ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.พัฒนาการเมือง' ติวเข้ม เหยี่ยวเยาวชนอาสาเฝ้าหน่วยฯ ชวนประชาชนมีส่วนร่วมการเมือง-สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย เล็งขยายเครือข่ายให้พร้อมก่อนเลือกตั้งสนามใหญ่

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการนำร่อง Pilot Project การใช้ Parallel Vote Tabulation (PVT) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสังเกตการณ์เลือกตั้งแบบคู่ขนาน พร้อมด้วยวิทยากรที่สำคัญ อาทิ สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า , พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ , เรืองฤทธิ์ โพธิพรม ผู้ประสานงานเครือข่าย We Watch , ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัท Opendream เข้าร่วม โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมประมาน 190 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา

โดยโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์คือ 1.เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการใช้สิทธิและเห็นความสำคัญต่อการเลือกตั้งทุกระดับ 2.เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินการของรัฐที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน 3.เพื่อการทดลองตามรูปแบบแนวคิด Paralle Vote Tabulation (PVT) มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลือกตั้ง โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ในส่วนของวิธีการดำเนินงาน จะแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1.ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบการจัดกิจกรรม จัดทำองค์กรความรู้ในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง พัฒนาเทคโนโลยี ในการรับส่งผลการนับคะแนนเลือกตั้ง และประมวลผลแบบรวดเร็ว และถอดบทเรียนจากกิจกรรม

2.จัดทำสื่อและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ 

3.ประกาศรับสมัครเยาวชน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายประมาน 190 คน เข้าร่วมโครงการ

4.การจัดกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการจัดกิจกรรมให้ความรู้ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับ Parallel Vote Tabulation (PVT) และแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมออกเป็น 9 กลุ่ม เพื่ออภิปรายกลุ่มย่อย และจัดทำ Simulation จำลองสถานการณ์ การสังเกตการณ์เลือกตั้ง และฝึกปฏิบัติ และการลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานการเลือกตั้ง และฝึกปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะในการเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งจริง ในเขตเลือกตั้งที่ 5 สมุทรปราการ

5.พิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม

'ปดิพัทธ์' หวังใช้โครงการนี้ ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า กิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในครั้งนี้ เป็นแค่หนึ่งโครงการในการแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้งทั้งหมด ที่มีอยู่ 4 ด้าน คือ 1.ด้านกฎหมาย 2.การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 4.ความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่และการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถนำมาทำได้เลยตอนนี้

การทุจริตการเลือกตั้งมีอยู่หลายมิติ ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนลงคะแนน ระหว่างลงคะแนน และหลังลงคะแนน แม้การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจับตาการเลือกตั้งจะไม่สามารถแก้ไขการทุจริตทางระบบได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิด Accountability คือจำนวนคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง คะแนนที่รายงาน และการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ของภาคประชาชน จะทำให้เกิดความแม่นยำของคะแนนมากขึ้น เพื่อใช้เปรียบเทียบกับการรายงานผลคะแนนจาก กกต. 

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการนับคะแนนผิดพลาดใช่หรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดก็จะมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งที่มีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะประเทศที่สามารถปฏิรูปและป้องกันการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสได้ สิ่งที่ต้องทำคือประชาชนจะต้องตื่นตัว มีความรู้ และเครื่องมือมากขึ้น ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ว่าจุดเริ่มต้นแรกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

ถามต่อว่า การเลือกเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมเขต 5 จ.สมุทรปราการ มีนัยอะไรหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่มีนัยใดๆ ทั้งสิ้นเพราะโครงการนี้เราตั้งใจจะทำเป็นโครงการระยะยาว ซึ่งโครงการในรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้ใน 50 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์กร National Democratic Institute (NDI) คอยสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้ ซึ่งเราจะต้องนำมาปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของไทยด้วย และเราคาดหวังว่าอยากจะขยายขอบเขตการทำงานให้ทั่วถึงทั้งประเทศ การมีส่วนร่วมทางการเมือง 

