ไม่พบผลการค้นหา
แคมเปญรณรงค์การลดละเลิกบริโภคหูฉลามของ WildAid นำเสนอความโหดร้ายของการล่าฉลามเพื่อตัดครีบ แต่หลายคนยังตั้งคำถาม ฆ่าฉลามโหดร้าย ฆ่าสัตว์อื่นกินไม่โหดร้ายหรือ

ฉลามเป็นสัตว์ที่ถูกจับมาตัดครีบ และถูกทิ้งกลับสู่ทะเลเพื่อรอเวลาตาย ฉลามที่เสียครีบไปจะไม่สามารถว่ายน้ำต่อได้ ทำให้ไม่มีออกซิเจนไหลผ่านเหงือก จึงค่อยๆ ขาดหายใจ และจมลงสู่ก้นทะเล นี่คือ ที่มาของหูฉลามหนึ่งชาม

ความโหดร้ายในการล่ามักเป็นแง่มุมที่ถูกถ่ายทอดออกมาเสมอ เมื่อมีการรณรงค์ให้ลดและเลิกรับประทานหูฉลาม แต่คำถามที่มักจะตามมาเสมอกคือ ถ้าอย่างนั้นการกินหมู กินไก่ หรือแม้กระทั่งปลาชนิดต่างๆ ดูจะโหดร้ายไม่ต่างกัน แล้วเราไม่ต้องกินมังสวิรัติกันไปตลอดชีวิตเลยหรือ

แม้การนำเสนอภาพของความน่าสงสารของสัตว์ร่วมโลกจะเป็นการจุดประเด็นที่ทำให้คนสนใจได้มากกว่า แต่เรื่องความสำคัญของฉลามต่อระบบนิเวศก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง เพราะนี่คือคำตอบว่าทำไมเราถึงกินกระเพาะปลาได้ แต่การกินหูฉลามจึงผิดหนักหนา


เราสงสารสัตว์ทุกชนิดเท่ากันไม่ได้

โดยธรรมชาติของระบบนิเวศจะมีผู้ล่าสูงสุด ผู้ล่าระดับรองลงมา และผู้ผลิต เช่นพืชที่สัตว์กินพืชกิน ฉลามถือว่าเป็นผู้ล่าขั้นสูงสุดในระบบนิเวศทางทะเล มีบทบาทในการควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตหรือว่าผู้ล่าระดับต่ำๆ เมื่อผู้ล่าสูงสุดอย่างฉลามหายไป สัตว์ที่เคยเป็นอาหารของฉลามก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพราะไม่มีใครล่า และส่งผลกระทบต่อการกินในระบบที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล

อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ยกตัวอย่างว่า ในประเทศออสเตรเลียมีสถานที่ชื่ออ่าวฉลาม (Shark Bay) ซึ่งมีจำนวนฉลามอยู่เยอะ โดยฉลามกินพะยูนเป็นอาหาร ขณะที่พะยูนกินหญ้าทะเล ณ ที่แห่งนี้เคยมีโครงการกำจัดฉลามออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้ฉลามมาทำร้ายนักท่องเที่ยว

“เขาเคยมีโปรแกรมที่จะกำจัดฉลามออกไป พอกำจัดฉลามออกไปแล้ว ประชากรพะยูนมันก็แฮปปี้สิ ไม่มีใครมากิน มันก็มีเยอะมากขึ้น พะยูนต้องกินหญ้าทะเล ปริมาณหญ้าทะเลที่มันกินเนี่ย รองรับประชากรพะยูนที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้ สุดท้ายหญ้าทะเลก็ลดความสมบูรณ์ลงไป” ผอ.อุกกฤต กล่าวและเสริมว่าหากสมมติว่าเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ หญ้าทะเลเจริญเติบโตไม่ทัน ก็อาจจะหมดไปจากพื้นที่นั้นได้




vlcsnap-2018-11-26-19h49m56s174.png
  • อุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน

สัตว์ป่ามีบทบาทอันเหมาะควรในธรรมชาติของตัวเอง หากเราสงสารพะยูนที่ถูกฉลามกินจึงกำจัดฉลาม แล้วเข้าไปแทรกแซงสมดุลระบบนิเวศ ก็จะส่งผลกระทบไล่ตามมาเป็นลำดับ ในระยะสั้นพะยูนอาจจะเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อหญ้าทะเลที่เป็นอาหารนั้นโตไม่ทัน พะยูนก็อาจจะขาดอาหารในที่สุด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฉลามถูกกำจัดไป

