ไม่พบผลการค้นหา
แม้ผู้ว่าฯ ฮ่องกงจะประกาศยืนยันว่า กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ‘ตายแล้ว’ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ความเสียหายจากความพยายามเสนอกฎหมายนี้ยังมีผลต่อสังคมฮ่องกง และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงย่ำแย่ลงด้วย

สัปดาห์ก่อน แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงประกาศว่า กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ 'ตายแล้ว' หลังชาวฮ่องกงหลายล้านคนออกมาประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้หลายครั้ง นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมา แต่ชาวฮ่องกงก็ยังไม่ไว้ใจรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการเสนอกฎหมายนี้ถาวร 

แอนโทนี ดาพิรัน ทนายความในฮ่องกงและผู้เขียนหนังสือ City of Protest กล่าวว่า แม้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะ “ตายแล้ว” แต่ก็ยังไม่ได้ถอนไปอย่างถาวร การประท้วงก็จะดำเนินต่อไปอีกหลายครั้ง “ดูเหมือนว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการรักษาหน้าของแคร์รี หล่ำ และหลีกเลี่ยงการถูกมองว่ายอมอ่อนให้กับข้อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง นั่นเป็นเหตุผลที่เธอไม่ใช้คำว่า ‘ถอน’ ”

การประท้วงที่ยืดเยื้อและการปะทะกันบ่อยครั้งระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจก็อาจกระทบกับภาพลักษณ์เมืองธุรกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากเดิมที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และสหรัฐฯ อยู่แล้ว ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวก็บ่งบอกสัญญาณว่า หลายคนเริ่มไม่เชื่อมั่นในศูนย์กลางทางการเงินที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชียแล้ว

ความเป็นอิสระจากจีนเป็นจุดเด่นของฮ่องกง

ชาวฮ่องกงจำนวนมากกังวลว่า กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะทำให้จีนเข้าไปแทรกแซงระบบยุติธรรมของฮ่องกงได้ และจีนจะสิทธิเสรีภาพตามหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ของชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นิตยสารไทม์ระบุว่า ฮ่องกงมีความเป็นอิสระในการบริหารค่อนข้างสูง ระบบยุติธรรมที่อิสระ และหลักนิติธรรมที่มั่นคงเป็นปัจจัยผลักดันให้ฮ่องกงมีระบบยุติธรรมที่เอื้อต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นศูนย์กลางการเงินที่มีการแข่งขันสูงที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวยอร์กและลอนดอน ตลาดหุ้นฮ่องกงยังแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง

โจเซฟ เจง นักวิเคราะห์การเมืองและแกนนำ “พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง” กล่าวว่าความสำเร็จของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนอยู่ที่ระบบกฎหมายที่เป็นอิสระและการเปิดกว้างด้านข้อมูล เจงกล่าวว่า “สองสิ่งนี้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่ทำให้ฮ่องกงโดดเด่นจากเมืองชายฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเซินเจิ้น” และเขาเชื่อว่า ฮ่องกงจะยิ่งไม่มีเสถียรภาพ หากฮ่องกงไม่หันเข้าหาประชาธิปไตยให้มากกว่านี้

ด้านวิล เดนเยอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากแกฟแคลในฮ่องกงแสดงความเห็นว่า กฎหมายนี้จะทำให้ฮ่องกงสูญเสียความน่าดึงดูดไป ไม่ว่าจะกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่พยายามเอาทรัพย์สินไปไว้นอกประเทศ ชาวต่างชาติและบริษัทต่างชาติที่มาทำธุรกิจในฮ่องกง รวมถึงชาวฮ่องกงและธุรกิจท้องถิ่นเอง กฎหมายนี้จะทำลายทุกอย่างตั้งแต่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไปจนถึงการแบ่งปันเทคโนโลยี

