเพื่อให้การกู้ภัยได้ผลดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ซึ่งผู้ที่วางระบบสั่งการและประสานงานการกู้ภัยในครั้งนี้ได้อย่างมีคุณภาพ เรียบร้อย ได้มาตรฐานสากล คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ศอร.)

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ มีอำนาจสั่งการสูงสุด ตามด้วยปลัดกระทรวง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ

ในทางปฏิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการและควบคุมดูแลการแก้ไขและช่วยเหลือในภัยพิบัติ ซึ่งการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คนครั้งนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ในฐานะผบ.ศอร.ได้ใช้กลไกของราชการเข้าประสานงานกู้ภัยอย่างเป็นระบบ โดยสามารถใช้ทรัพยากรจากหน่วยงานท้องถิ่น อาสาสมัครทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่

เราจะเห็นได้ว่า อาสาสมัคร หน่วยงาน องค์กร ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกู้ภัยครั้งนี้ ต่างก็มาจากจังหวัดและพื้นที่หลากหลายทั่วประเทศ แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะทาง ที่ประกอบกันเป็นหลากหลายปัจจัยที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น

  • ทีมขุดเจาะน้ำบาดาล น้ำเพชรบาดาลจากนครราชสีมา
  • สมาคมน้ำบาดาลไทยจากเชียงใหม่
  • ทีมท่อสูบพญานาคซิ่ง จากสมุทรสาครและนครปฐม
  • ทีมกู้ภัยจากหลากหลายจังหวัด
  • ทีมนักเก็บรังนกจากเกาะลิบง จ.สตูล

เมื่อผสานเข้ากับความเชี่ยวชาญของหน่วยปฏิบัติการจู่โจมทำลายใต้น้ำ (SEALs) และนักดำน้ำในถ้ำต่างชาติ และนักวิชาการสาขาต่างๆ ของราชการ ภารกิจที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ก็กลับเป็นไปได้ขึ้นมา

การกู้ภัยครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อกู้ภัย ทั้งภาคพลเรือนทั้งเอกชนและราชการและภาคทหาร โดยสภาพภัยพิบัติที่เกิดในต่างจังหวัด ซึ่งมักจะขาดแคลนอุปกรณ์และงบประมาณ ทำให้เข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เขินอายที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่มีความสามารถทั้งในและนอกประเทศ ไม่กังวลเรื่องหน้าตาหรือภาพลักษณ์

เครือข่ายระหว่างผู้มีความเชี่ยวชาญหลายสาขาในแต่ละจังหวัด ที่เชื่อมโยงเข้าสู่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้โดยตรงเช่นนี้ จะช่วยให้การกู้ภัยไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใด สามารถคลี่คลายได้โดยบรรเทาพิบัติให้เบาลง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจของรัฐมนตรี หรืออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สั่งการจากเบื้องบนลงมาเพียงถ่ายเดียว

แน่นอนว่า งบประมาณที่ใช้สนับสนุนเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภาคเอกชนส่วนหนึ่ง ก็ต้องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่เหตุการณ์กู้ภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีทำให้เราเห็นว่า ภาคประชาชนและท้องถิ่น ก็มีศักยภาพในการระดมความช่วยเหลือในยามจำเป็นได้อย่างรวดเร็วหากผู้ประสานงานสั่งการมีประสิทธิภาพ ทำงานจริงจังเด็ดขาด มีมาตรฐาน และเคารพในความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายโดยแท้จริง

การสนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณอย่างเพียงพอในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนส่วนราชการที่ประจำอยู่ในท้องถิ่น และมอบอำนาจสั่งการเด็ดขาดให้ผู้ปฏิบัติงานจริง เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ในครั้งนี้ โดยราชการส่วนกลางไม่ก้าวก่ายหรือขัดขวางแนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นผลดีอยู่แล้ว ย่อมเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการบริหารจัดการป้องกันภัยพิบัติในอนาคต