ไม่พบผลการค้นหา
ธีรภัทร เจริญสุข ชวนดูการแก้ปัญหาคนจีนแห่กลับบ้านช่วงตรุษจีน แล้วย้อนดูตัวเมื่อคนไทยกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ ในคอลัมน์ อนาคตอยู่นอกกรุงเทพ

เมื่อครั้งที่สีจิ้นผิง ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบัน ฉายแววความสามารถครั้งแรกนั้น สีจิ้นผิงได้รับมอบหมายจากอดีตประธานประเทศหูจิ่นเทาระหว่างปี 2005-2008 ให้กำกับดูแลการจัดงานโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ให้ประสบความสำเร็จ และได้รับเสียงตอบรับอันดีในหมู่คณะกรมการเมืองจนขึ้นเป็นว่าที่ผู้นำ

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในพรรคว่า ลำพังการจัดโอลิมปิกพิสูจน์อะไรไม่ได้ ถ้าแน่จริงต้องแก้ปัญหาชุนอิ้ว (ชุนยุ่น) 春运 หรือการกลับบ้านช่วงตรุษจีนให้ได้ก่อน

การกลับบ้านช่วงตรุษจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ถือว่าเป็นการเดินทางของมนุษย์พร้อมกันจำนวนมากที่สุดในโลก เริ่มตั้งแต่ก่อนวันตรุษจีน 15 วัน กินเวลายาวนาน 40 วัน มีผู้โดยสารเดินทางทั้งหมดสูงสุดถึง 3 พันล้านเที่ยว หรือเสมือนว่าประชาชนทุกคนในประเทศจีนเดินทางไปกลับคนละรอบ ในทศวรรษที่ 2000 การจราจรบนทางหลวงระหว่างเมืองในช่วงใกล้ตรุษจีนจะเกิดภาวะติดขัดรุนแรง ถือเป็นสภาพรถติดที่หนักหนาที่สุดในโลก โดยเฉพาะทางหลวงขาเข้า-ออกกรุงปักกิ่งที่อาจพบกับรถติดข้ามวัน ส่วนรถไฟและเครื่องบินก็แออัด รวมถึงราคาตั๋วก็พุ่งสูงขึ้นตามกลไกราคา การกลับบ้านหรือท่องเที่ยวในเทศกาลตรุษจีนจึงเป็นเรื่องยากลำบาก เต็มไปด้วยอุปสรรค และเกิดอุบัติเหตุมากมาย

CHINA - LUNAR - NEW YEAR

ในปี 2012 ที่สีจิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานประเทศสมัยแรก นโยบายแกนกลางหลักของเขาคือการสร้างโครงข่ายสาธารณูปโภคและการคมนาคม ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน ให้เชื่อมต่อกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเส้นทางรถไฟให้ครอบคลุมทุกมณฑลบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งประสบความสำเร็จในปี 2014 ที่รถไฟความเร็วสูงจีนสามารถไปถึงเมืองอุรุมฉีในมณฑลซินเจียง และรถไฟสายชิงไห่-ทิเบตได้รับการปรับปรุงเต็มรูปแบบ เมื่อประกอบกับการจำกัดเพดานราคาตั๋วรถไฟและเครื่องบิน รวมถึงการยกเว้นค่าทางด่วน ทำให้โครงข่ายคมนาคมจีนสามารถรองรับชาวจีนจำนวนมหาศาลที่เดินทางกลับไปไหว้บรรพบุรุษที่บ้านเกิดและท่องเที่ยวในวันหยุดยาวตรุษจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจีนก็ไม่หยุดยั้งการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งจนถึงทุกวันนี้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชน

เมื่อกลับมามองประเทศไทย ปัญหาการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลเป็นเรื่องใหญ่ประจำปีมาตลอด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์และขึ้นปีใหม่ ที่เราต้องรณรงค์ 7 วันอันตรายทุกปี แต่จำนวนอุบัติเหตุ คนเจ็บ คนตาย ก็แทบจะไม่ลดน้อยลง

จากสถิติพบว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลของประเทศไทยแต่ละปี มีมากกว่าจำนวนทหารอเมริกาที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน และซีเรียเสียอีก

และการรณรงค์แก้ไขปัญหาส่วนมากเน้นไปที่การตรวจสภาพรถ การขับขี่ปลอดภัย รักษากฎจราจร และการไม่ดื่มสุราและของมึนเมาในขณะขับรถ

แทบไม่มีการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างของเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานการคมนาคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทางที่แออัดและไม่มีการตรวจสภาพ ต้องปล่อยผู้โดยสารลงกลางทาง ประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง สถานีขนส่งที่สกปรก ขาดการดูแลบำรุงรักษา และก่อให้เกิดสภาพจราจรติดขัด สภาวะถนนที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณรถยนต์ ต้องวิ่งบนไหล่ทางหรือเปิดช่องทางจราจรเสริมเสี่ยงต่ออันตราย รวมถึงพื้นผิวถนนที่ชำรุด กำลังซ่อมแซม หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ล้วนเป็นปัจจัยอันตรายที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง นอกจากนี้ การเดินทางโดยรถไฟยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เท่าที่ควร สภาพหัวรถจักรที่แทบไม่ได้รับการปรับปรุง เส้นทางที่ต้องรอสับหลีกทำให้ถึงจุดหมายไม่ตรงเวลา

การเดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกัน สร้างเสริมสายสัมพันธ์ ความอบอุ่น ทั้งยังช่วยกระจายรายได้ สร้างผลทางเศรษฐกิจจากการจับจ่ายและกระจายสินค้า การอุปโภคบริโภค งานฉลอง ในวาระที่น่ายินดีของปีใหม่และสงกรานต์

ลำพังการเพิ่มเที่ยวรถของ บขส. หรือ รฟท. ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ถูกต้องในการเดินทาง ในเมื่อโครงสร้างเดิมไม่มีการแก้ไข ปัญหาก็เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี เรายังต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยไปกับการเดินทางในช่วงเทศกาลอยู่ต่อไปไม่รู้จบจนกว่าระบบคมนาคมขนส่งของไทยจะได้รับการพัฒนาครบวงจรเช่นเดียวกับที่สีจิ้นผิงได้ทำกับประเทศจีนจนประสบความสำเร็จ

แต่ความสำเร็จนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็สุดจะหยั่งทราบได้ ในเมื่อประเทศไทยยังมีทางลูกรังอยู่!

CHINA - LUNAR - NEW - YEAR

ภาพ: NICOLAS ASFOURI / AFP