ประท้วงฮ่องกง เกาลูน Kowloon Hong Kong protest 070719

ธุรกิจได้รับผลกระทบจาก ก.ม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

นิตยสารไทม์รายงานว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทมากกว่า 100 บริษัทในฮ่องกงร่วมกันหยุดงานประท้วง ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านค้าปลีกต่างๆ โดยคอนราด วู หนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่วมหยุดงานประท้วงกล่าวว่าการสูญเสียเงินในเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดหนึ่งหากกฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้ ธุรกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อัลลัน ซีมาน นักธุรกิจชาวฮ่องกงและผู้ปลุกย่านหล่านไกวฟงเป็นย่านสถานที่เที่ยวกลางคืนในฮ่องกงกล่าวว่า นับตั้งแต่มีการกระท้วงต้าน ก.ม.นี้ ตัวเลขการท่องเที่ยวฮ่องกงลดลงร้อยละ 5 - 10 แล้ว “การค้าปลีกลดลง ร้านค้าปลีกหลายร้านบริเวณที่มีการชุมนุมต้องปิดร้าน ธุรกิจไม่มีเสถียรภาพ“

อย่างไรก็ตาม ซีมานกล่าวว่า ผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดรอบนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเทียบกับการประท้วงออคคิวพาย เซนทรัลเมื่อปี 2014 ว่า การประท้วงครั้งนั้นมีการปิดถนนประท้วงกันนาน 79 วัน แต่ฮ่องกงก็กลับสู่ภาวะปกติได้ “สิ่งที่เป็นตอนนี้เกี่ยวกับปัญหาสังคม การเคหะและวิธีการแก้ไขให้ราคาที่อยู่อาศัยต่ำลงกว่านี้ ถ้าชีวิตคุณดี คุณก็จะรักรัฐบาลและจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าค่าเช่าแพง คุณก็ออกไปประท้วงบนถนน”

อพยพเงิน อพยพคน

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า แม้ชนชั้นนำในฮ่องกงส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น แต่สถานการณ์การเมืองในฮ่องกงปัจจุบันก็ทำให้คนรวยหลายคนต้องมองหาทางเลือกใหม่ๆ โดยเดวิด เลสเพอแรนซ์ ทนายด้านกฎหมายคนเข้าเมืองกล่าวว่า “ผมเห็นกรณีที่คนรวยในฮ่องกงพยายามขอสิทธิในการอยู่อาศัยหรือขอสัญชาติในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกันเพิ่มมากขึ้น” 

เลสเพอแรนซ์ยังเปิดเผยว่า คนรวยในฮ่องกงวางแผนจะย้ายออกจากฮ่องกงกันมาสักพักแล้ว แต่กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน การประท้วงรอบล่าสุด และการบุกเข้าไปในรัฐสภาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้พวกเขาตัดสินใจขอสัญชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นหรือการแปลงสัญชาติ

ลูกค้าของธนาคารเอกชนหลายคนยื่นคำร้องให้ย้ายบัญชีไปยังสิงคโปร์ และหลายคนก็ตัดสินใจโยกเงินตัวเองไปไว้ที่สิงค์โปร์กันแล้ว ส่วนคนที่ทำธุรกิจก็ประเมินกันว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจในฮ่องกงสูงขึ้นอย่างมากแล้ว มีรายงานว่า หลายบริษัทพยายามหาทางย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

เมื่อสิ้นสุดนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ในปี 2047

ซีมานคาดว่าจีนก็ตระหนักดีว่าเศรษฐกิจฮ่องกงขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระต่อจีนและไม่น่าเต็มใจเสี่ยงให้เศรษฐกิจฮ่องกงเสียหาย แต่นักธุรกิจในฮ่องกงหลายคนก็มองว่า ความสำคัญและอนาคตของเศรษฐกิจฮ่องกงยังคงต้องต้องพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะที่ฮ่องกงเป็นเหมือนประตูไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลฮ่องกงจึงต้องพยายามหาความสมดุลให้ได้ ในขณะที่ประชาชนก็กังวลเรื่องเสรีภาพกันมากขึ้น

ในปี 2047 รัฐธรรมนูญที่ฮ่องกงใช้จะหมดวาระ โดยกฎหมายเหล่านั้นได้รับรองความเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ และเสรีภาพที่ชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี เช่น ระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระจากปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีใครรู้อย่างชัดเจนว่าสถานะของฮ่องกงจะเป็นเช่นไร นาโอมิ โฮ นักเคลื่อนไหววัย 25 ปีกล่าวว่า เธอจะต้องแก่ในฮ่องกง เลี้ยงลูก อิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ปี 2047 ก็อยู่ไม่ไกลนัก หากพวกเธอไม่ทำอะไร ฮ่องกงก็จะเป็นเพียงอีกเมืองหนึ่งของจีน

ที่มา : BBC, Japan Times, TIME

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: