ไม่พบผลการค้นหา
เรืองไกร เตรียมยื่นหนังสือสถานทูตอังกฤษ มั่นใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินคดี เข้าข่ายความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า จะเข้ายื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อแสดงหลักฐานเพิ่มเติมที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันจะนำไปสู่การพิจารณาได้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกดำเนินคดีที่เข้าข่ายความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง 

นายเรืองไกร กล่าวว่า ที่พูดถึงสนธิสัญญานั้น ความจริงคือ สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ค.ศ. 1911 หาใช่สนธิสัญญาแต่อย่างใด โดยสัญญาดังกล่าวข้อ 2 วรรคหนึ่ง ระบุความผิดซึ่งอาจจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้มีเพียงโทษ 31 รายการเท่านั้น ซึ่งไม่มีการระบุถึงโทษคดีทางการเมืองไว้แต่อย่างใด และความในสัญญาข้อ 2 วรรคสาม ระบุไว้ชัดเจน ดังนี้ “ถ้าโทษอย่างอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้งสองฝ่ายว่าจะส่งผู้ร้ายให้กันและกันได้ ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควรว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกัน หรือไม่”

นายเรืองไกร กล่าวว่า คดีความที่เกิดกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจพิจารณาได้ว่า ล้วนมีที่มาจากประเด็นทางการเมือง โดยมีเหตุผลสนับสนุนหลายประการ เช่น

1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติชี้มูลความผิดต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่มาจากการแต่งตั้งตามประกาศ คปค.ที่ 19 กรณีนี้จึงเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง

2. คำร้องขอถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ชอบ เพราะไม่ได้ทำตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 61 และคำร้องดังกล่าวยังมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. แต่เป็นกลุ่ม กปปส. ร่วมลงชื่ออยู่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ทั้ง ป.ป.ช. และ สนช. ทราบข้อมูลนี้แล้ว แต่ยังลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้นคดีถอดถอนจึงเป็นคดีที่มีลักษณะทางการเมือง

3. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตัดสินให้มีความผิดทางอาญานั้น เริ่มมาจากการใช้ระบบศาลชั้นเดียว ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะแก้เรื่องนี้ให้ดูเหมือนว่ามี 2 ชั้นแล้วก็ตาม แต่องค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังมาจากการเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเหมือนเดิม จึงมีปัญหาว่า ยังถือเป็นระบบศาลชั้นเดียวอยู่เช่นเดิมหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปศาลต่างชั้นกัน หมายถึง ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา 

4. การที่ไทยขอตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากอังกฤษ โดยอ้างสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1911 มีปัญหา เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ที่ใช้ในการขอตัวนั้น ตราขึ้นโดยองค์ประชุม (Quorum) ของ สนช. ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

5. ในคดีทางปกครอง การคิดค่าเสียหายมาจากการสั่งการและเห็นชอบของฝ่ายที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงเป็นคดีความผิดทางปกครองที่มีลักษณะทางการเมือง

นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น จะทำให้เห็นได้ว่าทั้งคดีถอดถอนจากตำแหน่งเพื่อตัดสิทธิทางการเมือง คดีทางปกครองที่เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย และคดีอาญาที่ตัดสินลงโทษจำคุก ล้วนมีเหตุมาจากการมือง ดังนั้นจะมองแค่ผลของการถอดถอน หรือผลของคำพิพากษาแล้วก็กล่าวอ้างว่า ไม่ใช่คดีความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง เป็นแค่การตีความเพื่อใช้กฎหมายแบบหวังผลทางการเมือง ในลักษณะรูปแบบสำคัญกว่าเนื้อหา (Form over Substance) ที่ขัดแย้งกับหลักนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งหาควรเป็นเช่นนั้นไม่

นอกจากนี้ การจะขอให้อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ต้องอ้างความในพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายแดน พ.ศ. 2551 หมวด 4 กรณีประเทศไทยร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมี 4 มาตรา คือ มาตรา 29 ถึงมาตรา 31 แต่เมื่อดูความตามมาตรา 4 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อความตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ”

ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการระบุถึงเฉพาะคำว่า “สนธิสัญญา” เท่านั้น โดยไม่มีการระบุให้หมายความรวมถึงคำว่า “สัญญา” แต่อย่างใด ทั้งที่ในพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายแดน พ.ศ. 2472 ที่ถูกยกเลิกไป มีความในมาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรุงสยาม เท่าที่ไม่แย้งกับข้อความในหนังสือสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือในประกาศกระแสพระบรมราชโองการที่ได้ออกเกี่ยวกับหนังสือสัญญา อนุสัญญาและความตกลงนั้น ๆ”

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่าด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงความจริงกันทั้งหมด ดังนั้นจึงจะไปยื่นหนังสือพร้อมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อังกฤษนำไปพิจารณาด้วย โดยจะไปยื่นที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ ในวันที่ 6 ส.ค. นี้ เวลา 10.30 น.