ไม่พบผลการค้นหา
ไลฟ์สไตล์แบบรับรู้ตลอดเวลา (Always-on lifestyle) เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับระบบแจ้งเตือนบนโลกออนไลน์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่ากับน้ำตาล เกลือ หรือไขมันในอาหารขยะ โดยมีคำศัพท์เรียกว่า ‘Infobesity’

‘Infobesity’ เป็นชื่อเล่นของ ‘Information overload’ หรือ ‘ภาวะข้อมูลท่วมท้น’ ซึ่งเกิดจากการแข่งขันกันนำเสนอข้อมูลบนโลกดิจิทัลที่ทะลักล้นเกินกว่าสมองของคน ๆ หนึ่งจะรับไหว ส่งผลให้บางคนทำความเข้าใจประเด็นได้ยาก ไม่กล้าตัดสินใจ และร้ายแรงสุด ๆ คือเป็นอาการอัมพาตด้านการวิเคราะห์ (Analysis Paralysis) นั่นหมายความว่า ในแต่ละวัน ทุกคนเหมือนกำลังแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสารแบบไม่เป็นอันกินอันนอน ทำให้สมองปนเปื้อนไปด้วยมลพิษของข่าวปลอม การผลิตซ้ำที่ไร้คุณภาพ และบทสนทนาบนโซเชียลมีเดียที่ชวนฉงน จนคุณภาพชีวิตดิจิทัลลดลงไปในทุกมิติ

ดังนั้น เพื่อตอบโต้กับสถานการณ์ดังกล่าว หลายแบรนด์ต่างพยายามสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคถอยออกมาฟื้นฟูสมองผ่านอาหาร สถานที่ และเทคโนโลยี ที่จะกระตุ้นให้แต่ละคนมีสติในการบริโภคมากยิ่งขึ้น

อาหารสมอง ธุรกิจเด่นในอนาคต

4-01.jpg

ภาวะข้อมูลล้นที่ทำคนป่วยไข้ในช่วงหลายปีผ่านมา ทำให้หลายแบรนด์ริเริ่มความคิดใหม่ในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารจานด่วน ‘ฮันนีย์เบรนส์ (Honeybrains)’ ในนิวยอร์ก ที่ก่อตั้งโดย ‘ดอกเตอร์เอลอน เซียแฟน (Dr. Alon Seifan)’ นักประสาทวิทยา ผู้หันมาเลี้ยงสมองของผู้บริโภคให้ชาญฉลาดด้วยบาร์น้ำผึ้งสด โดยเสิร์ฟพร้อมกับการบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพสมอง ซึ่งเป็นการนำเสนอประสบการณ์ด้านอาหารใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ และหล่อเลี้ยงจิตใจไปในเวลาเดียวกัน

5-01.jpg

อีกหนึ่งความพยายามแก้ปัญหาการระบายข้อมูลในสมองเห็นได้จาก ‘อาเรป้า (Ārepa)’ น้ำผลไม้ที่ออกแบบมาให้สมองโปร่งแจ่มใส ลดความเมื่อยล้าทางจิต และช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นานยิ่งขึ้น โดยแบรนด์ดังกล่าวมาพร้อมกับสโลแกนเก๋ว่า “ดื่มอาเรปาเมื่อคุณต้องการตัดขาดจากความความวอกแวกทั้งปวง และหันมาโฟกัสกับงานตรงหน้า” ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างของอาหารสมองที่จะมาช่วยแก้ปัญหาภาวะข้อมูลท่วมท้น และเป็นตลาดบนที่จะมาพลิกโฉมหน้าของการดำเนินธุรกิจในอนาคต

การบำบัดบนโลกดิจิทัล

เมื่อโลกดิจิทัลไม่หยุดนิ่ง ความว้าวุ่นใจของมนุษย์ก็หยุดไม่อยู่เช่นกัน ดังนั้น นอกจากต้องระมัดระวังการบริโภคข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์แล้ว การดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัลก็ดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึงกันมาก แต่ความจริงมันไม่สำคัญว่า คุณใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มาก-น้อย���นาดไหน เพราะท้ายสุดประวัติการเข้าชมเว็บไซต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต และทิ้งร่องรอยที่เผยให้เห็นการกระทำผ่านสมอง คล้ายกับการเก็บสถิติของทามาก็อตจิไปวิเคราะห์ไม่มีผิด ซึ่งแสดงให้เห็นคุณภาพชีวิตดิจิทัลของแต่ละคน

ดังนั้น เมื่อโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป และไร้ระเบียบ จะส่งผลให้สมองของคุณสกปรก แต่ขณะที่ทุกคนกำลังมองหาหนทางการต่อต้านภาวะข้อมูลมากล้น คุณอาจจะเห็นแนวทางแสนเรียบง่ายในการมีสุขภาพดีบนโลกออนไลน์

9-01.jpg7-01.jpg

อย่างเกมออนไลน์ที่เป็นสายพันธุ์หนึ่งของการต่อต้านภาวะข้อมูลท่วมท้นคือ ‘ไอซ์แลนด์ (Islands)’ ออกแบบโดย ‘คาร์ล เบอร์ตัน (Carl Burton)’ ศิลปินแอนิเมเตอร์จากนิวยอร์ก ที่พาผู้เล่นเดินทางไปสัมผัสคุณงามความดีของการฝึกสมาธิ ท่ามกลางบรรยากาศอันลึกลับ และทำให้การล่องลอยไร้จุดหมายกลายเป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกันกับการสร้างสรรค์ ‘Walden’ วีดิโอเกมที่รับแรงบันดาลใจมาจากปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ‘เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau)’ โดยท้าทายวัฒนธรรมเร่งรีบ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหยุดพัก เพื่อกลับไปใช้ความคิดในชีวิตจริง คือเมื่อไรก็ตามที่คุณเล่นเกมนานเกินไป สีของเกมจะถูกปรับให้ซีดจาง และเพลงประกอบก็จะแผ่วเบาลง เพื่อกระตุ้นให้คุณไปพักผ่อน ซึ่งถือเป็นการปรับโฉมบทเรียนชีวิตใหม่ และเตือนให้ใช้เวลาอยู่กับหน้าจออย่างมีสติ

พื้นที่พักสมอง

1-01.jpg2-01.jpg

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงมองหาสถานที่ที่มีความเงียบสงบสูง เพื่อตัดขาดจากข้อมูลข่าวสาร และเสียงรบกวน สถาปนิกจากบริษัท Arcgency จึงเปลี่ยนเครนสูงในอุตสาหกรรมถ่านหินให้กลายเป็นโอเอซิสลอยฟ้าสำหรับคนเมืองที่ต้องการดำดิ่งสู่สุนทรียศาสตร์แห่งความเงียบขรึม โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า The Krane ตั้งอยู่บนท่าเรือ Nordhavn ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมาพร้อมห้องพักขนาด 50 ตารางเมตร บนจุดสูงสุดของเครน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินสีดำสนิท เป็นเหมือนพื้นที่ซ่อนตัวของคนสองคน ซึ่งสถาปนิก Mads Møller ได้บอกเหตุผลในการเลือกใช้สีนี้ว่า "สีดำมีบทบาทสำคัญในการปิดกั้น และลดเสียงรบกวน เพื่อให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนถูกห่อหุ้มอยู่ภายใน"

ด้านโรงแรมโครินเธีย ในกรุงลอนดอนคงไม่ต่างกัน เพราะล่าสุดมีการออกแบบแพ็กเกจเพิ่มพลังสมองด้วยความร่วมมือกับ ‘ดอกเตอร์ทารา สวาร์ต (Dr. Tara Swart)’ นักประสาทวิทยาชื่อดัง ซึ่งเธออธิบายแพ็กเกจดังกล่าวไว้ว่า "กระบวนการทำความสะอาดสมองเรียกว่า ‘กลิมพาติก’ (Glymphatic System) เป็นระบบกำจัดของเสียที่สะสมอยู่ในสมอง คล้ายกับระบบน้ำเหลืองของร่างกายที่จะบังคับให้ล้างออกสารพิษ"

ความเงียบเป็นยาแก้พิษ

แน่นอนว่า บนโลกที่ข้อมูลหนาแน่น ความเงียบจะกลายเป็นยาแก้พิษรูปแบบใหม่ และในฐานะนักเขียน ‘เฟราธ ลิวนี (Ephrat Livni)’ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ กลางป่าเรดวู้ดของรัฐแคลิฟอร์เนีย เธออธิบายเรื่องดังกล่าวว่า "ถ้าข้อมูลมากเกินพิกัดมันจะผลักให้คุณออกไปทานอาหารเงียบ ๆ"

ปัจจุบันเฉลี่ยแล้วคนอเมริกันบริโภคข้อมูล 34 กิกะไบต์ต่อวัน ขณะที่บางคนกำลังต้องการขัดเกลาจิตใจ และใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งหากทุกคนลองอยู่เงียบ ๆ หยุดพูด มันอาจจะเป็นแนวทางปรับปรุงการสื่อสารไปพร้อม ๆ กับการรีเซ็ตสมอง เพื่อให้มีสมาธิกับการอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง

“ทฤษฎีภาระการทํางานของสมองบอกว่า สมองมีแบนด์วิดท์อยู่มาก ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลดีที่สุด คุณต้องรู้จักการจำกัดข้อมูลด้วย” ลิวนีกล่าวเสริม

ข้อมูลที่ควรทราบคือ สนามบินเริ่มต้นใช้ความเงียบปรับปรุงอารมณ์ของผู้โดยสาร โดยลดการประกาศผ่านลำโพงแบบจริงจัง เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าระดับลักซ์ชัวรี ‘เซลฟริดจ์ส’ ใจกลางกรุงลอนดอน ยังคงเปิดให้บริการช้อปปิ้งแบบไร้เสียงรบกวนในปี 2013 เพื่อเพิ่มประสบการณ์การค้ารูปแบบใหม่ และ ‘พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์’ ก็เพิ่มพื้นที่อันเงียบสงบที่เหมาะกับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

8-01.jpg

ด้าน ‘ทริสแทน แฮร์ริส (Tristan Harris)’ อดีตนักปรัชญาด้านผลิตภัณฑ์ของกูเกิล ซึ่งสร้างอัตชีวประวัติใหม่ให้กับตนเองในฐานะนักรณรงค์ต่อต้านการทำให้ไขว้เขว และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Time Well Spent’ องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทุ่มเทให้กับการสร้างอนาคตที่มีมนุษยธรรม โดยทีมงานของเขาต้องการให้การใช้เทคโนโลยีสอดคล้องกับค่านิยมทางสังคม หลักประชาธิปไตย และช่วยปลดปล่อยมนุษย์ออกจากอุปกรณ์สื่อสาร

แฮร์ริสกล่าวว่า เทคโนโลยีส่วนใหญ่ออกแบบมาทำให้ทุกคนเสพติด แต่โครงการของเขาเปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวของอาหารออร์แกนิก แค่เปลี่ยนเป็นซอฟต์แวร์ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นให้ทุกคนมีสุขภาพดีท่ามกลางภาวะข้อมูลท่วมท้น เพราะปัจจุบันอาหารขยะเทคโนโลยีมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก และยากที่จะควบคุม ทำให้ทุกคนเสียเวลาไปกับอีเมล โทรศัพท์ ระบบการแจ้งเตือนที่มากเกินไป จนทำให้สมาธิ จิตใจ ถูกแย่งชิง และแฮร์ริสต้องการช่วยเหลือปัญหานั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงแค่การชะลอฝีเท้า และชี้แนะแนวทางการหลบหนีจากภาวะข้อมูลท่วมท้น ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญในการลอยตัวท่ามกลางสัญญาณรบกวนของโลกดิจิทัลเท่านั้น ส่วนประเด็นสำคัญ ‘ด็อกเตอร์บีเจ ฟอกก์ (Dr. BJ Fogg)’ ผู้ก่อตั้งห้องทดลองเทคนิคการโน้มน้าวใจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่า

"ทุกคนจะต้องตระหนักว่า หากคุณต้องการมีสุขภาพชีวิตที่สดใส มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ และคุณควรหลีกเลี่ยง หรือใช้กฎเกณฑ์เพื่อจำกัดปริมาณ เหมือนตอนทำกับอาหาร" 

ภาพ และข้อมูลจาก : Adweek Honeybrains Drinkarepa Walden The Krane Corinthia Hotel Time Well Spent