ไม่เพียงแค่แสดงออกผ่านการออกไปชุมนุมแต่ทุกคนสามารถสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ทั้งนี้เป้าหมายของเราคือการเลือกตั้งใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปี 8 เดือนข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ถามถึงการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (9 ส.ค.) จะถูกมองเรื่องความเป็นกลางหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งทั้งหมดจะต้องมารวมกัน เพราะทุกพรรคการเมืองควรหวงแหนคะแนนของตัวเอง ประชาชนควรหวงแหนคะแนน และกกต. ก็ควรหวงแหนคะแนนว่า จะทำอย่างไรให้คะแนนถูกต้อง คือทุกพรรคการเมืองควรจะมาร่วมกัน แต่ว่าในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้จึงยากต่อทำความเข้าใจหรือประสานงาน ตนมีหน้าที่เพียงอำนวยการให้เกิดโครงการนี้ขึ้นเจตนาไม่ใช่เพื่อให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เปรียบ ทุกพรรคการเมืองจะได้รับการปกป้องคะแนน ซึ่งความจริงคือคะแนนของประชาชนที่โหวตให้พรรคการเมืองนั้นๆ 

'ไอติม' ออกแบบเรื่องการเก็บข้อมูล หวังใช้ตรวจจับ 'บัตรเขย่ง'

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า หน้าที่หลักของตนคือการออกแบบเรื่องการเก็บข้อมูลของหน่วยเลือกตั้ง อาสาสมัครเฝ้าสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง จะต้องเก็บข้อมูลอะไร และข้อมูลเหล่านั้นบ่งบอกถึงความไม่โปร่งใสอะไร ซึ่งจะแบ่งประเภทข้อมูลได้ 2 ประเภทคือ 

1.ข้อมูลเชิงปริมาณโดยอาสาสมัครประจำหน่วยสามารถส่งข้อมูลกลับมาหาเราได้เร็วที่สุดว่าคะแนนในหน่วยเลือกตั้งมีเท่าไหร่ และผู้สมัครแต่ละเบอร์ได้คะแนนเท่าไหร่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น 

วัตถุประสงค์ที่ตั้งคือ 1.เวลาเราสุ่มหน่วยเลือกตั้งแล้วนำเอาคะแนนหน่วยเลือกตั้งนั้นมาบวกรวมกัน เพื่อสามารถนำคะแนนมาคาดการณ์ได้ ว่าคะแนนในภาพรวมของเขตเลือกตั้งนั้นจะมีประมาณเท่าไหร่ หากเราส่งอาสาเฝ้าหน่วยเลือกตั้งจำนวนเยอะขึ้น ความมั่นใจก็จะมีสูงขึ้นว่าหน่วยเลือกตั้งที่เราไปเลือกสุ่มสามารถสะท้อนคะแนนในภาพรวมได้ และ 2.หากเรามองโลกในแง่ร้ายมากที่สุด สมมุติว่าผลการเลือกตั้งจากหน่วยที่เราเลือกไปสังเกตการณ์ไปบ่งบอกว่าพรรคหนึ่งจะได้รับชัยชนะ แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับผลคะแนนของหน่วยที่เราไม่ได้ไปสังเกตการณ์ผลพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็จะทำให้เราเริ่มตั้งคำถามได้ว่า การที่เราไปสังเกตการณ์เป็นการป้องกันการทุจริตได้หรือไม่ จึงทำให้ผลสถิติของหน่วยเลือกตั้งที่เราไปสังเกตการณ์มีความแตกต่างมากจากผลเลือกตั้งที่เราไม่ได้ไปสังเกตการณ์ 

2.ข้อมูลเชิงคุณภาพ หมายความว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรเรามั่นใจมากน้อยเพียงไรว่าเจ้าหน้าที่ที่บริหารจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เช่น เปิดหน่วยเลือกตั้งตรงเวลาหรือไม่ระหว่างการเลือกตั้ง มีการประชาสัมพันธ์ชักจูงให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงไปเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือมีการซื้อเสียงเกิดขึ้นในบริเวณหน่วยเลือกตั้งหรือไม่ 

นอกจากนี้ในกระบวนการที่ใช้นับคะแนนเป็นไปตามหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงหรือไม่ เช่น บัตรเลือกตั้งกาเบอร์ 3 แต่ขานคะแนนเบอร์ 4 หรือจำนวนบัตรเลือกตั้งที่จัดสรรไป ไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้จริง ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า 'บัตรเขย่ง' ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถบอกเราได้อย่างรวดเร็ว 

นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า หวังผู้สังเกตการณ์ฯ ช่วยเป็นหูเป็นตา และรายงานผลได้

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงในส่วนของโครงการดังกล่าวว่า เริ่มต้นจากการรับสมัคร มาจนถึงวันนี้คือการจัดอบรม ในส่วนรูปแบบของการส่งอาสาสมัครลงไปยังพื้นที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง หากหาได้ครบตามจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่มี ก็จะส่งลงทุกหน่วย แต่หากหาอาสาสมัครได้ไม่ครบ ก็จะใช้วิธีคือการสุ่มหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนี้ก็ได้สุ่มไว้แล้ว 3 รูปแบบ น้อยที่สุดหากหาได้ 60 คน ก็จะส่งลงไป 30 หน่วย แบ่งเป็นหน่วยละ 2 คน จากตัวอย่างดังกล่าว สามารถสะท้อนในเห็นถึงผลการเลือกตั้งที่คาดการณ์ได้ว่าผลจากที่อาสาสมัครลงพื้นที่ กับผลการเลือกตั้งจริงมีความสอดคล้องกัน อาจจะคาดเคลื่อนไม่เกิน 1% 

สติธร กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งที่เป็นการบ้านให้กับอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ ก็คือ เฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ก่อนเปิดคูหา จนถึงปิดคูหานับคะแนน และรายงานผล ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมี พริษฐ์ ร่วมกับ We watch ช่วยกันออกแบบ โดยขอบข่ายก็ใช้หลักการตามที่ กกต. ใช้ โดยทีมงานก็จะเข้าไปสังสังเกตการณ์ว่า กกต. ได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ มีอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำควบคู่กันไป ก็คือ การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร หากพบเห็น ก็จะมีการส่งข้อมูลเป็นแบบภาพ เข้ามายังส่วนกลาง เพื่อทำเป็นรายงานสรุปในภาพรวม

ในเรื่องของความแตกต่างที่ผ่านมา เรามีองค์กร หรือเครือข่ายต่างๆ ที่เริ่มทำมา เพียงแต่ปัญหาอาจจะเป็นในเรื่องของการเชื่อมประสานกัน รวมถึงเรื่องของการวางระบบ เฝ้าติดตามส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปทางบรรยากาศ และกระบวนการจัดการเลือกตั้งมากกว่า แต่สิ่งที่ขาดหายไป ก็คือการรายงานผลเบื้องต้น สิ่งที่เห็นคือการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทราบผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการจากพรรคการเมือง ที่อาศัยหัวคะแนนจดคะแนนรวบรวมคร่าวๆ ก่อน ผลจริงจะออก ในส่วนตรงนี้ทางทีมงานจะมีการปฏิบัติเพิ่มขึ้นมา อย่างน้อยที่สุด ก็จะสามารถบอกได้ว่า 'เปอร์เซ็นต์' ชนะในหน่วยต่างๆ เป็นใคร และเอาผลของทีมงานกับ กกต. มาเปรียบเทียบทำสรุปเพิ่มเติมได้ด้วย 

และเมื่อถามถึงบทบาทที่นำมาใช้ หากพบการทุจริตจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร สติธร กล่าวว่า ในเบื้องต้นด้วยข้อกฎหมายที่ กกต. เปิดให้ หากพบการทุจริต ก็สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ อาทิ การขานบัตรไม่ตรงกับเลข อาสาสมัครก็มีสิทธิทักท้วงได้ทันที ซึ่งก็จะนำไปสู่การร้องเรียนในภาพกว้างได้