ในระบบนิเวศอื่นๆ เองก็เช่นกัน หากฉลามหายไป ผู้ล่าชั้นรองลงมาอาจมีจำนวนมากขึ้น และกินปลาชนิดที่เป็นอาหารของมนุษย์ทำให้อาหารของมนุษย์ลดลงได้เช่นกัน ฉลามจึงมีความสำคัญแตกต่างจากสัตว์น้ำชนิดอื่นเนื่องจากเป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศทางทะเล เราจึงล่าฉลามในปริมาณเท่ากับสัตว์ทะเลอื่นไม่ได้

“พอมาดูในประเด็นของฉลาม จำนวนประชากรของเขามันถูกควบคุมอยู่แล้วในชีววิทยาการสืบพันธุ์ของเขา เขาออกลูกปริมาณน้อย ทีหนึ่งไม่กี่ตัว อย่างที่ปลาชนิดอื่นที่มีจำนวนเยอะๆ มันต้องมีกลไกในการสืบพันธุ์ที่ออกลูก ออกไข่ สเปิร์มเยอะเป็นร้อยเป็นล้านฟอง เพื่อจะให้มีโอกาสในการรอดในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นในเมื่อฉลามมีประชากรน้อยเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น แล้วเราไปล่าเขาเพิ่มเนี่ย ความเสี่ยงมันก็เลยเกิดขึ้น”


ความน่าสงสารกับการรณรงค์

แม้ความสำคัญที่แท้จริงของการรณรงค์เรื่องการลดและเลิกกินหูฉลามนั้นคือเรื่องความสำคัญของฉลามต่อระบบนิเวศ แต่หากพูดเรื่องนี้ตรงๆ ก็คงยากที่จะทำให้คนจำนวนมากสนใจได้ในทีเดียว องค์กรไวล์ดเอด ประเทศไทย (WildAid Thailand) จึงนำเสนอแคมเปญ #ฉลองไม่ฉลาม ผ่านคลิปวิดีโอ ‘เบื้องหลังงานแต่ง’ ที่นำเสนอความโหดร้ายในการฆ่าตัดครีบฉลามเพื่อให้ได้หูฉลามสักชามมาเป็นอาหารในงานเลี้ยง

นุชหทัย โชติช่วง ตัวแทนองค์กรไวล์ดเอด ประเทศไทย เล่าว่า ก่อนจะสื่อสารแคมเปญ ทางไวล์ดเอดก็สำรวจผู้บริโภคก่อนเช่นกันว่าแง่มุมใดจะทำให้คนหันมาสนใจประเด็นเรื่องปลาฉลาม และพบว่าการพูดถึงวิธีการฆ่าตัดครีบบนเรือแล้วโดยโยนทิ้งลงทะเลเป็นจุดที่จะทำให้คนไทยโดยทั่วไปหันมาสนใจประเด็นนี้ได้มากยิ่งขึ้น และจากคอมเมนต์ที่ได้รับก็พบว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่ทราบถึงวิธีปฏิบัติต่อฉลามแบบนี้

“เวลาเราปล่อยตัวโฆษณารณรงค์ไป เขาก็มักจะมีคอมเมนต์กลับมาว่า แล้วอย่างปลาชนิดอื่นล่ะ ทำไมไม่ไปรณรงค์ ทำไมไม่สงสารปลาชนิดอื่นบ้าง แต่จุดหนึ่งที่เราพยายามจะสื่อสารออกไปจากโครงการฉลองไม่ฉลามก็คือ ฉลามก็ทำหน้าที่คล้ายกับเสือในป่า ถ้าเกิดว่าเราเห็นข่าว แล้วเราไม่พอใจกับการที่มีคนฆ่าเสือ มีผลิตภัณฑ์ของเสือวางขายตามท้องตลาด คุณไม่โอเค คุณเห็นแล้วไม่อยากซื้อ เราก็อยากจะให้ทุกคนเห็นความสำคัญของฉลามในแบบเดียวกัน เพราะว่าฉลามก็ถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก”




_MG_9810.JPG
  • นุชหทัย โชติช่วง ตัวแทนองค์กรไวล์ดเอด ประเทศไทย

นุชหทัย อธิบายเพิ่มว่า ฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถนำไปทำฟาร์มได้เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เพราะเติบโตช้า ใช้เวลานานกว่าจะมีลูก จึงไม่สามารถเลี้ยงแบบสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ อย่างหมูหรือไก่ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารได้

“ฉลามมันไม่เหมือนปลาอื่นๆ ที่เราบริโภคทั่วๆ ไป แน่นอนค่ะว่าทุกชีวิตมีค่าหมด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใดๆ ก็ตาม โดนฆ่าก็เป็นชีวิตเหมือนกันหมด แต่ถ้าเป็นเรื่องของสัตว์ป่า เราก็อยากจะมองในแง่ของความสำคัญของเขาในระบบนิเวศ”


หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า

ไวล์ดเอดคือองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีสำนักงานที่อเมริกา ซึ่งทำการรณรงค์โดยมุ่งเน้นไปที่การลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ โดยศึกษาข้อมูลสถิติผู้บริโภคและนำข้อมูลไปสื่อสารรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งการแถลงข่าวและการทำแคมเปญร่วมกับบริษัทสื่ออื่นๆ อย่างการทำแคมเปญ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ ร่วมกับเอเจนซีโฆษณา BBDO ก็เพราะสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมักกินหูฉลามกันบ่อยที่สุดในงานแต่งงาน คิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์

  • คลิป 'เบื้องหลังงานแต่ง' วิดีโอในแคมเปญฉลองไม่ฉลาม

“สมมติถ้ารณรงค์ไปที่ผู้บริโภคต้นทางแล้ว ถ้าเกิดผู้บริโภคมีความต้องการลดน้อยลง ไม่ต้องการที่จะซื้อ ไม่ต้องการที่จะกินอีกแล้ว คนที่เขาลักลอบล่าสัตว์ป่าก็อาจจะมีแรงจูงใจน้อยลง ถ้าเกิดว่าคนไม่ซื้อ ราคาในตลาดก็อาจจะลดลงไป อาจจะไม่เป็นแรงจูงใจให้คนที่ล่าต้องล่าสัตว์ป่ามาแล้ว ไวล์ดเอดก็เลยอยากจะเน้นไปที่การรณรงค์ไปที่ผู้บริโภคเพราะเราเชื่อว่าถ้าเราหยุดซื้อ ก็จะหยุดฆ่าค่ะ” นุชหทัย อธิบาย

ไวล์ดเอดในประเทศต่างๆ จะรณรงค์เรื่องต่างๆ กันไป สำหรับหลักเกณฑ์ที่ทำให้รณรงค์สัตว์ชนิดใดนั้นมาจากการสำรวจว่าสัตว์ชนิดใดกำลังได้รับภัยคุกคาม และประเทศใดส่งผลกระทบต่อสัตว์ชนิดนั้น

ผลสำรวจของทางไวล์ดเอดในปี 2560 พบว่าไทยมีความต้องการบริโภคหูฉลามค่อนข้างสูง จากการสำรวจชาวไทย 866 คนในเขตเมืองทั่วประเทศ พบว่า คนไทย 57 เปอร์เซนต์ เคยหรือยังกินหูฉลามอยู่ โดยในจำนวนนี้ 72 เปอร์เซ็นต์ กินหูฉลาม 2-5 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในส่วนของคนที่ไม่เคยกินหูฉลามก็ระบุว่าในอนาคตต้องการกินหูฉลามกันถึง 61 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในกรุงเทพมหานครมีร้านอาหารที่มีเมนูหูฉลามอย่างน้อยถึง 100 ร้าน

ประเทศไทยมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนการล่าฉลาม เนื่องจากในประเทศไทยมีความต้องการจะบริโภคหูฉลามสูง สถิติในช่วงปี 2555 ถึง ปี 2559 จากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร พบว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์หูฉลามถึง 451.57 ตัน


รสชาติที่ไม่คุ้มฆ่า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงๆ เกี่ยวกับหูฉลาม โดยข้อมูลจากไวล์ดเอดเผยว่าคนไทย 85 เปอร์เซ็นต์ไม่ทราบว่าในปีหนึ่งมีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า และครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลามหรือเมนูอื่นๆ แม้ว่าครีบของฉลามหรือที่เรียกว่าหูฉลามนั้นเป็นเพียงกระดูกอ่อนที่ไม่มีสชาติในตัวเอง ความอร่อยที่คุ้นชินชวนลิ้มรสนั้นมาจากซุปน้ำแดงที่ผ่านการปรุงด้วยฝีมือของเชฟเท่านั้น




กว่าจะเป็นหูฉลาม_Info.jpg
  • อินโฟกราฟิกข้อมูลเกี่ยวกับฉลาม และการล่าฉลามของไวล์ดเอด

นอกจากนี้ ผอ.อุกกฤต ยังกล่าอีกว่าการล่าฉลามนั้นเป็นการประมงที่ไม่คุ้มค่า “ในฉลามเอง มันจะมีการสะสมกรดยูริกอยู่ในเนื้อ เวลากรดยูริกสลายตัว กลิ่นมันจะฉุนเหมือนฉี่ นั่นคือเหตุผลหลักว่าทำไมคนไม่นิยมบริโภคฉลาม”

ดังนั้นฉลามจึงมักถูกจับมาตัดครีบก่อนจะโยนทิ้งสู่ทะเล เพื่อรักษาเนื้อที่เรือไว้สำหรับปลาชนิดอื่นที่เป็นเป้าหมาย หรือครีบฉลามซึ่งมีมูลค่ามากกว่าตัวของมัน เพราะสิ่งที่เก็บไว้บนเรือต้องมีมูลค่าสามารถนำไปขายได้ราคา




AP-อาหาร-จีน-หูฉลาม-สัตว์ทะเล-ตากแห้ง
  • ฉลามจำนวนมากถูกฆ่าเพื่อตัดเอาแต่ครีบเท่านั้น

“ฉลามที่ถูกตัดครีบนั้นตายแน่นอน เพราะเสียครีบที่ช่วยในการทรงตัวและการเคลื่อนที่ จึงว่ายน้ำไม่ได้ ฉลามหลายๆ ชนิดส่วนใหญ่เขาจะต้องว่ายน้ำอย่างต่อเนื่องเพราะว่าการที่ออกซิเจนจะเข้าไปต้องใช้การว่ายน้ำเพื่อให้น้ำผ่านปากแล้วผ่านออกที่เหงือก ถ้าฉลามหยุดว่ายน้ำจะขาดอากาศหายใจ เพราะฉะนั้นถ้าฉลามไม่มีครีบก็คือว่าคุณทำให้เขาขาดอากาศไปในตัว ก็จะดิ่งลงไปอยู่ก้นพื้นทะเล แล้วก็ตาย”

ผอ.อุกกฤต เสริมว่าการล่าฉลามลักษณะนี้เป็นความโหดร้าย ในขณะที่คนมักจะกลัวฉลามจึงไม่ใส่ใจกับการจัดการฉลามซึ่งดูเหมือนจะเป็นภัยของมนุษย์ แต่จากข้อมูลที่ทราบบนโลกนี้คนที่ถูกฟ้าผ่าตายเยอะกว่าคนที่ถูกฉลามกัดแล้วเสียชีวิต

“โอกาสมันไม่ได้เยอะ แต่พอมันเกิดแต่ละครั้งเนี่ย มันจะถูกทำให้เป็นข่าว ทำให้เกิดความน่ากลัวมากขึ้น”


การรณรงค์ที่ต้องวัดผลในระยะยาว

การรณรงค์ของไวล์ดเอดจะทำแคมเปญรณรงค์แคมเปญหนึ่งประมาณ 3 ปี แล้วจึงมีการวัดผลว่าผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลที่สื่อสารไปไหม แล้วทำให้เกิดการหยุดบริโภคหรือเปล่า หรือว่าส่งผลอย่างไร

“แน่นอนว่าการรณรงค์คงจะไม่สามารถทำได้ในปีหนึ่งหรือสองปีแล้วจบ ก็คงจะเป็นการรณรงค์ไปเรื่อยๆ ในปีหน้าเราอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเมสเสจ ข้อความรณรงค์ หรือปรับเปลี่ยนสื่อที่จะใช้ ก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าผู้บริโภคเองมีการปรับเปลี่ยนการใช้สื่อยังไง เราก็คงจะปรับเปลี่ยนข้อความรณรงค์หรือสื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปีหน้า”

การณรงค์นั้นอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น ความสำเร็จของไวล์ดเอดประเทศจีนในการรณรงค์เรื่องฉลามนั้นมาจากการทำแคมเปญสื่อสารเรื่องหูฉลามในช่วงกีฬาโอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่ง โดยชาวจีน 55 เปอร์เซ็นต์ จำการณรงค์เรื่องฉลามของไวล์ดเอดได้ และ 82 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนั้นบอกว่าได้เลิกหรือลดการบริโภคหูฉลามลง และในปี 2014 ผู้ค้าและสื่อรายงานว่าการบริโภคหูฉลามในจีนลดลงราว 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์




หูฉลามคนละชาม_Info.jpg
  • อินโฟกราฟิกผลสำรวจการบริโภคหูฉลามของไวล์ดเอด
ชมคลิป