ไม่พบผลการค้นหา
หากกล่าวถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. นับตั้งแต่รัฐประหาร 22พ.ค.2557 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีหลากหลายกลุ่ม ที่มาแรงบ้าง มาแนวประนีประนอมบ้าง หรือมาแล้วเงียบหายไป แต่สำหรับกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง คือ ‘กลุ่มประชาธิปไตยใหม่’ ที่กลายมาเป็น ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ แทน

กลุ่มนี้เป็นที่สนใจเพราะเป็นกลุ่มที่มี ‘นิสิต-นักศึกษา’ เป็นแนวร่วม โดยกลุ่มคนต้าน คสช. ต่างหวังให้ภาพออกมาเป็นเหตุการณ์สมัย ‘เดือนตุลา’ ที่นิสิตนักศึกษาออกมาขับไล่ ‘เผด็จการทหาร’ ทั้งเหตุการณ์ 14ต.ค.2516 และ 6 ต.ค.2519 ที่ออกมาขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้สานต่อ ‘ระบอบสฤษดิ์’ เรื่อยมาถึง ‘พฤษภาทมิฬ2535’ โดยกลุ่มปัญญาชนในยุค ‘เดือนตุลา’ ที่เติบโตขึ้นเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ ได้ออกมาขับไล่ ‘บิ๊กสุ’พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในขณะนั้น จนต้อง ‘ลาออก’ จากการเป็น นายกฯ

หากนับจากยุค ‘เดือนตุลา’ ก็ผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ผ่านมากว่า 25 ปี แน่นอนว่า ‘บริบทสังคม’ หลายอย่างเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ ‘การต่อสู้ทางการเมือง’ ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ประชาชนอยากเลือกตั้ง

การเคลื่อนไหว ‘กลุ่มต้าน คสช.’ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก็มี ‘แนวร่วม’ ที่สลับหมุนเวียนกันทำ มีแกนนำที่เป็น ‘เด็ก-เยาวชน’ หรือเพิ่งเข้า ‘วัยทำงาน’ ที่เป็นที่รู้จักของ ‘คอการเมือง’ หนีไม่พ้น ‘โรม’ และ ‘จ่านิว’

หากย้อนดูภูมิหลังของ ‘โรม’ นายรังสิมันต์ โรม อดีตนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ และ ‘นิว’นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ทั้ง 2 คน ก็เป็น ‘นักกิจกรรม’ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ผ่านการทำงานรณรงค์ด้านการเมืองในรั้วธรรมศาสตร์ ผ่าน สภานักศึกษา และ องค์การนักศึกษา (อมธ.) แน่นอนว่า 2 องค์กรนี้ ไม่ได้เพิ่งมามี ‘บทบาท’ ในการรณรงค์เรียกร้อง ‘สิทธิ’ ต่างๆ ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย

แต่มี ‘รุ่นพี่’ ที่เคลื่อนไหวมานานแล้วตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ‘รุ่นพี่’ ใน อมธ. และ สภานักศึกษา. ก็ออกมาเป็น ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายคน หรือ แม้แต่มาทำงานร่วมกับ คสช. ด้วย

ทั้ง ‘โรม-จ่านิว’ โดยพื้นฐานต่างเป็นคน ‘เรียนใช้ได้’ และมี ‘ระบบความคิด’ ที่น่าสนใจ หากได้อ่านงานที่ไม่ใช่การ ‘ต่อสู้ทางการเมือง’ หรือ ความใส่ใจในการเรียน ค้นคว้าเพิ่มเติม การร่วมงานเสวนาต่างๆ อีกทั้ง ‘โรม’ ก็กำลังเรียนต่อ ปริญญาโท ในคณะเดิมด้วย และ ‘นิว’ ก็มีแผนที่จะศึกษาต่อปริญญาโทเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อการ ‘เคลื่อนไหว’ ไม่น้อย

แน่นอนว่าระยะเวลา 4 ปีที่ผ่าน เปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปไม่น้อย จาก ‘นักศึกษา’ และ ‘นักกิจกรรม’ กลายมาเป็น ‘นักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ อย่างเต็มรูปแบบ โดยมี ‘แกนนำกลุ่มต้าน คสช.’ คนอื่นๆที่ไม่ใช่ ‘นิสิต-นักศึกษา’ เป็นแนวร่วมด้วย

ภูมิหลังเหล่านี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ทราบดีอยู่แล้ว เพราะชื่อของ ‘บุคคลเคลื่อนไหวทางการเมือง’ นับตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหาร 22พ.ค.2557 ถูก ‘บันทึก’ ไว้หมด ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ดังนั้นเมื่อถูกเรียก ‘ปรับทัศนคติ’ หรือที่เคยมี ‘บิ๊กสื่อ’ ออกมาระบุมีการ ‘นับแต้ม’ หรือมี ‘สมุดพก’ จึงเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น

คำกล่าวที่ว่า ‘เหรียญมี 2 ด้าน’ ก็เหมือน ‘คนมี 2 ด้าน’ ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้มอง ‘โรม’ และ ‘จ่านิว’ ในด้านลบไปเสียหมด และไม่ได้มองแค่เพียง 4 ปีที่ผ่านมา แต่มองย้อนหลังไปอีกถึง ‘ภูมิหลัง’ ที่แท้จริงด้วย

ทำให้ ‘บิ๊กทหาร’ ใน ‘คสช.’ ถึงกับพูดว่า “ทั้งคู่เป็นคนเก่ง แต่มาเสียเพราะการเมือง”

แน่นอนว่า ‘ประโยคสั้นๆ’ นี้จาก ‘บิ๊กทหาร’ ใน ‘คสช.’ ที่ไม่ได้คลุกคลีกับ ‘โรม-จ่านิว’ มาแต่ต้น กลับเห็นทั้งคู่ใน ‘มิติ’ นี้

กองทัพ เหล่าทัพ ผบ.ทบ. S__30040072.jpg

(ผู้นำเหล่าทัพ และสมาชิก คสช.)

