ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยวิจารณ์ว่า การฟ้องหมิ่นประมาทในไทยทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่นมาก สื่อที่นำเสนอความจริงก็ถูกฟ้องร้อง ขณะที่รองผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่า รัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงกรณีที่บริษัทเอกชนฟ้องคดีเพื่อผิดปากสื่อและนักเคลื่อนไหวต่างๆ

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นระหว่างการเสวนาเรื่องการใช้คดีความคุกคามผู้อื่นเพื่อปิดปาก หรือ ที่เรียกว่า SLAPP ที่เกิดขึ้นในไทย ว่าการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททั้งคดีแพ่งและอาญาในไทยสามารถทำได้ง่ายมากกว่าในอีกหลายประเทศ ส่งผลให้มีคนพยายามใช้ข้อหาหมิ่นประมาทในการกดดันให้ผู้สื่อข่าวหรือนักเคลื่อนไหวหยุดพูดถึงกรณีที่ขัดแย้งกัน แม้ว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นเรื่องจริงก็ตาม

งานเสวนาเรื่อง SLAPP จัดขึ้น ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย หรือ FCCT เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมาย ไม่ให้คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา หลังศาลลพบุรีตัดสินจำคุกนางสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าวของวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 2 ปี ในคดีหมิ่นประมาท จากการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับคดีแรงงานฟาร์มไก่ 14 คน 

สุชาณี วอยซ์ทีวี 34.jpg

(สุชาณี คลัวเทรอ หรือสุชาณี รุ่งเหมือนพร อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี)

เฮดระบุว่า การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ผู้ที่ต้องการฟ้องจะต้องไปปรึกษาจนแน่ใจว่า กรณีนั้นๆ เข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือไม่ และหากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็จะได้รับการยกเว้นในข้อหาหมิ่นประมาท

เฮดเล่าว่า เขาเคยถูกทนายความในภูเก็ตฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากการรายงานข่าวนายเอียน รานซ์ ชาวอังกฤษวัยเกษียณอายุ ถูกอดีตภรรยาชาวไทยปลอมลายเซ็นเพื่อจำหน่ายสินทรัพย์ของทั้งคู่ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2558 แม้ว่าเขาจะพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เปิดเผยชื่อของทนายความที่มีส่วนรู้เห็นกับการฉ้อโกงคนนี้เลยก็ตาม

เฮดยังวิจารณ์ว่าไม่สามารถคาดการณ์อะไรจากศาลไทยได้ว่าจะรับฟ้องคดีเช่นนี้ เพราะแม้ข้อมูลที่เขารายงานจะเป็นเรื่องจริง แต่เขากลับถูกมองว่าจงใจจะหมิ่นประมาททนายคนดังกล่าวมากกว่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทยังสร้างความลำบากในการทำงานของผู้สื่อข่าว เพราะเมื่อถูกฟ้องร้องแล้วก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าทนายความ ค่าเดินทางในกรณีที่ฟ้องศาลในจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ประจำ

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศยังต้องประสบปัญหายุ่งยากขึ้น เมื่อถูกยึดพาสปอร์ต ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทำข่าวในประเทศอื่นได้ ขณะที่วีซ่าทำงานในไทยก็ถูกระงับ จะได้รับวีซ่าศาลแทน ซึ่งก็ทำให้เขาไม่สามารถทำงานในไทยได้เช่นกัน และกระบวนการฟ้องร้องนี้ก็ยาวนานหลายเดือน

กิจกรรม SLAPP

(ณัฐศิริ เบิร์กแมน จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน)

ทั้งนี้ การฟ้องหมิ่นประมาทหลายคดีมักมุ่งเป้าไปที่ตัวผู้สื่อข่าวมากกว่าจะฟ้องร้องสำนักข่าวต้นสังกัด โดยนางณัฐศิริ เบิร์กแมน ตัวแทนสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแสดงความเห็นว่า การฟ้องร้องสำนักข่าวมีโอกาสชนะยากกว่า และการฟ้องผู้สื่อข่าวจะเป็นวิธีการกดดันผู้สื่อข่าวได้โดยตรง หลายคนจึงใช้วิธีการนี้ในการปิดปากสื่อ

ด้านฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์เอเชียกล่าวว่า เราไม่ควรมีตัวย่อ SLAPP ที่เป็นศํพท์เฉพาะในการเรียกวิธีการนี้ เพราะไม่ควรมีใครต้องติดคุกจากคำพูดของตัวเอง หากไม่ใช่กรณีที่เป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง หรือ เฮทสปีช และหากเขามีเวทมนตร์ เขาอยากจะเสกให้กฎหมายการหมิ่นประมาททางอาญาหายไปจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 

กิจกรรม SLAPP

(ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์เอเชีย)

โรเบิร์ตสันมองว่า กฎหมายนี้ยังทำให้หลายคนต้องล้มละลายจากการถูกกล่าวว่าทำลายชื่อเสียง ทั้งที่สื่อและนักเคลื่อนไหวควรจะมีสิทธิพูดเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองและผู้อื่น เช่น นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินที่ปกป้องบ้านของตัวเอง แต่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้

นอกจากนี้ โรเบิร์ตสันยังเห็นว่า ไม่ว่าใครจะใช้วิธีการ SLAPP ปิดปากสื่อและนักเคลื่อนไหว รัฐบาลก็มีส่วนรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน ควรจะเข้าไปแทรกแซงบริษัทหรือผู้มีอิทธิพลที่รังแกคนอื่นด้วยการฟ้องร้องคดี ไม่ใช่บอกว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่รัฐบาลไทยสอบตกในเรื่องนี้ ทั้งที่ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงแย่มากที่ยังมีคนโดนฟ้องคดีเพื่อปิดปากในไทยอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :