ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและภาคประชาชน ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ 'ทวงคืนสิทธิเสรีภาพ' ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติละเมิดสิทธิประชาชนในการชุมนุมเพราะถือเป็นเสรีภาพ วันนี้

นายรังสิมันต์ โรม ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้แถลงข่าวการยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 โดยในครั้งนั้นมีสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ให้มีคำวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุม และอำนาจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมตนเอง สาเหตุที่เราเลือกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นสิ่งแรกที่นำมายื่นคำร้อง เพราะคำสั่งดังกล่าวกระทบต่อเสรีภาพที่มีความสำคัญต่อประชาชนมากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพในการชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสรีภาพที่ยืนยันถึงอำนาจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยปรกติประชาชนไม่จำเป็นต้องต้องใช้เสรีภาพนี้เนื่องจากรัฐได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่ควรเป็นอยู่แล้ว แต่หากเมื่อใดที่รัฐไม่ยอมทำหน้าที่ของตน เปลี่ยนสถานะจากผู้รับใช้เป็นผู้กดขี่แล้ว ประชาชนย่อมต้องสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองได้ นั่นคือสาเหตุที่ประชาชนจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะยังคงสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิของตนได้ มิใช่ทำได้เพียงงอมืองอเท้ารอความเมตตาจากรัฐไปวันๆ

เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” หรือแม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้บรรดาสิทธิเสรีภาพที่เคยได้รับการคุ้มครองมาก่อนย่อมได้รับการคุ้มครองต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

ทว่าตลอดเวลาที่ คสช. ครองอำนาจ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐที่ออกมาแสดงการคัดค้านหรือโต้แย้ง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม

เราจึงมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุมและอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเองอันไม่อาจถูกพรากไปจากมนุษย์ได้ แม้จะมีความพยายามจำกัดเสรีภาพและอำนาจนี้โดยไม่ชอบธรรมก็ตาม และเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้เห็นว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมจะใช้บังคับได้จริง มิใช่ตกอยู่ใต้เงาของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญเผด็จการในอดีต

2. เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน และยกให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ หรือไม่

การยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ดังที่ กรธ. ได้โฆษณาไว้เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือไม่นั้น ลำพังเพียงตัวบทบัญญัติไม่อาจก่อให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพได้ในทางปฏิบัติ หากแต่ต้องอาศัยองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการบังคับใช้บทบัญญัติให้เป็นไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ด้วยเช่นกันว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามที่รัฐรรมนูญบัญญัติไว้ได้จริงหรือไม่

ในช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังใช้บังคับอยู่ เมื่อมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งต่างๆ ตามมาตรา 44 ศาลมักวินิจฉัยให้บรรดาคำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด แม้ว่าคำสั่งเหล่านั้นจะมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนก็ตาม แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกคาดหวังจากสังคมให้ใช้บังคับต่อไปภายหลัง คสช. ลงจากอำนาจและสิ้นสุดระบอบรัฐประหารแล้ว เราจึงคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องตามมาตรฐานแบบประชาธิปไตยด้วย

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนยันที่จะวินิจฉัยโดยให้ความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารดังที่เคยเป็นมาโดยตลอด ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ในตัวแล้วว่ากลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ที่ กรธ. เคยโฆษณาไว้ว่ารัฐธรรมนูญนี้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ในความเป็นจริงแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ก็ยังถูกล่วงละเมิดได้ ถ้อยคำสวยหรูที่พร่ำพรรณนาไว้กลายเป็นการโกหกคำโตทั้งสิ้น

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมยังมักยกคำร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่น เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้หมดสิ้นเสียก่อน หากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงจะมาร้องต่อศาลในท้ายสุดได้ อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นศาลจึงควรต้องตีความการใช้สิทธิไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน นั่นคืออนุญาตให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้น

และหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด การยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้นย่อมต้องสามารถกระทำได้เสมอ ไม่สมควรกำหนดข้อห้ามใดๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เพราะการบังคับให้ต้องไปยื่นคำร้องผ่านช่องทางอื่นก่อนจะทำให้เกิดความล่าช้าจนอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิได้อย่างทันการณ์

และหากสุดท้ายหน่วยงานอื่นเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างเกินเลย และทำให้คำโฆษณาของ กรธ. ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ “เข้มแข็งและฉับไวขึ้น” กลายเป็นการโกหกอีกครั้ง เพราะกระบวนการที่กำหนดไว้จะไม่ต่างอะไรจากในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้เลย

กล่าวโดยสรุป เรามายื่นคำร้องครั้งนี้เพื่อพิสูจน์ด้วยว่ารัฐธรรมนู�� พ.ศ.2560 และองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นพร้อมที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน หรือเอื้อผลประโยชน์แก่คณะรัฐประหารและพวกพ้องมากกว่ากัน ซึ่งหากเป็นอย่างหลังแล้ว เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปเสีย

ในอนาคต เราจะพยายามพิสูจน์คุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป โดยอาจใช้วิธีการเดียวกันนี้หรือวิธีการอื่น เพื่อให้ประชาชนได้เล็งเห็นว่าธาตุแท้ของกฎหมายสูงสุดที่ปกครองชีวิตของพวกเขาอยู่นั้นเป็นเช่นไร