สะท้อนว่า ‘บิ๊กทหาร’ ใน ‘คสช.’ ไม่ได้ฟังข้อมูลจาก ‘สายข่าวความมั่นคง’ เพียงอย่างเดียว แต่มีการเก็บข้อมูลในมิติอื่นๆด้วย เพื่อมอง ‘โรม-จ่านิว’ ในอีกมิติ เพื่อเข้าใจ ‘ภูมิหลัง’ ให้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นรากฐานของการ ‘เคลื่อนไหว’ ของทั้งคู่

อีกทั้ง ‘กองทัพ’ ก็ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในอดีตเช่นกัน ถ้า ‘พลังนิสิต-นักศึกษา’ จุดติดเมื่อใด ก็ยากจะควบคุมได้ เพราะล้วนมาจาก ‘พลังบริสุทธิ์’ เป็นหลัก แม้ว่าจะมี ‘เรื่องการเมือง’ มากระทบบ้างก็ตาม

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ก็ออกมาพูดถึง ‘โรม-จ่านิว’ และแนวร่วมที่เป็น ‘นิสิต-นักศึกษา’ ในมุมความเป็น ‘ห่วง’ มากกว่าเป็น ‘ศัตรู’

“ตอนนี้ประชาชนอื่นๆ ที่เขาเดือดร้อนกำลังจะร้องทุกข์กล่าวโทษมา ผมไม่อยากให้เด็กเหล่านี้ต้องไปติดคดีความ แล้วกลับมาโทษรัฐบาลอีก” นายกฯ กล่าวเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561

แต่อย่าลืมว่าก็เป็นอีกปฏิบัติการ ‘ไอโอ’ ของ ‘กองทัพ-คสช.’ เล่นบท ‘เผด็จการผู้อารี’ มากกว่า ให้เป็นไปในลักษณะ ‘ผู้ใหญ่ดูแลเด็ก’ ไม่ให้กลายเป็น ‘รังแกเด็ก’ ซึ่งก็จะไม่เกิดผลดีกับ คสช. ด้วย

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังให้ฝ่ายความมั่นคงหา ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่าเป็นใคร แน่นอนว่า ‘เป้า’ ตกไปที่กลุ่มการเมืองที่ ‘ต่อต้าน’ หรือมี ‘จุดยืน’ ตรงข้ามคสช. ทันที และให้ ‘พรรคเหล่านี้’ หวั่นเกรงกับ ‘อนาคต’ ทางการเมือง ว่าจะ ‘สกัด’ หรือไม่ ?

“เมื่อมีแกนนำอะไรต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบว่าเชื่อมโยงพรรคการเมืองใดหรือไม่ในการละเมิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลในเรื่องพรรคการเมืองด้วยในอนาคต ฉะนั้นจะเตรียมการตรวจสอบทั้งทางลึกอยู่ทุกอัน” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561

ประชาชนอยากเลือกตั้ง

สิ่งที่ต้องยอมรับคือการ ‘จัดทัพ’ ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ผ่านมา ฝ่ายความมั่นคงกลับมองว่า ยังไม่สามารถ ‘ตรึงคน’ ได้ในระยะเวลายาวๆ ได้

ทำให้กลายเป็น ‘อีเว้นท์’ รายสัปดาห์ไปเสียมากกว่า

แต่การชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุด หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ก็สร้าง ‘ผลกระทบ’ ให้ฝ่ายความมั่นคง ต้องกลับไปทบทวนแผนต่างๆด้วย เพราะสามารถเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่จุดติดได้

ทั้งนี้การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในเดือนพ.ค.นี้ พร้อม ‘ยกระดับ’ การชุมนุมให้มีการพักค้างคืนเกิดขึ้น เพื่อ ‘กดดัน คสช.’ ในโอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 22พ.ค.2557 ในช่วงนี้ฝ่ายความมั่นคงได้เริ่มวางแผนเตรียมรับมือไว้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่กังวลกับการชุมนุมมากนัก

“เราคงใช้กฎหมายเป็นหลัก พร้อมด้วยการพูดจาหารือทำความเข้าใจถึงขั้นตอนในการดำเนินการ ทั้งนี้คิดว่าที่ผ่านมาคงได้มีการพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว” พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าว

“ไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย กองทัพมีแผนอยู่แล้ว แต่มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องของการเรียกร้องของกลุ่มคนเดิมๆ ที่อยากเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนสถานที่ รายละเอียด จำนวนคน และยังมีเวลาในการติดตามสถานการณ์” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว

ประชาชนอยากเลือกตั้ง

การเมืองส่งท้ายเดือนเมษาหน้าร้อนนี้ จึงต้องจับตาการ ‘จัดทัพ-เคลื่อนพล’ ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่หวังยกระดับในวันที่ 5 พ.ค. 2561 และปักหลักยืดเยื้อในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน คสช.ยังต้องเผชิญกับกระแสข่าว ‘พลังดูด’ นักการเมืองต่างจังหวัด-ตระกูลการเมือง-พรรคท้องถิ่น ซึ่งอาจถูกนำมาใช้เป็นการ ‘กดดัน’ ครั้งนี้

เพราะแสดงถึงการ ‘ต่อท่ออำนาจ’ ของ คสช. ที่สอดรับกับกระแสการตั้ง ‘พรรคทหาร’ ขึ้นด้วย

งานนี้ ครบ 4 ปี คสช. แทนที่จะถึงเวลาหมดอำนาจของ คสช. แต่กลับ นับ 1 พรรคทหาร แทน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog