ไม่พบผลการค้นหา
บาทอ่อนแตะ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกได้บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องอุปสงค์คำสั่งซื้อ ขณะที่ราคาทองก็ไม่ได้ปรับตัวสูงมากนัก สะท้อนความต้องการกระแสเงินสดท่ามกลางวิกฤตยังมีอยู่

สถานการณ์เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังขึ้นไปแข็งค่าแตะปลาย 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดบาทอ่อนลงมาถึง 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อไปดูกราฟค่าเงินบาท จะพบว่าเงินอ่อนค่ามาตลอด โดยเริ่มต้นปีที่ช่วง 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะอ่อนลงมาที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน ก.พ. และขึ้นมาแตะหลัก 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา 

กราฟเงินบาท

ขณะที่ ตัวเลขดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย รวมถึง รวมดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีสัดส่วนลดลงเช่นเดียวกัน โดยดัชนีค่าเงินบาทในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 121.71 จากเดิมที่ 123.02 ในเดือน ก.พ.และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงของเดือน ก.พ. อยู่ที่ 111.11 จากเดิมที่อยู่ที่ 113.02 ในเดือน ม.ค.

กราฟดัชนีค่าเงินบาท
  • ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยส่วนหนึ่งของดัชนีค่าเงินบาทสามารถสะท้อนความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศได้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งก็จะทำให้ประะเทศไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขัน แต่หากเงินบาทอ่อนค่าก็จะช่วยในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมการส่งออก และการท่องเที่ยวที่พึ่งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงและเป็นผลดี แต่ก็คงไม่ส่งผลดีมากในเรื่องอุปสงค์เนื่องจากตลาดโลกหรือประเทศคู่ค้าต้องแบกรับกับวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกัน แต่อาจจะไปช่วยในเรื่องรายได้ในรูปเงินบาทที่จะมากขึ้นของสินค้าส่งออกบางประเภท อาทิ สินค้าเกษตร 

ทั้งนี้เมื่อเปลี่ยนฝั่งไปมองราคาทองคำแท่งที่ถูกจัดว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและมักมีราคาสูงขึ้นในช่วงวิกฤตต่างๆ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ ทองคำราคา พบว่า ในเดือน ม.ค.ทั้งเดือนราคาทองคำในประเทศปรับขึ้น 1,700 บาท จากที่ขายบาทละ 21,950 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.เป็น 23,750 บาท ในวันที่ 31 ม.ค. ขณะที่ตัวเลขรวมในเดือน ก.พ.ราคาทองบวกขึ้น 700 บาท แต่ผลรวมของเดือนมี.ค.ที่ผ่านมากลับเป็นการติดลบ 100 บาท 

เมื่อรวมผลราคาทองคำ 3 เดือนแรก รวมกับเดือน เม.ย. อีก 2 วัน ตามข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. จะพบว่าราคาทองคำเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 3,300 บาท 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้แม้แต่ราคาทองคำก็ยังขยับขึ้นไม่มาก เป็นเพราะความต้องการของประชาชนและนักลงทุนตอนนี้คือการมีสภาพคล่อง และ ถ้าหากแม้แต่ทองคำแท่งยังมีแนวโน้มไม่ดีแปลว่าประชาชนต้องการที่จะถือแต่เงินสดเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;