ไม่พบผลการค้นหา
กลิ่นแห่งจุดเริ่มต้นฤดูหนาว จากต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าองค์แรก ถึงต้นไม้ปีศาจของอินเดีย

สิ่งที่บอกว่าฤดูหนาวมาเยือนแล้วได้แม่นกว่ากรมอุตุฯ ก็คือ "ต้นตีนเป็ด" เริ่มเข้าหน้าหนาวปุ๊บ กลิ่นมาปั๊บ โดยเฉพาะยามค่ำคืนนั่งรถกลับบ้าน กลิ่นลอยลมมาตีหน้าต้องกลั้นหายใจฮึบ เพราะหน้าหนาวบ้านเราก็อย่างที่รู้ๆ แหละ ว่าไม่ได้หนาวมากหนาวมาย ตอนค่ำๆ ไอถนนระอุผสมกลิ่นต้นตีนเป็ด เป็นกลิ่นที่ทำให้ไมเกรนขึ้นได้จริงๆ

เขียนจั่วมาขนาดนี้ คงรู้แล้วว่าฉันอยู่ในกลุ่มคนไม่ปลื้มตีนเป็ด เป็นความทรมานแสนเศร้าในหน้าหนาว ที่ออกมาสูดอากาศยามเย็นไม่ได้ (ตอนนี้ฝุ่นเยอะอีกยิ่งไปกันใหญ่) ช่วงสามสี่วันนี้มานี้เริ่มได้กลิ่นมันบ้างแล้ว จึงอยากเขียนอะไรถึงตีนเป็ดสักหน่อย ถือเสียว่าอุทิศให้แก่ต้นตีนเป็ดอันเป็นเจ้ากรรมนายเวร เผื่อสักวันฉันจะรู้สึกไม่มีปัญหากับมันบ้าง


ความเป็นมาสูงส่ง เลอค่าอมตะ

ตีนเป็ด หรือ "สัตบรรณ" (Saptaparna) ถือเป็นไม้มงคลประวัติสูงส่งไม่เบาอยู่ เพราะในความเชื่อทางศาสนาพุทธ แบบเถรวาท เชื่อว่าต้นตีนเป็ดขาว เป็นต้นไม้ตรัสรู้ของ "พระตัณหังกรพุทธเจ้า" พระพุทธเจ้าองค์แรกในสารมณฑกัป หรือถ้าจะนับง่ายๆ ก็คือเป็นพระพุทธเจ้าที่บังเกิดขึ้นก่อน "พระโคตมพุทธเจ้า" หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา ย้อนไปอีก 27 รุ่น

นอกจากนี้ ใน "วิธุรชาดก" ยังพูดถึงนาคพิภพ บรรยายไว้อย่างอัศจรรย์พันลึกมากๆ โดยบอกว่าบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง มีปราสาทหินมุงด้วยกระเบื้องทอง ป้อมเชิงเทินต่างๆ เป็นแก้ว และที่สำคัญคือ "ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด..." ถูกต้องแล้วจ้ะ! "ตีนเป็ด" ของเราเป็นส่วนหนึ่งในความงดงามตระการตาของนาคพิภพด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าต้นตีนเป็ดหาได้ถูกเดียดฉันท์ไม่ ในทัศนะแต่อดีต

เช่นเดียวกับในนิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่อง "ลักษณวงศ์" ที่เขียนไว้อีกว่า "ม่วงละมุดมูกมันแมงเม่าโมก กระสังโศกสักขีสีเสียดสน ตาตุ่มเตงเปงปีบตีนเป็ดปน เสาวคนธ์ฟูฟุ้งจรุงใจ" แปลง่ายๆ คือ กลิ่นตีนเป็ดปนๆ กับต้นอื่นๆ แล้วมันหอมซะเหลือเกิน

นั่นแสดงว่าในความเหม็นของบางคน บางคนเขาก็มองว่าหอม ฉันมีประสบการณ์นี้ตรงๆ เพราะแม่ฉันเคยเก็บดอกตีนเป็ดมาไว้ในบ้าน มาทั้งช่อใส่ถ้วยอย่างดีแล้วบอกว่า “หอมจัง” ส่วนฝั่งลูกไม่ต้องพูดถึงเดินหน้านิ่งๆ ไปอ้วกที่ห้องน้ำเรียบร้อย


"ตีนเป็ด" ต้นไม้ปีศาจ

ในความเชื่อแบบเถรวาทบ้านเรา ต้นตีนเป็ดมีสถานะที่โอเคเลยทีเดียว แต่ถ้าในอินเดียแล้วหละก็ ต้นตีนเป็นรู้จักกันในชื่อ "Indian Devil Tree" หรือ “ต้นไม้ปีศาจ” นั่นเอง

ที่เรียกว่าต้นปีศาจ อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการส่งกลิ่นขจรขจายจนฉุนกึกในยามค่ำคืน ชวนให้จินตนาการถึงสิ่งเหนือธรรมชาติที่ออกทำการเมื่อตะวันลับโลก โดยชนเผ่าบางเผ่าของอินเดียเชื่อว่า ต้นตีนเป็ดเป็นที่สิงสู่ของวิญญาณ ภูติผี ปีศาจชั่วร้าย บางท้องถิ่นเชื่อว่าหากไปนอนใต้ร่มเงาตีนเป็ด หรือเดินผ่านไปใกล้ๆ อาจโดนผีฆ่าตายได้ (ไม่รู้ผีฆ่าหรือตายเพราะเหม็น) แต่นั่นก็เป็นโชคดีของต้นตีนเป็ดมากๆ เพราะความเชื่อนี้ทำให้มันรอดพ้นจากการตัดโค่น

ส่วนในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดียนี่ "ต้นตีนเป็ด" ถือว่าเป็นพระเอกในเทศกาลโอนัม (Onam) เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว ที่จัดขึ้นประมาณช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เทศกาลนี้จะคัลเลอร์ฟูลมากๆ โดยจะมีการระบำหน้ากากที่เรียกว่า Kummattikali โดยนักเต้นจะแต่งตัวเต็มยศทำจากใบไม้ใบหญ้า เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ ไปเต้นสร้างความบันเทิงแลกของขวัญเล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าของบ้าน

แต่อย่างที่บอกไปว่านี่คือระบำหน้ากาก ดังนั้น นักเต้นทุกคนจะสวมหน้ากากแกะสลักเป็นเทพเจ้าต่างๆ เช่น พระกฤษณะ, พระนารท (Narada) ฯลฯ โดยหน้ากากเหล่านี้นิยมแกะจากไม้ขนุน และ “ไม้ต้นตีนเป็ด” นั่นเอง


Haters gonna Hate

ทุกอย่างย่อมมีดีมีชั่ว ฉันใดก็ฉันนั้น ตีนเป็ดมีทั้งข้อดีและกลิ่นอันรุนแรง โดยตีนเป็ดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris คำว่า "scholaris" ดูเป็นคำที่ทรงภูมิปัญญา สมกับการใช้ประโยชน์ของต้นตีนเป็ดอยู่เหมือนกัน เพราะมีบันทึกว่า ต้นตีนเป็ดถูกใช้ทำแผ่นกระดานสำหรับเขียนหนังสือในเอเชียใต้มานมนาน หรือแม้แต่ทำกระดานดำ จนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Blackboard Tree นอกจากนี้ ยังเอามาทำยาได้อีกหลายสูตร ฯลฯ

แต่ก็นั่นแหละ Haters gonna Hate ก็เกลียดกลิ่นแกไปแล้ว ยังไงมันก็เกลียดหนะ

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog